“เมืองสีเขียว” หรือ “พัทลุง กรีน ซิตี้” เพื่อให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี
“พัทลุง”จังหวัดเล็กๆที่จัดเป็นเมืองรองในพื้นที่ภาคใต้ มีประชากรราว 5.25 แสนคน แต่กล้าที่จะประกาศตัวทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ นั่นคือ การกำหนดเป้าหมายจังหวัดสู่การเป็น “เมืองสีเขียว” หรือ “พัทลุง กรีน ซิตี้” เพื่อให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี
เป็นส่วนหนึ่งของ “หน่วยจัดการพื้นที่จังหวัดพัทลุง” หรือ Node Flagship พัทลุง จากการสนับสนุนของแผนสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ซึ่งการขับเคลื่อนเข้าปีที่ 2 เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อย่างเช่นที่ “บ้านขาม“ พื้นที่ติดเทือกเขาบรรทัด และ “บ้านบางขวน”พื้นที่ติดริมทะเลสาบสงขลา
ณ บ้านขาม ต.ลำสินธุ์ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง สหจร ชุมคช เกษตรกร วัย 46 ปี ผู้ที่กล้าท้าทายแหกกฎการทำสวนยางแบบเดิมๆตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน ในช่วงเวลาที่ราคายางพารายังไม่ตกต่ำเท่าทุกวันนี้ โดยหลังจากไปร่ำเรียนและทำงานในเมืองหลวงนานนับ 10 ปี บวกกับมีความสนใจในเรื่องต้นไม้เป็นทุนเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชท้องถิ่น กระทั่ง ในปี 2551 สหจร ตัดสินใจกลับมาอยู่บ้าน ทว่า เป้าหมายไม่ใช่เพียง “กรีดยาง” แต่เขาต้องการทำให้”สวนยาง”มีมากกว่า”ต้นยางพารา” ที่เป็นเกษตรเชิงเดี่ยว ด้วยการทำ “ป่าร่วมยาง”
สหจร เริ่มต้นด้วยตัวคนเดียวเพียงลำพัง โดยการเริ่มสะสมต้นไม้ที่เขาเคยพบเห็นในสวนยางสมัยเด็กๆ ที่นับวันจะเริ่มหายากและสูญพันธุ์ จากการที่ใช้สารเคมีอันตรายในสวน นำมาเพาะขยายและปลูกในสวนยาง ท่ามกลางสายตาคนในชุมชนที่มองว่า”เขาบ้า” เพราะสิ่งที่สหจร ทำนั้นเป็นการ “ฉีกกฎ”การทำสวนยางแบบเดิมๆ ที่มีความเชื่อว่า “หากปลูกพืชอื่นในสวนยาง ยิ่งมาก ยิ่งทำให้น้ำยางออกไม่ดี”
แม้แต่ภรรยาก็ไม่เห็น เมื่อสหจร ปลูกต้นไม้ ภรรยาก็จะเดินตามและถอนทิ้ง เพราะไม่เข้าใจสิ่งที่เขาคิดจะทำ เหนืออื่นใดในการปลูกป่าร่วมยางของสหจร เป็นแบบเกษตรอินทรีย์ ไม่มีการใช้สารเคมีใดๆทั้งสิ้น แม้แต่ปุ๋ยเคมี อาศัยระบบธรรมชาติพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันถึงวันนี้ผ่านมา 10 ปี “สวนปันแสง” เนื้อที่ 7 ไร่ รกคลึ้มไปด้วยต้นไม้ 6 ชั้น มีมากกว่า 1,000 ชนิด ทั้งพืชใบ พืชดอก ผัก ผลไม้ และสมุนไพร และพืชแทบทุกชนิดสามารถส่งขายเป็นรายได้ให้กับครอบครัวไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1- 3 หมื่นบาท อย่างเช่น ดอกเอื้องหมายนา กิโลกรัมละ 800 บาท หรือต้นตีนตุ๊กแกกิโลกรัมละ 150 บาท ดอกดาหลา ลูกฉิ่ง ว่านสาวหลง และอื่นๆ
ซึ่งลูกค้าสำคัญของสหจร เป็นเชฟระดับมิชลินสตาร์ที่ปัจจุบันนิยมให้ความสำคัญกับการใช้พืชท้องถิ่นปลอดสารพิษจากภูมิภาคต่างๆมาประกอบอาหารหรือประดับจานอาหารมากขึ้น ราวมถึงรายได้จากการเพาะเมล็ดพันธุ์ต้นกล้าขาย ใน 1 ปีได้เงินมาเกือบ 1 แสนบาท
จนผลผลิตเฉพาะสวนของสหจรไม่เพียงพอ จึงมีการรวมตัวเป็นเครือข่ายคนในชุมชน ปรับเปลี่ยนการทำสวนยางเชิงเดี่ยว มาทำเรื่อง “ป่าร่วมยาง” ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น ไม่หวังพึ่งเพียงการขายยางพาราเท่านั้น สิ่งสำคัญ ยังเป็นการขยายวงลดใช้สารเคมี มุ่งเน้นเกษตรอินทรีย์ เพราะการปลูกพืชร่วมยางต้องเป็นพืชท้องถิ่น ทนต่อสภาพอากาศ และมีการจัดระบบในสวน ปลูกพืชชั้นนอก เพื่อเป็นเหมือนแนวกำแพงควบคุมความชุ่มชื้นภายในสวน ด้วยการใช้ไม้แตกกอ
ภายในสวนต้องมีไม้หลักทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ให้ร่มเงาและความชุ่มชื้น อาจจะใช้ต้นยางเดิม และต้องรู้ว่าพืชที่จะปลูกนั้นชอบแดดมากหรือแดดรำไร ต้องดูสภาพพื้นทที่ด้วย ปัจจุบัน สวนยางปันแสงเป็น “สวนการเรียนรู้พันธุกรรมพืชตำบลลำสินธุ์” และเป็นต้นแบบในการสร้างแหล่งอาหารปลอดภัย
“สวนยางส่วนใหญ่จึงจะมีลักษณะโล่งเตียน แต่เราต้องกล้าที่จะแหกกฎการทำสวนยางเดิมๆ เราถึงจะพบแนวทางใหม่ๆ ทุกวันนี้ ผลผลิตต่อไร่ดีกว่ายางพาราถึง 10 เท่า กลายเป็นรายได้หลัก มากกว่าขายน้ำยางที่กรีดได้ 2-3 เท่า โดยการทำตลาดส่วนใหญ่ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย”สหจร กล่าวอย่างเชื่อมั่น
ปัจจุบัน “โครงการป่าร่วมยาง”เป็นพื้นที่ศึกษาต้นแบบ ด้านอาหารปลอดภัย ของ "หน่วยจัดการพื้นที่จังหวัดพัทลุง” ซึ่งสสส.เป็นแกนหลักสำคัญประสานความร่วมมือกับภาคประชาชน กำหนดเป้าหมายสู่ “พัทลุง กรีน ซิตี้ คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี” มียุทธศาสตร์ขับเคลื่อนด้านสุขภาวะ 4 ประเด็น ได้แก่ 1.สิ่งแวดล้อมดี ชุมชนปลอดมลพิษ 2.ทรัพยากรชายฝั่งเพิ่มขึ้น 3.อาหารปลอดภัย และ4.การท่องเที่ยว ส่งเสริมสินค้าวัฒนธรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ภายใต้ยุทธศาสตร์ ปี 2561-2564 "พัทลุง เมืองคนคุณภาพ สิ่งแวดล้อมดี ชุมชนเข้มแข็ง เติบโตและม่ั่งคั่งจากฐานการเกษตร วัฒนธรรม ภูมิปัญญา และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ยั่งยืน เช่นเดียวกับโครงการ "เขตอนุรักษ์สัตว์น้ำบ้านบางขวน"
อ่านเรื่อง “เขตอนุรักษ์สัตว์น้ำบางขวน”พลิกฟื้น...ทะเลสาบสงขลา แหล่งอาหารสำคัญชาวบ้าน ต่อที่ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/849207