เคาะเริ่มกระบวนการปรึกษาหารือสำหรับเขื่อนแห่งที่ 5 บนแม่น้ำโขงตอนล่าง

เคาะเริ่มกระบวนการปรึกษาหารือสำหรับเขื่อนแห่งที่ 5 บนแม่น้ำโขงตอนล่าง

กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าฯ เขื่อนหลวงพระบาง มีระยะเวลา 6 เดือน ก่อนข้อสรุปของประเทศสมาชิกจะถูกนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมสุดท้ายต้นเมษาฯ ปีหน้า

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยในโอกาสเข้าร่วมประชุมคณะทำงานด้านวิชาการ (JC) ครั้งที่ 1 ในฐานะหัวหน้าคณะฝ่ายไทย คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ร่วมกับประเทศสมาชิกอีก 3 ประเทศ ได้แก่ สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เมื่อวานนี้ ณ กรุงเวียงจันทน์ เพื่อพิจารณาโครงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง

ทั้งนี้ รัฐบาลลาวได้เสนอนำเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือฯ (PNPCA) ในการใช้น้ำร่วมกันในแม่น้ำโขง เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ซึ่งระเบียบปฏิบัติดังกล่าวได้ถูกพัฒนาขึ้นโดย คณะกรรมการแม่น้ำโขง (MRC) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศสมาชิกได้แสดงความคิดเห็นและข้อยุติร่วมกัน พร้อมกับเสนอมาตรการและแนวทางในการลดผลกระทบข้ามพรมแดน

          

โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง เป็นโครงการพัฒนาในลำน้ำโขงสายประธานลำดับที่ 5 ต่อจากโครงการไซยะบุรี ดอนสะโฮง ปากแบง และปากลาย ตามลำดับ 

เขื่อนหลวงพระบางจะเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าแบบน้ำไหลผ่าน (Run-of-river Dam) ตัวสันเขื่อนมีความยาว 275 เมตร สูง 79 เมตร กว้าง 97 เมตร ขนาดกำลังผลิต 1,460 เมกะวัตต์ อยู่ในแม่น้ำโขงตอนบนของนครหลวงพระบางประมาณ 25 กิโลเมตร 

ซึ่งจากการประชุมดังกล่าว ที่ประชุมรับทราบผลการวิเคราะห์เอกสารเบื้องต้นในประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงปริมาณและการไหลของน้ำ การออกแบบทางปลาผ่าน ระบบนิเวศ เป็นต้น 

ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนการดำเนินการ (Road map) ที่จะต้องดำเนินการเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือฯ ที่ต้องแจ้งและรับฟังความเห็นจากประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 6 เดือน คือ ตั้งแต่ 8 ตุลาคม 2562 และสิ้นสุดกระบวนการในวันที่ 7 เมษายน 2563

ซึ่งแผนการดำเนินงานจะให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งในระดับภูมิภาคและภายในประเทศเพื่อเป็นการสร้างการรับรู้  ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเป็นประโยชน์ต่อไป

          

ทั้งนี้ ฝ่ายไทย โดย สทนช.จะเร่งดำเนินการจัดเวทีชี้แจงให้ข้อมูลโครงการแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ ภาครัฐ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ประชาชน ประชาสังคม นักวิชาการ องค์กรด้านการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์กรพัฒนาเอกชน  ในพื้นที่จังหวัดที่อยู่ริมลำน้ำโขง 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี 

ทั้งนี้ เพื่อให้ข้อมูล สร้างความรู้ความเข้าใจตามกระบวนการ PNPCA รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อรวบรวม ประเมินผล ประโยชน์และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง ซึ่งอาจมีผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขงสายหลัก 

ข้อห่วงกังวลต่อผลกระทบต่าง ๆ จะประกอบเป็นท่าทีของประเทศไทยเสนอต่อ สปป.ลาว ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ ผ่านสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงต่อไป

อย่างไรก็ตาม พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง (Save the Mekong) กังวลอย่างยิ่งกับการริเริ่มการปรึกษาหารือล่วงหน้าสำหรับเขื่อนหลวงพระบาง ในขณะที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาข้อกังวลที่ร้ายแรงและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากผลกระทบของเขื่อนที่มีอยู่แล้ว และเขื่อนที่มีแผนการสร้างในแม่น้ำโขงสายประธาน ซึ่งเป็นข้อกังวลที่มีการเสนอในการปรึกษาหารือล่วงหน้าสำหรับโครงการก่อนหน้านี้ 

ทางเครือข่ายฯ จึงเรียกร้องให้ยกเลิกเขื่อนหลวงระบาง และเขื่อนอื่นที่มีแผนการสร้างในแม่น้ำโขงสายประธาน แทนที่จะเดินหน้าตามขั้นตอนการปรึกษาหารือล่วงหน้าที่มีข้อบกพร่องอีกครั้ง 

“เรากระตุ้นให้รัฐบาลประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างและ MRC แก้ไขปัญหาตามข้อกังวลเนื่องจากผลกระทบของเขื่อนในแม่น้ำโขงสายประธานที่มีอยู่ และให้ทำการประเมินทางเลือกอย่างรอบด้าน โดยให้มีการศึกษาทางเลือกอื่น ด้วย” เครือข่ายกล่าวในแถลงการณ์ 

“เขื่อนในแม่น้ำโขงสายประธาน จะเปลี่ยนให้แม่น้ำโขงให้เป็นเพียงอ่างเก็บน้ำ  และสร้างผลกระทบที่รุนแรง”

เครือข่ายฯ กล่าวว่า การเริ่มการปรึกษาหารือล่วงหน้าสำหรับเขื่อนหลวงพระบาง เป็นการกระทำที่ไม่คำนึงถึงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่มากมาย รวมทั้งผลการศึกษาที่ได้รับการเผยแพร่ของ MRC และหน่วยงานอื่น ซึ่งชี้ให้เห็นถึงผลกระทบระดับลุ่มน้ำที่ไม่อาจแก้ไขเยียวยาได้ 

ทั้งนี้ เนื่องจากเขื่อนในแม่น้ำโขงสายประธาน หากมีการสร้างเขื่อนหลวงพระบางจริง ประกอบกับเขื่อนปากแบง เขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนปากลาย ย่อมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสมบูรณ์ต่อแม่น้ำโขง ซึ่งไหลตามแนวพรมแดนทางตอนเหนือของลาว ทำให้แม่น้ำกลายเป็นทะเลสาบในหลายระดับ และจะส่งผลให้เกิดความเสียหายที่ร้ายแรงและไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ต่อสุขภาวะและผลิตภาพของแม่น้ำ โดยจะทำให้เกิดการสูญเสียคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นประโยชน์ที่ได้จากแม่น้ำสายนี้ และจะทำให้แม่น้ำกลายเป็นเพียงคลองส่งน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า ให้ประโยชน์เป็นส่วนใหญ่กับบริษัทไฟฟ้าพลังน้ำเท่านั้น  เครือข่ายฯ ระบุ

เครือข่ายฯ ยังระบุอีกว่า ผลการปรึกษาหารือล่วงหน้าสำหรับสี่เขื่อนในแม่น้ำโขงสายประธาน ได้แก่ เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนดอนสะโฮง เขื่อนปากแบง และเขื่อนปากลาย จนถึงปัจจุบัน ไม่สามารถแก้ไขตามข้อกังวลเนื่องจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ และยังมีข้อเสนอให้ทำการศึกษาและหาข้อมูลเพิ่มเติม สืบเนื่องจากข้อบกพร่องร้ายแรงของการปรึกษาหารือล่วงหน้าจนถึงปัจจุบัน 

หากไม่มีการปฏิรูปกระบวนการนี้อย่างจริงจัง ย่อมแทบไม่มีโอกาสที่การปรึกษาหารือล่วงหน้าสำหรับเขื่อนหลวงพระบางจะแตกต่างจากกระบวนการที่เกิดขึ้นในอดีต ทั้งย่อมไม่สามารถประกันให้เกิดความโปร่งใสและความรับผิดตามมาตรฐานขั้นต่ำได้ ยังไม่ต้องพูดถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป เครือข่ายระบุ