มุ้งฆ่ายุงนาโนช่วยผู้ประสบภัยอุบลฯ
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จังหวัดอุบลราชธานี นำผลงานวิจัยและนวัตกรรม “มุ้งฆ่ายุงนาโนสมบัติพิเศษ” ไปบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องที่ประสบความเดือดร้อน
นายจำลอง พรมสวัสดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)กล่าวว่า มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เป็นหน่วยงานในการประสานงาน นำผลงานวิจัยเข้าไปช่วยเหลือฯ ได้แก่ เครื่องกรองน้ำ จากกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ยากันยุง และมุ้งฆ่ายุงนาโนสมบัติพิเศษ จากนาโนเทค สวทช. ใน 2 พื้นที่ได้แก่ โรงเรียนหาดสวนยาง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี และวัดกุดกูล อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
เป็นการดำเนินการเพื่อตอบโจทย์ BCG Model (B: bioeconomy, C: circular economy, G: green economy) รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่เร่งให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างทั่วถึงบนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในการดำเนินโครงการ 3 เรื่อง ได้แก่ นวัตกรรมชุมชน นวัตกรรมสังคม และอาสาประชารัฐ ครอบคลุมทุกภาคส่วน ทั้งในภาคการเกษตรและอาหาร ด้านพลังงานและวัสดุ ด้านสุขภาพและการแพทย์ และด้านการท่องเที่ยว โดยมุ่งจะนำประเทศไปสู่การเป็นผู้นำการผลิตอาหารคุณภาพต่อไป
ดร.สุธี ผู้เจริญชนะชัย รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)กล่าวว่า ยุทธศาสตร์หลักหนึ่งของ สวทช. คือ การนำเทคโนโลยีพร้อมใช้ไปถ่ายทอดให้กับชุมชน และผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางด้านสังคมและสาธารณประโยชน์ นาโนเทค หนึ่งในศูนย์แห่งชาติภายใต้ สวทช. ที่มีนวัตกรรมและงานวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีอยู่ จึงพร้อมที่จะนำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยและพัฒนาส่งต่อให้กับผู้ที่ต้องการ
รวมทั้งบรรเทาภัยพิบัติที่เกิดขึ้น การลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีในครั้งนี้ นาโนเทคได้นำนวัตกรรมที่เรียกว่า มุ้งฆ่ายุงนาโนสมบัติพิเศษ หรือ Antimosquito Nano Bednets เพื่อนำไปมอบให้กับประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งมุ้งฆ่ายุงนาโนฯ จำนวน 480 หลัง มอบให้กับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้
มุ้งฆ่ายุงนาโนสมบัติพิเศษ เป็นผลงานการวิจัยและพัฒนาสูตรเคมีและกระบวนการเคลือบสิ่งทอสำหรับกำจัดแมลง โดย นาโนเทค สวทช. ที่เกิดจากการพัฒนา “เดลตาเมธริน” (Deltamethrin) สารสังเคราะห์เลียนแบบสารในกลุ่ม “ไพเรธรอยด์” (Pyretroid) สารสกัดธรรมชาติจากดอกดาวเรืองและเก๊กฮวย ซึ่งเป็นสารที่ได้รับการแนะนำให้ใช้จากองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยสารสังเคราะห์ “เดลตาเมธริน” (Deltamethrin) ถูกนำไปต่อยอดในกระบวนการผลิตมุ้ง แบ่งเป็น 2 แบบ คือ เคลือบสารเดลตาเมธรินลงบนเส้นใยสำหรับมุ้งที่ผลิตขึ้นจากเส้นใยธรรมชาติหรือเส้นใยฝ้าย และผสมสารชนิดนี้ลงในเม็ดพลาสติกเพื่อขึ้นรูปเป็นเส้นใย ซึ่งในวิธีการหลังนั้นทำให้เก็บสารที่ผลต่อการฆ่ายุงได้นานกว่าการนำมุ้งไป ชุบ 5 เท่า
กระบวนการทำงานของมุ้งฆ่ายุงนาโนสมบัติพิเศษ จะเริ่มเมื่อตัวรับ (Receptor) ที่ปลายขาของยุง ได้รับสารเดลตาเมธรินจากการชนหรือสัมผัสมุ้งที่ผสมสารเดลตาเมธริน จะทำให้ยุงบินช้าลงและตายในที่สุด ซึ่งยุงแต่ละชนิดมีความไวต่อสารสังเคราะห์ชนิดนี้ได้ต่างกัน โดยเฉพาะยุงรำคาญและยุงก้นปล่อง ที่จะไวต่อสารเดลตาเมธรินมากที่สุด โดยจะตายภายใน 6 นาทีหลังจากได้รับสารที่สำคัญ คนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไม่มีตัวรับสารดังกล่าวจึงไม่ได้รับอันตรายเหมือนยุง ซึ่งนอกจากจะปกป้องผู้ใช้จากการถูกยุงกัดแล้ว ยังสามารถลดจำนวนประชากรของยุงได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ทีมวิจัยนาโนเทค สวทช. ยังพัฒนาให้มีคุณสมบัติพิเศษร่วมอื่น ๆ อีกหลายชนิด (Multifunction) ได้แก่ ป้องกันเชื้อแบคทีเรียทำให้ผลิตภัณฑ์ปราศจากกลิ่นอับชื้น ป้องกันรังสียูวีทำให้มุ้งและสารกำจัดยุงมีความทนทานต่อแสงแดด คุณสมบัติแบบผสมดังกล่าวเหมาะสำหรับการใช้งานทั่วไป หรือในช่วงที่มีอุทกภัย ซึ่งมีการแพร่ระบาดของยุงจำนวนมาก
สุพัตรา แซ่ลอ ชาวบ้านจากชุมชนวงสว่าง ที่บ้านเรือนได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมและต้องมาพักที่ศูนย์พักพิงวัดกุดคูณ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า แม้ทุกปี พื้นที่บ้านของเธอจะเป็นพื้นที่รับน้ำอยู่แล้ว แต่ปีนี้ นับว่าหนักมาก เพราะน้ำมาตอนตี 2 เก็บของขึ้นที่สูงไม่ทัน และน้ำยังท่วมสูงกว่าทุกปี แม้แต่ชั้น 2 ของบ้านก็ไม่พ้นถูกน้ำท่วม
“เราเก็บอะไรไม่ทันเลย คว้าลูก ๆ และพัดลม 1 ตัวออกมาได้เพียงเท่านั้น บ้าน ข้าวของเครื่องใช้เสียหายหมด ต้องมาอยู่ศูนย์พักพิง โดยกางเต้นท์นอน แต่ก็ไม่ชิน บวกกับครอบครัวคนเยอะ ร้อน แล้วเรายังต้องคอยดูเป็ดไก่ที่เอามาด้วย ทำให้ต้องออกมาอยู่ข้างนอก ยุงเยอะมากเพราะน้ำเริ่มนิ่ง และเน่า ยากันยุงเอาไม่อยู่ ดีใจมากเมื่อได้รับมุ้งฆ่ายุงจากนาโนเทค"สุพัตรากล่าว
เช่นเดียวกับ วิระกุล อ่อนคำลุน วัย 75 ปี ชาวบ้านจากชุมชนวัดกุดคูณ ที่อยู่ในศูนย์พักพิงเดียวกัน ที่บ้านเรือนของคุณยายเสียหายไม่น้อย และยังใช้ชีวิตลำบากจากยุงที่มีจำนวนมาก มุ้งฆ่ายุงที่ได้รับไปจากนาโนเทคจะช่วยให้คุณยายและครอบครัวพักผ่อนได้อย่างสะดวกสบายขึ้น
“น้ำท่วมครั้งนี้ หลายฝ่ายต่างมีน้ำใจมาช่วยเหลือ ทั้งคนที่มาทำกับข้าว มาบริจาคอาหาร น้ำดื่ม รวมถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการยังชีพ นับว่า ยังมีสิ่งที่ดีงามแม้จะเป็นช่วงวิกฤต”คุณยายวิระกุล กล่าว
ดร.สุธีเผยต่อว่าการลงพื้นที่ นำนวัตกรรมและงานวิจัยไปช่วยผู้ประสบภัย นับเป็นการต่อยอดงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ซึ่งในครั้งนี้ นับว่าประสบความสำเร็จในการตอบความต้องการของผู้ประสบภัยได้อย่างดี