เรียนแพทย์ 7 ปี ได้ 2 ปริญญา หลักสูตรแรกประเทศไทย

เรียนแพทย์ 7 ปี ได้ 2 ปริญญา หลักสูตรแรกประเทศไทย

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดตัวหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต 7 ปี 2 ปริญญา หลักสูตรแรกประเทศไทย โดยเป็นความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยยูซีแอล และ รพ.ตำรวจ ในการสนับสนุนภารกิจด้านการจัดการเรียนการสอนทางคลินิกโดยเป็นสถานฝึกปฏิบัติทางคลินิก

สำหรับหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตแนวใหม่เกิดขึ้นจากพระวิสัยทัศน์ และสายพระเนตรที่ยาวไกลใน ศ.ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยมีเป้าหมายในการร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต เพื่อยกระดับระบบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ไทยสู่สากล ทั้งในระดับป.ตรี และ ป.โท ตั้งเป้าผลิตบัณฑิตทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพในสาขาที่ขาดแคลน สร้างบุคลากรทางการแพทย์ที่มีทักษะวิชาชีพที่เป็นเลิศ ทั้งด้านการวิจัย การแพทย์ และสหเวชศาสตร์ด้วยเทคนิคการเรียนการสอนที่ทันสมัย พร้อมทั้งพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ

157063293198

นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และรักษาการอธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ กล่าว ในงานแถลงข่าว ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เปิดตัวหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2563 ว่า หลักสูตรดังกล่าว ถือเป็นหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต 7 ปี 2 ปริญญา หลักสูตรแรกของประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลตามเกณฑ์ WFME โดยสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาแพทยศาสตร์ (สมพ.) และแพทยสภา บูรณาการความร่วมมือระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับมหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร ที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก และ รพ.ตำรวจ ซึ่งจะเป็นสถานฝึกปฏิบัติทางคลินิกหลักในหลักสูตรนี้ โดยมี รพ.จุฬาภรณ์ รพ.เพชรบูรณ์ และรพ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด ร่วมสอน

157063293050

หลักสูตรได้พัฒนาทั้งวิธีการเรียนการสอน การประเมิน การติดตามผลที่มุ่งบูรณาการความรู้ ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ เทคโนโลยี และคิดค้นคว้านวัตกรรม พร้อมโอกาสที่จะได้เข้าร่วมศึกษาและทำงานวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ณ มหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร โดยได้ยกระดับหลักสูตรการเรียนการสอนสู่มาตรฐานสากลเพื่อการผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีศักยภาพขั้นสูง นักศึกษาแพทย์ที่ได้เข้ามาศึกษาในหลักสูตรนี้จะใช้ระยะเวลาเรียน 7 ปี และเมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับ 2 ปริญญา คือ ปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต (พบ.) MD จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และปริญญา iBSc จากมหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร” นพ.นิธิ กล่าว

พญ.จิรายุ เอื้อวรากุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวถึงความแตกต่างของหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตแนวใหม่ว่า หลักสูตรได้มีการจัดการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงในแนวราบของแต่ละชั้นปีเรียกว่า “Horizontal Modules” ซึ่งนักศึกษาจะได้เรียนรู้ด้วยการผสมผสานวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก โดยนักศึกษาจะเริ่มเรียนรู้จากผู้ป่วย และฝึกปฏิบัติด้วยสถานการณ์จำลองการเป็นแพทย์ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1

157063292851

พร้อมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองในพื้นฐานทางคลินิก โดยใช้รูปแบบการเรียนการสอน และการประเมินอย่างต่อเนื่องผ่านเทคโนโลยีการศึกษา รวมถึงการปูพื้นฐานให้นักศึกษาฝึกหัดค้นคว้าและรู้จักใช้ข้อมูลที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสมผ่านกระบวนการ Evidence based practice และหลักสูตรเน้นการประเมินผลแบบ Formative Assessment เพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ของนักศึกษาแพทย์ในทุกรายวิชาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีทักษะวิชาชีพที่เป็นเลิศ และเป็นแพทย์ที่มีคุณธรรมจริยธรรม

นอกจากนี้ นักศึกษาจะได้ฝึกคิดค้นคว้าสิ่งใหม่ๆ ผ่านกระบวนการวิจัยตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 และได้เดินทางไปศึกษาและปฏิบัติเรียนรู้กระบวนการวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ณ มหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร มุ่งเน้นการบูรณาการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ครอบคลุมทุกสาขาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 จนถึงปีที่ 7 โดยเชื่อมโยงการเรียนรู้ผ่าน Vertical Modules” 6 คอลัมน์ เพื่อฝึกให้นักศึกษาแพทย์ได้คิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ รู้จักใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย และมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องแบบเป็นองค์รวม

157063292925

“ในรุ่นแรก เปิดรับ 32 คน และจะขยายในอนาคต เพราะเราต้องการคนที่มีคุณภาพ เราเน้นทำกิจกรรมด้วย ดังนั้น ตอนคัดเลือกเด็กจึงต้องเอาคนที่มีคุณสมบัติ ไม่ใช่แค่กวดวิชาอย่างเดียวแต่ไม่สนใจกิจกรรม แต่เราจะเลือกเด็กที่สนใจกิจกรรม ดนตรี กีฬา ฯลฯ และต้องใช้ภาษาได้ดีด้วย ขณะที่อาจารย์ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ไทยเก่งๆ ที่ได้ทุนรัฐบาล จบเมืองนอกในสถาบันที่มีชื่อเสียง เป็นหมอที่เชี่ยวชาญ เก่งวิจัย และมีความเป็นแพทย์ เราต้องคัดเลือก เพราะเขาต้องเป็น Role Model ให้นักศึกษา คุยกับคนไข้ได้ มีใจที่เมตตา และต้องมีรับความผิดชอบต่อสังคม” พญ.จิรายุ กล่าว

สำหรับโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติทางคลินิก ถือเป็นโรงพยาบาลของรัฐ สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระดับตติยภูมิ ขนาด 750 เตียง เฉลี่ยให้การตรวจรักษาผู้ป่วยนอก 7 แสนรายต่อปี ผู้ป่วยใน 1.7 หมื่นรายต่อปี มีศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์เฉพาะทาง อาทิ ศูนย์รักษาโรคหัวใจ ศูนย์รักษาโรคสมอง ศูนย์อุบัติเหตุ และการขนส่งทางอากาศ ศูนย์การผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็กด้วยกล้องสามมิติและหุ่นยนต์ ศูนย์การรักษาโรคกระดูกและข้อ ศูนย์โรคไต เป็นต้น

พลตำรวจโท วิฑูรย์ นิติวรางกูร นายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวว่า รพ.ตำรวจ ถือเป็นสถาบันการฝึกปฏิบัติที่ได้รับความสนใจและน่าเชื่อถือจากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ขอให้เข้าร่วมเป็นสถาบันผลิตแพทย์ให้กับประเทศอย่างต่อเนื่องทุกปี เรามีความพร้อมทั้งในด้านการเป็นสถาบันการแพทย์ระดับตติยภูมิที่จะสนับสนุนการฝึกทักษะวิชาชีพของนักศึกษาแพทย์ให้มีความเป็นเลิศและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพทางการแพทย์ขั้นสูงให้กับนักศึกษา โดยมีคณาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากที่พร้อมดูแลนักศึกษาอย่างอบอุ่นและมีคุณภาพ เพื่อสนองพระปณิธานในองค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพงานแพทยศาสตรศึกษาให้มีประสิทธิภาพอย่างเต็มกำลังต่อไป

157063292961

หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรใหม่ จะเปิดรับนักศึกษาแพทย์รุ่นแรกในปีการศึกษา 2563 จำนวน 32 คน โดยวิธีรับตรงผ่านระบบ TCAS รอบ Portfolio เป็นหลัก และพิจารณาคัดเลือกโดยดูจาก Portfolio และสัมภาษณ์แบบ Multiple mini-interview (MMI) สามารถติดตามรายละเอียดการรับสมัครได้ทาง เฟซบุ๊ค https://www.facebook.com/MDPH.CRA และ www.pccms.ac.th