พบขยะพลาสติกจากแบรนด์สินค้าดัง ตกค้างในสิ่งแวดล้อม
องค์กรต้านมลพิษกรีนพีซ เรียกร้องให้ทบทวนปฏิญญากรุงเทพว่าด้วยขยะทะเลในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่จะถึง
ในวาระที่ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ที่จะถึงนี้ กรีนพีซประเทศไทยเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียนทบทวนกรอบการปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเลที่เห็นชอบร่วมกันในช่วงเดือนมิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่ได้เน้นถึงสาเหตุที่เป็นรากเหง้าของมลพิษพลาสติกโดยการลดการผลิตพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง และยังล้มเหลวในการพิจารณาปัญหาการนำเข้าขยะและการค้าของเสีย
การเรียกร้องดังกล่าวของกรีนพีซ เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35ในวันที่ 2-4 พฤศจิกายนนี้ และการเปิดเผยรายงานการตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก(Brand Audit) ที่เก็บได้พื้นที่ท่องเที่ยวตัวอย่างจากบริเวณดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ และแหลมสนอ่อน จังหวัดสงขลา เมื่อเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา โดยมีอาสาสมัครและชุมชน เข้าร่วมกว่า 115 คน เก็บรวบรวมขยะพลาสติกได้ทั้งหมด 6,091 ชิ้น เป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกบรรจุภัณฑ์อาหาร 5,485 ชิ้น อุปกรณ์สำหรับการสูบบุหรี่ 231 ชิ้น ส่วนประเภทวัสดุที่พบตกค้างในสิ่งแวดล้อมมากที่สุด คือ พลาสติกอื่นๆ 2,729 ชิ้น รองลงมาคือโพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง (HDPE) 1,016 ชิ้น และ โพลีเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) 986 ชิ้น
โดยกรีนพีซระบุ ผู้ผลิตแบรนด์ในประเทศ 5 อันดับแรกที่พบจำนวนขยะพลาสติกมากที่สุด ได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ โอสถสภา กลุ่มธุรกิจTCP เสริมสุข และสิงห์คอร์เปอเรชั่น ในขณะที่โคคา-โคล่า เนสท์เล่ อายิโนะโมะโต๊ะ มอนเดลีช และยูนิลิเวอร์ คือผู้ผลิตแบรนด์ข้ามชาติ 5 อันดับแรก ที่พบจำนวนขยะพลาสติกมากที่สุดในการสำรวจเดียวกัน
การตรวจสอบแบรนด์ (Brand Audit) ในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ร่วมกันของเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนทั่วโลกในนาม Break Free From Plastic ที่เกิดขึ้น 484 พื้นที่ใน 51 ประเทศทั่วโลก เพื่อนำขยะพลาสติกมาตรวจสอบแบรนด์สินค้าที่พึ่งพาพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง
และโคคา-โคล่า เนสท์เล่ และเป๊ปซี่โค เป็นแบรนด์ข้ามชาติ 3 อันดับแรกที่เจอมากที่สุดในการตรวจสอบแบรนด์จากหลายร้อยพื้นที่ทั่วโลก โดยเป็นปีที่สองแล้วที่แบรนด์ดังกล่าวยังคงติดอันดับขยะพลาสติกที่พบมากที่สุดในสิ่งแวดล้อม
พิชามญช์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซประเทศไทย กล่าวว่า มีหลักฐานมากขึ้นจากผลการตรวจสอบแบรนด์จากขยะพลาสติกว่า บริษัทผู้ผลิตสินค้าจำเป็นต้องลงมือทำอย่างเร่งด่วนเพื่อกู้วิกฤตมลพิษพลาสติกที่ตนก่อขึ้น การที่บริษัทต่างๆ ยังพึ่งพาบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง ก็หมายถึงปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้นในสิ่งแวดล้อม การรีไซเคิลยังคงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
ดังนั้น บริษัทผู้ผลิตสินค้าต้องหยุดการผลิตพลาสติกใช้แล้วทิ้งและหาทางออกที่สร้างสรรค์ซึ่งเน้นระบบทางเลือกในการจัดส่งและกระจายสินค้าที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ พิชามญช์กล่าว
อภิศักดิ์ ทัศนี ตัวแทนกลุ่ม Beach for Life ที่เข้าร่วมตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกที่จังหวัดสงขลา กล่าวว่า กระแสหลักของสังคมส่งผลให้ขยะพลาสติกเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคและคนในชุมชนต้องรับผิดชอบ แต่แท้ที่จริง ขยะพลาสติกคือเรื่อง “มลพิษ” ที่เกี่ยวข้องกับการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตต่อทั้งวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกด้วย
“เราหวังว่าการตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกในครั้งนี้ จะทำให้ผู้ผลิตมีภาระรับผิดต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและทางสังคมจากมลพิษพลาสติกที่เกิดขึ้นจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วทิ้งของตน”อภิศักดิ์กล่าว
กรีนพีซเรียกร้องให้บริษัทต่างๆ โดยเฉพาะภาคการผลิตสินค้า Fast Moving Consumer Goods (FMCG) ลดการพึ่งพาบรรจุภัณฑ์พลาสติก และให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นกับแนวทางปฏิบัติ 4 ประการคือ การเปิดเผยข้อมูล “รอยเท้าพลาสติก(plastic footprint) ซึ่งหมายถึงปริมาณพลาสติกที่บริษัทใช้ในห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์และการขนส่งภายในช่วงเวลา 12 เดือนที่มีการระบุไว้ โดยสาธารณชนสามารถเข้าถึงได้, การมุ่งมั่นที่จะลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งโดยการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในแต่ละปี, การขจัดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เป็นปัญหาและไม่จำเป็นมากที่สุดภายปี 2562, และการลงทุนกับระบบนำกลับมาใช้ซ้ำและระบบกระจายสินค้าแบบใหม่
จากกระแสเรียกร้องที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้แบรนด์ดังหลายๆแบรนด์ รวมทั้ง เนสท์เล่ โคคา-โคลา ต่างขยับตัวพยายามปรับเปลี่ยนการใช้ผลิตภัณฑ์แพคเกจจิ้งของตนในหลายรูปแบบเช่นกัน