จิตเวชโคราชออกแบบเมนูอาหารเฉพาะ 3 โรคทางจิตเวช ให้ผลคูณ 2
จิตเวชโคราชสร้าง"ปัญญาประดิษฐ์โภชนาการ"ออกแบบเมนูอาหารเฉพาะ 3โรคทางจิตเวช! ซึมเศร้า จิตเภท ติดสุรา เตรียมขยายผลใช้ในชุมชนใน 1-2 เดือนนี้ และจะใช้เต็มพื้นที่ 4 จังหวัดเขตอีสานล่างปีหน้านี้
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่านอกจากรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ซึ่งเป็นศูนย์เชี่ยวชาญรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยทางจิตเวชที่มีอาการรุนแรง ซับซ้อนประจำเขตสุขภาพนครชัยบุรินทร์ ประกอบด้วย 4 จังหวัดอีสานตอนล่างได้แก่นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ปีละประมาณ 20,000 คนให้หายหรือทุเลาแล้ว ยังเน้นการป้องกันโรคแทรกซ้อนทางกายที่อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยจิตเวช เช่น อ้วนลงพุง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งขณะนี้มีแนวโน้มพบมากขึ้น เช่นผู้ป่วยโรคจิตเภทที่นอนรักษาตัวในรพ.พบว่ามีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานร้อยละ 30 มีผู้ป่วยที่เป็นทั้งโรคซึมเศร้าและโรคเบาหวานด้วยวันละ 44 คน สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดมาจากผลข้างเคียงของยาที่ใช้รักษาซึ่งผู้ป่วยทางจิตส่วนใหญ่ต้องกินยาควบคุมอาการต่อเนื่อง ฤทธิ์ของยาอาจไปเพิ่มหรือลดความอยากอาหารของผู้ป่วยได้ จึงมีนโยบายให้ทีมผู้เชี่ยวชาญทั้งการพยาบาล เภสัชกร และนักโภชนาการ ร่วมกันออกแบบอาหารเฉพาะโรคที่ให้ผลดีทั้งต่อการรักษาและช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อนทางกายด้วย เบื้องต้นนี้เน้น 3 โรคที่พบบ่อยที่สุดในพื้นที่ได้แก่จิตเภท(schizophrenia)โรคซึมเศร้า(depressive)และโรคจิตที่เกิดมาจากติดสุรา (psychosis due to alcohol) เพื่อให้ญาติและผู้ป่วยสามารถนำกลับนำไปใช้ดูแลที่บ้านได้ด้วย
ทางด้านนางจิรัฐิติกาล ดวงสา นักโภชนาการและหัวหน้ากลุ่มงานโภชนาการประจำรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ กล่าวว่า การออกแบบอาหารเฉพาะโรคครั้งนี้นับเป็นแห่งแรกในประเทศ โดยได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่กำลังนิยมใช้กันทั่วโลก คือปัญญาประดิษฐ์หรือที่เรียกว่าเอไอ(Artificial Intelligence:AI) พัฒนาเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทำหน้าที่เป็นสมองกล มีส่วนประกอบหลัก 3 ส่วนได้แก่ 1.ส่วนปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้ (user interface)2.ส่วนอนุมานความรู้ (knowledge inference)หรือส่วนของสมองกลและ 3.ส่วนของฐานความรู้(knowledge base) ซึ่งจะมีข้อมูลวิชาการความรู้ต่างๆทางการแพทย์ ด้านฤทธิ์ของตัวยาที่ใช้รักษา ธาตุเจ้าเรือนทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ หมู่เลือดซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะแต่ละคน หลักโภชนาการ ภูมิลำเนาผู้ป่วย อาหารในภาคอีสาน กิจกรรมที่ช่วยเผาผลาญพลังงาน ปริมาณพลังงานแคลอรี่ที่เหมาะสม โปรแกรมจะทำงานเชื่อมโยงกัน เมื่อผู้ใช้กรอกข้อมูลของผู้ป่วย คือชื่อ สกุล ภูมิลำเนา วันเดือนปีเกิด เพศ หมู่เลือด โรคและยาที่ใช้เข้าสู่ระบบ ข้อมูลจะถูกส่งไปยังส่วนอนุมานความรู้และฐานความรู้ ทำการวิเคราะห์ประมวลข้อมูลผู้ป่วยและแปลผลออกมาเป็นคำแนะนำอาหารเฉพาะบุคคลที่สามารถหาวัตถุดิบในท้องถิ่นได้ง่าย เพื่อให้เข้ากับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ผู้ป่วยมากที่สุด มีรูปภาพปรากฏทางหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือจอมือถือ
นางจิรัฐิติกาล กล่าวว่า ข้อมูลที่ประมวลผลออกมา จะมี 6 ส่วนสำคัญได้แก่ 1.บอกธาตุเจ้าเรือน บอกน้ำหนักตัวในปัจจุบันว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ 2.บอกปริมาณแคลอรี่หรือพลังงานจากอาหารที่ควรได้รับรายวัน พร้อมปริมาณอาหารแต่ละหมู่ เช่นข้าวสวย ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ที่ควรทาน 3. แสดงตัวอย่างรายการอาหารที่แนะนำให้ทานและอาหารต้องห้าม 4. รายการชนิดผัก ผลไม้ที่หาได้ในท้องถิ่นที่แนะนำให้ทาน 5. เครื่องดื่มที่ควรดื่มและห้ามดื่ม และ 6.กิจกรรมการออกกำลังกายให้ผู้ป่วยเลือกประมาณ 41 รายการ ซึ่งสามารถพิมพ์ออกมาได้ จากการทดลองใช้กับผู้ป่วย 80 คนที่อยู่ในเขตสุขภาพนครชัยบุรินทร์ในปี 2560 ปรากฏว่าอยู่ในระดับดีมาก ใช้ง่าย ใช้เวลารายละไม่ถึง 2 นาที ขณะนี้ได้นำมาใช้ในหอผู้ป่วยในทั้งหมดในโรงพยาบาล และที่ฝ่ายโภชนาการ ผลการใช้ในรอบ 1 ปี พบว่า สภาวะร่างกายของผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี ผู้ที่เคยมีน้ำหนักตัวเกิน ก็ดูแลควบคุมอาหารได้ดีขึ้น โดยพยาบาลจะใช้แนะนำผู้ป่วยและญาติและมอบให้นำไปใช้ที่บ้านทุกคน เพื่อเป็นแนวทางในการประกอบอาหารและดูแลสุขภาพ
นางจิรัฐิติกาลกล่าวไปว่า ฝ่ายโภชนาการได้เตรียมขยายใช้ปัญญาประดิษฐ์โภชนาการนี้ออกสู่ชุมชนในเขตเมืองนครราชสีมาใน 1-2 เดือนนี้ โดยจะให้ศูนย์สุขภาพชุมชนและรพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลนำไปใช้ขณะออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วยจิตเวช และเตรียมขยายผลใช้ในระบบออนไลน์เต็มพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 ในปีหน้าซึ่งมีผู้ป่วย 3 กลุ่มนี้อยู่ในระบบการรักษาต่อเนื่องประมาณ 170,000 คน สำหรับในอนาคตนี้ จะพัฒนาให้เป็นแอพพลิเคชั่นเพื่อให้ประชาชนที่ป่วย 3 โรคนี้สามารถใช้ได้ด้วย เสมือนได้ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการตัวจริง ใช้ได้ทั้งคอมพิวเตอร์และมือถือทุกระบบ มั่นใจว่าจะเป็นเครื่องมือชิ้นใหม่ทางการแพทย์ ทำหน้าที่เป็นนักโภชนาการเชี่ยวชาญประจำบ้านผู้ป่วยจิตเวช เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันโรคแทรกซ้อนทางกายจากอาหารการกิน ทำให้ผู้ป่วยจิตเวชมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น สามารถนำโปรแกรมนี้ไปประยุกต์ใช้ที่รพ.จิตเวชอื่นๆได้เช่นกัน ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามที่กลุ่มงานโภชนาการ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯหมายเลข 044-233999ต่อ 65937ในวันและเวลาราชการ
นอกจากนี้ฝ่ายโภชนาการยังได้ร่วมมือกับกลุ่มงานสุขศึกษารพ.มหาราชนครราชสีมา ดำเนินการต่อยอดพัฒนาโปรแกรมนี้ควบคุมดูแลอาหารการกินของผู้ป่วยโรคทางกายอีก 2 โรคคือ เบาหวาน และความดันโลหิตสูง ซึ่งพบมากในเขตสุขภาพที่ 9 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการออกแบบ คาดว่าจะใช้การได้ในปีหน้านี้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-จิตเวชโคราช ให้เภสัชกรประจำรพ.ชุมชน ใน 4 จังหวัดอีสานล่าง
-ห่วงผู้ป่วยจิตเวชอาการกำเริบช่วงสงกรานต์ เหตุดวดเหล้า–อดนอน
-แนะ 4 วิธีดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภท
-จิตแพทย์ ชวนร้องเพลงขณะอาบน้ำ ชี้ช่วยลดเครียด ต้านเศร้า เหงา ลดหลงลืม