"บิลลี่" ที่ตามหา...ความยุติธรรมยังล่องลอย

"บิลลี่" ที่ตามหา...ความยุติธรรมยังล่องลอย

เมื่อการตามหาตัว "บิลลี่" พอละจี เริ่มต้นขึ้น…

วันที่ 24 เมษายน 2557...

พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น จังหวัดเพชรบุรี ขอให้มีคำสั่งปล่อยตัวพอละจี รักจงเจริญ โดยคำเบิกความของเธอที่ปรากฏในคำพิพากษาของศาลฎีกา ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2557 พอละจีออกจากบ้านไป โดยแจ้งพิณนภาว่าจะไปเยี่ยมมารดาซึ่งอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านโป่งลึก ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

จนกระทั่งวันที่ 17 เมษายน 2557 พี่ชายพอละจีโทรศัพท์มาสอบถามพิณนภาว่า พอละจีกลับบ้านแล้วหรือยัง

พิณภา ตอบว่า ยัง

วันที่ 18 เมษายน 2557 พิณนภา จึงไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อติดตามหาตัวพอละจี ในวันเดียวกัน พิณนภาได้รับแจ้งจากผู้ใหญ่บ้านท้องที่ที่พอละจีพักอาศัย กระทง โชควิบูลย์ว่า พอละจี ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ควบคุมตัวไป

นายกระทงเดินทางไปยังสถานีตำรวจเพื่อขอประกันตัวพอละจี แต่ ไม่พบ

นายกระทง ได้เบิกความต่อศาลไว้ว่า เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 เวลาประมาณ 4 โมงเย็น นายกระทงได้รับโทรศัพท์จากพี่ชายของพอละจี แจ้งว่า พอละจีถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ จับกุมเพื่อดำเนินคดี และขอร้องให้นายกระทงไปช่วยประกันตัวพอละจีที่สถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน

วันที่ 18 เมษายน 2557 นายกระทงโทรศัพท์ไปยังเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจานเพื่อสอบถามถึงพอละจี เจ้าพนักงานตำรวจแจ้งว่า ไม่มีตัวพอละจีที่สถานีตำรวจ

ต่อมา ตอนบ่าย นายกระทงเดินทางไปสถานีตำรวจเพื่อสอบถามเรื่องพอละจี เจ้าพนักงานตำรวจบอกว่า พอละจียังไม่ได้มาที่สถานีตำรวจ

ครั้นเวลาประมาณสองทุ่ม นายกระทงไปที่สถานีตำรวจอีกครั้ง แต่ก็ไม่พบพอละจี

หลังจากนั้น นายกระทงโทรศัพท์ติดต่อพอละจี แต่ไม่มีคนรับสาย…

จากการสืบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หลังจากที่คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) มีมติวันที่ 28 มิถุนายน 2561 รับคดีการหายตัวไปของพอละจีเป็นคดีพิเศษ พบว่า พอละจี ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ จับกุมในระหว่างนำน้ำผึ้งออกจากพื้นที่อุทยานฯ โดยไม่ได้รับอนุญาต โดย พ... กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีดีเอสไอได้อธิบายในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 3 กันยายนว่า พอละจีถูกพบที่ด่านมะเร็ว จากนั้นจึงถูกนำตัวมาโดยมีการอ้างว่าได้ปล่อยตัวพอละจีบริเวณสี่แยกหนองมะค่า ซึ่ง หลังจากนั้น ก็ไม่มีใครพบพอละจีอีกเลย พ... กรวัชร์กล่าว

ใครคือ "บิลลี่"

สำหรับเกรียงไกร ชีช่วง ตัวแทนเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมภาคตะวันตกที่เป็นเสมือนพี่เลี้ยงงานชุมชนของพอละจี เขาก็คาดหวังไว้เช่นกันว่าพอละจีถูกควบคุมตัวและจะได้รับการปล่อยตัวในที่สุด

เกรียงไกร ชาวกะเหรี่ยงรุ่นใหม่ที่มีโอกาสได้รับการศึกษาและสัมผัสสังคมภายนอก จากการได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จังหวัดราชบุรีบ้านเกิดและทำกิจกรรมนักศึกษา ได้พบกับพอละจีหรือที่เขาเรียกว่า บิลลี่ เป็นครั้งแรกๆ ในปี 2554-2555

เกรียงไกรเล่าว่า บิลลี่เป็นคนหนุ่มกะเหรี่ยงรุ่นใหม่อีกคนที่มีความคล้ายคลึงกับเขาในแง่ที่ได้มีโอกาสได้รับการศึกษาจากภายนอกและชอบเรียนรู้สังคมภายนอก

เนื่องจากครอบครัวถูกอพยพลงมาจากพื้นที่ป่าด้านบนและต้องมาอาศัยอยู่กับญาติที่โป่งลึก-บางกลอยล่าง บิลลี่ต่อมาจึงย้ายออกมาอยู่และเรียนที่โรงเรียนวัดท่ายางจนจบ ม.6 และทำงานรับจ้างข้างนอกก่อนพบกับมือนอ พิณนภา

ในตอนแรก เกรียงไกรกล่าวว่า บิลลี่ในวัยยี่สิบตอนปลายยังไม่มีความคิดเรื่องงานพัฒนาชุมชนและเครือข่าย จนกระทั่งได้มีโอกาสติดตามผู้ใหญ่ในหมู่บ้านมาเข้าร่วมงานประชุมกับเครือข่าย จึงเริ่มมีการแลกเปลี่ยนความคิดกับชาวกะเหรี่ยงจากชุมชนอื่นๆ รวมทั้งความคิดชุมชนกะเหรี่ยงอยู่กับป่าได้

ในช่วงเวลานั้นที่ชุมชนมีปัญหาเรื่องการถูกเผาไล่รื้อกับอุทยานฯ ซึ่งรวมถึงปู่ของบิลลี่คือคออี้ เกรียงไกรเล่าว่า บิลลี่ยังไม่ได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง เพราะจะมีผู้ใหญ่คนอื่นๆ คอยประสานกับทางทนายและนักสิทธิมนุษยชน บิลลี่เพียงแค่รับรู้และติดตามผู้ใหญ่ จนกระทั่งคนที่คอยประสานงานถูกยิงเสียชีวิต บิลลี่จึงอาสาเข้ามาช่วยประสานงานให้และเริ่มช่วยทนายในการทำคดีของชุมชนกับอุทยานฯ

เกรียงไกรกล่าวว่า โดยหลักๆ บิลลี่จะเป็นคนคอยรวบรวมข้อมูลของชุมชน เขาเป็นนักข่าวพลเมืองของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งด้วย และได้รับการอบรมในการทำสื่อ จึงทำงานด้านสื่อและเนื้อหาเป็น

ในช่วงระหว่างปี 2556 จนกระทั่งเขาหายตัวไป เกรียงไกรเล่าว่า บิลลี่ทำงานเข้มข้นต่อเนื่องมาก ส่วนหนึ่งเพราะเขาลงสมัครเป็นสมาชิก อบต. ด้วย ซึ่งทำให้บิลลี่เริ่มมีการประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่

ในช่วงเวลานั้น มีเหตุการณ์ข้าวไม่พอกินในชุมชน จนเครือข่ายต้องระดมกำลังเอาข้าวเข้ามาช่วยเหลือคนในพื้นที่ในรูปแบบกองทุนข้าว แต่เมื่อย่างเข้าปีที่ 3 เครือข่ายเห็นว่าเป็นวิธีการที่ไม่ยั่งยืน จึงแนะนำว่าบิลลี่จำเป็นที่จะต้องให้หน่วยงานมารับรู้ปัญหานี้บ้างแล้ว

เกรียงไกรเล่าว่าในงานกองทุนข้าวครั้งที่ 3 นี้เองที่บิลลี่เป็นตัวประสานงานหลัก แต่ปรากฏว่ามีเพียงเจ้าหน้าที่เกษตรที่มาร่วมงาน ส่วนจ้าหน้าที่อุทยานฯ ทำเพียงสังเกตุการณ์อยู่รอบนอก และนั่นเป็นจุดหนึ่งที่เกรียงไกรเห็นว่าการแก้ปัญหาของชุมชนระหว่างชุมชนเอง และอุทยานฯและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่เป็นไปในทางเดียวกัน

เกรียงไกรกล่าวว่าบิลลี่เพียงแค่ต้องการแก้ปัญหาของชุมชน จากการเรียนรู้วิธีการจากเครือข่าย บิลลี่มองว่าปัญหาอยู่ที่การไม่มีที่ดินเพียงพอสำหรับทำกิน เขาพยายามทำข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชน เพื่อใช้สื่อสารกับหน่วยงานและที่ประชุมของหมู่บ้านให้เข้าใจ รวมทั้งการอาศัยอยู่กับป่าของชาวกะเหรี่ยง

ในส่วนของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเอง ก็พยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีของตัวเอง รวมทั้งความพยายามทำนาขั้นบันไดหลังหมู่บ้าน ซึ่งเกรียงไกรมองว่าไม่สอดคล้องกับวิถีของชุมชนและมันก็ไม่ยั่งยืนในที่สุด

เกรียงไกรยอมรับว่า หลังงานบุญกองทุนข้าวครั้งที่ 3 จบ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2557 เริ่มมีความตึงเครียดขึ้นในชุมชน เกรียงไกรกล่าวว่า แม้ไม่เคยมีการเผชิญหน้าระหว่างบิลลี่กับเจ้าหน้าที่หน่วยงาน แต่บิลลี่เคยบอกเขาว่าเคยเจอคนข่มขู่และมีการฝากบอกกันมาให้ระวังตัว

เกรียงไกรกล่าวว่า บิลลี่เริ่มปรึกษาเครือข่ายเรื่องการถวายฎีกา ซึ่งเป็นแนวความคิดที่เคยถูกเสนอในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้โดยผู้ใหญ่ที่ทำงานนี้อยู่แต่ก็ถูกพับไป

เกรียงไกรกล่าวว่า ทางเครือข่ายมองว่าการถวายฎีกาก็เป็นอีกกลไกทางสังคมที่ชาวบ้านน่าจะสามารถกระทำได้ บิลลี่จึงไปร่างหนังสือก่อนเอามาปรึกษาเครือข่ายในระหว่างการประชุมเยาวชนในช่วงราววันที่ 10-12 เมษายน ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่เขาจะหายตัวไปราวหนึ่งอาทิตย์

หลังการประชุมและบิลลี่กลับบ้านไป เกรียงไกรเล่าว่าเขาได้มีโอกาสพูดคุยทางโทรศัพท์กับบิลลี่ซึ่งบอกเขาว่า จะเข้าหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย เพื่อไปรวบรวมเตรียมข้อมูลขึ้นศาลคดีที่เกี่ยวกับการเผาไล่รื้อกัน

บิลลี่ไม่ได้มางานบุญที่จังหวัดราชบุรีในช่วงวันสงกรานต์ และในการประชุมเครือข่ายในช่วงวันที่ 17-19 เมษายน บิลลี่ก็ไม่ได้มาเข้าร่วมแต่อย่างใด

เกรียงไกรและเครือข่ายเพียงแต่รับทราบข่าวในช่วงเย็นวันที่ 17 ว่าบิลลี่ถูกควบคุมตัวและคอยติดตามสถานการณ์จากที่ประชุม

“ตอนนั้น เราก็ยังประเมินกันว่าเขายังถูกควบคุมตัวอยู่เลย

“น้ำผึ้งไม่กี่ขวด ไม่น่าเกี่ยวเพราะมันดูเป็นเรื่องเล็กมากถ้าดูจากศักยภาพของบิลลี่” เกรียงไกรกล่าว พร้อมกับยอมรับว่า ถึงตอนนี้เขาเองก็ไม่รู้เช่นกันว่าเหตุใดบิลลี่จึงถูกทำร้าย แต่ก็ไม่เห็นความขัดแย้งอื่นใดอีก

การตามหา

หลังการตามหา พิณภาจึงตัดสินใจยื่นคำร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวบิลลี่ และให้กรมอุทยานฯ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เยียวยาความเสียหายตามที่ศาลเห็นสมควร

โดยได้ร้องว่า เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกับพวก จับกุมและควบคุมตัวนายพอละจี พร้อมยึดรถจักรยานยนตร์และน้ำผึ้งเป็นของกลาง

แต่นายชัยวัฒน์ไม่ได้นำตัวนายพอละจีไปดำเนินคดี จนกระทั่งปัจจุบัน (วันที่ยื่นคำร้อง) ไม่มีผู้ใดพบเห็นหรือสามารถติดต่อนายพอละจีได้

เชื่อว่า นายพอละจี ยังอยู่ในความควบคุมของนายชัยวัฒน์ อันเป็นการควบคุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 32 วรรค 5 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90

ศาลชั้นต้นไต่สวน มีคำสั่งยกคำร้อง

พิณนภาอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน

พิณนภาร้องศาลฎีกา วันที่ 6 พฤษภาคม 2558

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีความเห็นว่า การดำเนินกระบวนการพิจารณาของศาลชั้นต้น ไม่ได้เป็นไปตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา  90 ที่กำหนดไว้ว่า เมื่อได้รับคำร้อง ให้ศาลดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวโดยด่วน

ถ้าเห็นว่าคำร้องมีมูล ศาลมีอำนาจสั่งผู้คุมขังให้นำตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยพลัน และถ้าผู้คุมขังแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลไม่ได้ว่าการคุมขังเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังไปทันที

แต่ศาลชั้นต้นกลับมีหมายเรียกนายชัยวัฒน์กับพวกมาไต่สวน จึงเป็นการดำเนินกระบวนการพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่อาจนำคำเบิกความของพยานมารับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้

แต่เมื่อผู้ร้อง พิณนภานำพยานเข้าไต่สวนเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยว่าคำร้องของผู้ร้องมีมูลหรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณามีคำสั่งอีก

ศาลเห็นว่า ผู้ร้อง พิณนภา อ้างตามคำร้องว่า นายชัยวัฒน์ กับพวกควบคุมตัวนายพอละจีโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แต่พยานผู้ร้องทั้งสองปาก ไม่ได้รู้เห็นว่านายชัยวัฒน์ กับพวกควบคุมตัวนายพอละจีไว้หรือไม่ พิณนภา ผู้ร้อง ได้รับการบอกเล่าเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวจากนายกระทง ส่วนนายกระทง ได้รับการบอกเล่ามาจากพี่ชายพอละจี

ดังนั้น คำเบิกความของพยานผู้ร้องจึงเป็นพยานบอกเล่า ไม่อาจรับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง

ส่วนนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ที่นำเข้าไต่สวนเป็นพยานเพิ่มเติม เป็นเพียงพยานแวดล้อม ในฐานะที่เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและได้รับการร้องเรียนว่ามีการละเมิดสิทธิชุมชนกะเหรี่ยง โดยพยานเอง มิได้รู้เห็นเรื่องการหายตัวไปของนายพอละจีแต่อย่างใด

ข้อเท็จจริง จึงฟังไม่ได้ว่า นายชัยวัฒน์ กับพวก ควบคุมตัวนายพอละจีไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

คำร้องของผู้ร้องจึงไม่มีมูล ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล พิพากษายืน

อ่านคำสั่ง ณ วันที่ 2 สิงหาคม 2558

ภาพ โปสเตอร์รณรงค์ช่วงแรกๆ/ เครือข่ายกะเหรี่ยงฯ