รู้ทัน 'โรคชิคุนกุนยา' อีกหนึ่งภัยร้ายที่มาจากยุงลาย
โรคชิคุนกุนยาเป็นโรคที่มีความรุนแรงแต่ไม่อันตรายเท่าโรคไข้เลือดออก แนะผู้ป่วยนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด ปฏิบัติตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค หากมีอาการไข้สูง ปวดข้อ ผื่นขึ้นให้รีบพบแพทย์
นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคชิคุนกุนยา หรือ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่มียุงลายสวนและยุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค พบได้ทุกกลุ่มอายุ รวมทั้งเด็กเล็ก มีอาการคล้ายโรคไข้เลือดออก แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีการช็อก โดยทั่วไปเมื่อผู้ป่วยถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยากัด จะมีระยะฟักตัวของโรค 1-12 วัน แต่ที่พบบ่อยจะอยู่ที่ประมาณ 2-4 วัน และเมื่อครบระยะฟักตัวผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน โดยอาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ประมาณ 2-4 วัน และไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย เนื่องจากเส้นเลือดฝอยในชั้นผิวหนังมีการขยายตัว อาจมีอาการคันร่วมด้วย บางรายอาจมีตาแดง อาการที่พบเด่นชัดในผู้ใหญ่นอกจากปวดข้อรุนแรงแล้ว อาจมีอาการข้ออักเสบร่วมด้วย เช่น ข้อมือ ข้อเท้า ข้อศอก ข้อเข่า เป็นต้น อาการปวดข้อจะพบได้หลายๆ ข้อ และเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ บางครั้งอาจรุนแรงมากจนไม่สามารถขยับข้อได้ โดยอาการจะหายภายใน 1-12 สัปดาห์ นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา และบางรายอาการปวดข้อจะอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี แต่สำหรับในเด็กจะมีอาการไม่รุนแรงเท่าผู้ใหญ่
นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคชิคุนกุนยามีความแตกต่างจากโรคไข้เลือดออก โดยโรคนี้จะไม่มีเกล็ดเลือดต่ำอย่างมากจนมีเลือดออกรุนแรง ไม่มีผนังเส้นเลือดฝอยผิดปกติอย่างมากจนมีสารน้ำรั่วจากเส้นเลือดอย่างรุนแรง ซึ่งทำให้ความดันโลหิตต่ำและเกิดอาการช็อก อีกทั้ง โรคชิคุนกุนยาจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตอย่างโรคไข้เลือดออก แต่จะปวดตามข้อต่างๆ ของร่างกาย โดยทั่วไปโรคนี้ไม่มีการรักษาที่จำเพาะเจาะจง แต่เป็นการรักษาแบบประคับประคอง เช่น การให้น้ำเกลือ หรือการดูแลรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ (ห้ามใช้ยาแอสไพรินลดไข้เป็นอันขาดเนื่องจากจะทำให้เลือดออกง่ายขึ้น) ยาบรรเทาอาการปวดข้อ เช็ดตัวด้วยน้ำสะอาดเพื่อช่วยลดไข้ ดื่มน้ำและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการถูกยุงกัดเพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น และปฏิบัติตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำจะต้องปิดฝาให้มิดชิด หรือหมั่นทำความสะอาด เปลี่ยนถ่ายน้ำ ใส่ทรายหรือแบคทีเรียกำจัดลูกน้ำป้องกันไม่ให้ยุงลายมาวางไข่ ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ถึง 3 โรค คือ โรคชิคุนกุนยา หรือ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย โรคไข้เลือดออก และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ทั้งนี้ ควรดูแลรักษาสุขภาพและรับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงและมีอนามัยที่ดีอยู่เสมอ อย่างไรก็ตามหากพบอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป