3 นวัตกรรมชุมชน มทร.ธัญบุรี “สู่” ชุมชนบ้านแสนสุขสกัดห้า

3 นวัตกรรมชุมชน มทร.ธัญบุรี “สู่” ชุมชนบ้านแสนสุขสกัดห้า

3 นวัตกรรมชุมชน ของนศ.รายวิชาเลือกเสรี “นวัตกรรมเพื่อชุมชน” มทร. ธัญบุรี ด้วยการบูรณาการเรียนการสอน ประยุกต์องค์ความรู้สู่การสร้างนวัตกรรมสู่ชุมชน ซึ่งห้องเรียนในครั้งนี้ ได้แก่ ชุมชนบ้านแสนสุขสกัดห้า หมู่ 5 ต.บึงกาสาม อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี

นายวิรัช โหตระไวศยะ รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เผยว่า การเรียนการสอนโดยใช้ห้องเรียนชุมชนเป็นแหล่งในการค้นคว้า เรียนรู้ องค์ความรู้ต่าง ๆ ได้เห็นสภาพชุมชนที่แท้จริง ปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่ ความต้องการของชุมชนมาเป็นโจทย์ให้นักศึกษา มาพัฒนานวัตกรรมใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนนอกจากนั้นนักศึกษาได้บูรณาการเชื่อมโยงข้ามศาสตร์องค์ความรู้ต่าง ๆ

"ปลายทาง ได้รู้การทำงานเป็นทีม Soft Skill ความมีน้ำใจ ความเอื้ออาทรต่อสังคม เพราะฉะนั้นทางมหาวิทยาลัยจึงได้สร้างรายวิชาใหม่ขึ้นมา คือ วิชานวัตกรรมเพื่อชุมชน โดยมีหน่วยกิตเรียนทั้งหมด 3 หน่วยกิต เรียนในห้องเรียน 20% และอีก 80% ลงชุมชน เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ของชุมชน โดยได้เปิดทำการเรียนการสอน ปีการศึกษา 2562 เป็นปีแรก โดยคณาจารย์ที่มาสอน เป็นคณาจารย์ที่ลงพื้นที่ในการบริการวิชาชุมชน เป็นทีมทำงานจิตอาสาที่ไม่มีค่าตอบแทน ช่วยด้วยความตั้งใจ" นายวิรัช กล่าว

157322173693

ทางด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุมานิการ์ จันทร์บรรเจิด กล่าวเพิ่มเติมว่า นวัตกรรมที่สร้างขึ้น ตามความต้องการของชุมชน โดยใช้กระบวนการ “ความคิดเชิงนวัตกรรม” คือ นักศึกษาต้อง เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาไปสู่นวัตกรรม ตามความต้องการของชุมชน โดยนักศึกษาเรียนรู้จากการลงมือทำ ถูกฝึกในการหาข้อมูลโดยใช้กระบวนการ เช่น การสัมภาษณ์ การสังเกต และการวิเคราะห์ข้อมูล ในรูปของแผนที่เดินดิน ปฏิทินชุมชน โครงสร้างองค์กรของชุมชน และประวัติศาสตร์ชุมชน เป็นต้น

โดยผ่านกลไกในการทำงานเป็นทีม นำข้อมูลมาบูรณาการด้วยการวิเคราะห์ และสังเคราะห์ ศึกษาความต้องการที่แท้จริงของชุมชน กับทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน กลายเป็น “โมเดลต้นแบบของนวัตกรรม” ปัจจัยความสำเร็จของการเรียนวิชานี้ ไม่ได้ดูที่ผลคะแนน หรือความพึงพอใจของตัวผู้เรียน แต่ดูที่เมื่อนำเสนอร่างของนวัตกรรม ชุมชนพึงพอใจ นำไปต่อยอด นั้นคือความสำเร็จ

ตัวแทนกลุ่ม “ปุ๋ยอัดเม็ดจากฟางข้าว” นางสาวหทัยนุช วงษ์ขำ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการผลิตพืช เล่าว่า ชุมชนมีการทำนา หลังจากทำนามีฟางข้าว โดยชาวนาจะเผาทิ้ง สร้างมลพิษ ทำให้โลกร้อน โดยจากการศึกษาพบว่า ฟางข้าวเป็นหัวเชื้อปุ๋ยชั้นดี ฟางข้าว 1 ส่วน เท่ากับมูลวัว 10 ส่วน ทางกลุ่มจึงได้คิดค้นสูตรปุ๋ยอัดเม็ดจากฟางข้าวขึ้นมา สามารถนำมาใช้กับพืชผลทางการเกษตร ลดต้นทุนในการซื้ปุ๋ย ซึ่งสูตรปุ๋ยเป็นสูตรที่เคยเรียนในวิชาเรียน

157322215871

"ขั้นตอนในการทำปุ๋ย คือ นำฟางข้าวและมูลสัตว์มาวางสลับชั้นกัน ความหนาประมาณ 10 เซนติเมตร จากนั้นรดน้ำที่ผสมจุลินทรีย์ช่วยการย่อย รดทุกวัน หากพื้นที่ชิ้นและร่มสามารถรดน้ำอาทิตย์ละครั้ง คลุมด้วยพลาสติกทึบ เมื่อปุ๋ยย่อยจนละเอียดนำไปตากแดดฆ่าเชื้อ 1-2 วัน นำมาอัดขึ้นรูปอัดเม็ดและบรรจุภัณฑ์เพื่อความสะดวกในการใช้งาน เก็บรักษาได้ง่าย ต่อยอดนำปุ๋ยอัดเม็ดจากฟางข้าวไปจัดจำหน่าย สร้างได้ให้กับคนในชุมชนต่อไป"

ทางด้าน นางสาวอติวัณณ์ สุดใจดี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการผลิตพืช ตัวแทนกลุ่ม กับดักแมลงวันทองชีวภาพ โดยการใช้สารสกัดจาก “กะเพรา” เล่าว่า จากการเก็บข้อมูลในการลงพื้นที่ ชาวบ้านบอกว่าแมลงวันทอง เป็นศัตรูตัวสำคัญในสวนกล้วยและไม้ผล เข้าไปวางไข่ทำลายเนื้อในของพืชผล จึงการหาข้อมูลการกำจัดแมลงวันทอง ส่วนใหญ่ใช้การวางกับดักล่อ โดยใช้ฟิโรโมน เป็นตัวล่อ ซึ่งจากการสำรวจ “กะเพรา” เป็นวัตถุดิบในพื้นที่มีจำนวนมาก

157322193374

"ซึ่งกะเพราะมีกลิ่นเฉพาะตัว สามารถนำมาใช้เป็นฟิโรโมนแมลงวันทอง ที่สำคัญเป็นวัตถุดิบในชุมชน จึงนำใบกะเพรามาสกัดเป็นสารสกัดจากใบกระเพรา โดยนำใบกะเพรามาหมักกับแอลกอฮอล์ ทิ้งไว้ 7 วัน ส่วนกับดักใช้ขวดพลาสติก เจาะรูข้างขวด เป็นรูปสามเหลี่ยม ไม่ต้องใหญ่มาก ใช้ลวดเจาะรูบนฝาขวด สอดลวดเข้าไปในรูแล้วขดลวดบริเวณใต้ฝาและบนฝา เพื่อยึดไม่ให้ลวดขยับ นำสำลีที่ชุปสารสกัดกะเพรามาเกี่ยวลวด จากนั้นนำไปแขวนตามจุดที่ต้องการดักแมลงวันทอง"

ด้าน ตัวแทนกลุ่ม กระดาษจากตะไคร้ นายกิตติชัย พุ่มไม้ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เล่าว่า ชุมชนมีการปลูกตะไคร้จำนวนมาก ซึ่งราคาของตะไคร์ถูก จึงมีแนวคิดเพิ่มมูลค่าให้กับตะไคร์ ในกลุ่มจึงศึกษาและปรึกษาอาจารย์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากตะไคร์ โดยการนำตะไคร์ทั้งส่วนของลำต้น และใบมาทำเป็นกระดาษ โดยกระบวนการในการทำไม่ยุ่งยาก ชาวบ้านในชุมชนสามารถทำได้

157322193317

"ลักษณะของกระดาษตะไคร์มีกลิ่นเฉพาะตัว สามารถนำมาต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์งานประดิษฐ์ เช่น โคมไฟ เป็นในรูปแบบใหม่ที่ทันสมัยและสามารถนำไปใช้งานได้จริง สร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าในวัตถุดิบในชุมชน เป็นผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ของชุมชน"

เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการเรียนการสอน โดยการบูรณาการเรียนการสอนโดยใช้ชุมชนเป็นห้องเรียน ผ่านกระบวนการคิดในเชิงนวัตกรรม การสร้างนวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนนวัตกรรมเพื่อชุมชนการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง