กรมอุทยานฯแจง"ซาฟารี" ห้วยขาแข้งเพื่อพัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เขตกันชน
ย้ำ ไม่ได้สนับสนุนให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะสัตว์ป่า
นายสมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชฯชี้แจงเมื่อบ่ายนี้ หลังจากเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อกรณีที่มีข่าวว่ากรมอุทยานฯเตรียมทำการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์สัตว์ป่าในรูปแบบซาฟารีลักษณะคล้ายในทวีปแอฟริกาในพื้นที่ป่าสงวนซึ่งเป็นพื้นที่ป่ารอยต่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
โดยนายสมโภชน์อธิบายว่า โครงการที่กำลังได้รับกระแสวิพากษ์วิจารณ์อยู่ขณะนี้คือ“โครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก(Strengthening Capacity and Incentives for Wildlife Conservation in the Western Forest Complex)” ซึ่งมีการดำเนินการพัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยวสัตว์ป่าเพื่อการอนุรักษ์บริเวณ"เขตกันชน" ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งรวมอยู่ด้วย
โดยยังอยู่ในขั้นศึกษาด้านต่างๆโดยคณะวนศาสตร์ มก. และทางกรมฯพร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งที่สนับสนุนและคัดค้านซึ่งการดำเนินการดังกล่าวยังมีอีกหลายขั้นตอน
นายสมโภชน์ในฐานะที่เป็นอดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์ฯห้วยขาแข้งด้วย อธิบายความเป็นมาของโครงการฯว่า พื้นที่มรดกโลกห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวรตั้งอยู่ใจกลางผืนป่าตะวันตกของประเทศไทย ประกอบด้วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 3 แห่งได้แก่ ห้วยขาแข้ง ทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันออก ทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันตก รวมพื้นที่ทั้งสิ้น6,427 ตารางกิโลเมตร
พื้นที่เป็นป่าสมบูรณ์และมีเสือโคร่งประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนเสือโคร่งทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศไทย ตลอดจนสัตว์ป่านานาชนิด และพบว่าภัยคุกคามที่สำคัญต่อการดำรงอยู่ของสัตว์ป่าในพื้นที่มรดกโลกโดยเฉพาะเสือโคร่งนั้นได้แก่ ถิ่นที่อยู่ถูกทำลายเนื่องจากความเสื่อมโทรมและการถูกตัดแบ่งพื้นที่ป่าออกจากกัน, การล่าสัตว์ป่าที่เป็นอาหารของเสือโคร่ง, และการล่าเสือโคร่งเพื่อสนองการค้าผิดกฎหมาย
นอกจากนี้ ยังมีชาวบ้านที่เป็นชุมชนดั้งเดิมชุมชนเกษตรสวนป่าผสมผสานซึ่งอาศัยอยู่ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ตะวันออกและตะวันตก และชุมชนที่ตั้งอยู่ในรัศมี5 กิโลเมตรของพื้นที่กันชนรอบๆพื้นที่มรดกโลก ซึ่งมีชุมชนดังกล่าวกว่า29 หมู่บ้านที่พึ่งพิงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติจากป่าในการดำรงชีวิต นายสมโภชน์กล่าว
สภาวะปัจจัยตามบริบทเหล่านี้ ส่งผลให้มีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการปรับปรุงประสิทธิผลของการบริหารจัดการสัตว์ป่าและถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่า
และจำเป็นต้องสร้างกลไกทางการเงินที่ยั่งยืนสำหรับพื้นที่มรดกโลกห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร รวมทั้งสนับสนุนการนำร่องกิจกรรมสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่สมดุลกับวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น นายสมโภชน์อธิบาย
ดังนั้น สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(UNDP) ได้ร่วมมือกับกรมฯ จัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อขออนุมัติทุนสนับสนุนเป็นจำนวน7.33 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อดำเนินการเสริมสร้างประสิทธิภาพในการจัดการปกป้องพื้นที่มรดกโลกห้วยขาแข้งทุ่งใหญ่นเรศวร และกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกมีมติอนุมัติงบประมาณสนับสนุนโครงการดังกล่าวในปี2558
และในปีเดียวกัน เมื่อวันที่16 มิถุนายน คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นก็ได้เห็นชอบในโครงการดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดการสำหรับแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และกระตุ้นให้ชุมชนท้องถิ่นช่วยกันดูแลรักษา นายสมโภชน์ระบุ
ทั้งนี้ มีระยะเวลาดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2558-2563 และมีพื้นที่โครงการอยู่ในพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ซึ่งได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก นายสมโภชน์กล่าว
นายสมโภชน์กล่าวอีกว่า การพัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยวสัตว์ป่าเพื่อการอนุรักษ์บริเวณเขตกันชนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งจะใช้พื้นที่ป่าชุมชนบ้านบึงเจริญป่าชุมชนบ้านห้วยเปล้าพื้นที่ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้(ออป.) ชุมชนบ้านห้วยเปล้าสันเขื่อนทับเสลา มีหน่วยงานสำรวจและดำเนินงานด้านวิชาการคือคณะวนศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยศึกษาการจัดการถิ่นที่อยู่อาศัย การออกแบบ lและพัฒนาพื้นที่การพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวการพัฒนา และเตรียมความพร้อมด้านชุมชน
“วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวสัตว์ป่าสามารถใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการจัดการพื้นที่มรดกโลกห้วยขาแข้งอย่างยั่งยืน เป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่อยู่รอบพื้นที่คุ้มครอง มีเป้าหมายที่จะสร้างการท่องเที่ยวทางเลือกสำหรับนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มที่ต้องการเรียนรู้ระบบนิเวศและทรัพยากรสัตว์ป่าให้เกิดจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ สนับสนุนนโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศ และยังเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน" นายสมโภชน์กล่าว
ในการดำเนินการดังกล่าว นายสมโภชน์อธิบายว่า จะมีคณะกรรมการบริหารโครงการซึ่งมีอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯเป็นประธาน มีการประชุมศึกษาความก้าวหน้าตามวาระอย่างน้อยปีละสองครั้ง การรายงานความก้าวหน้าต่อยูเอ็นดีพีการจัดทำรายงานประจำปีส่งกองทุนสิ่งแวดล้อม
"กรมฯยืนยันว่าไม่ได้สนับสนุนให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะสัตว์ป่าและได้ดำเนินการอย่างมีแบบแผนตามหลักวิชาการโดยคำนึงถึงความเป็นมรดกโลกในพื้นที่ด้วย" นายสมโภชน์กล่าว
ภาพ การปล่อยยสัตว์ป่า ณ ห้วยขาแข้ง/ อส.