เตือนกินอาหารผสมกัญชา ออกฤทธิ์เหมือนการเสพ
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตือนอันตรายการกินอาหารผสมกัญชา ออกฤทธิ์ได้เหมือนการเสพ
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กัญชาจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 สามารถนำกัญชาไปทำการศึกษาวิจัย และพัฒนาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และนำไปใช้ในการรักษาโรคภายใต้การดูแลและควบคุมของแพทย์เท่านั้น ในประเทศไทย ยังไม่ได้รับการยกเว้น หรืออนุญาตให้ผลิต หรือนำเข้ากัญชาที่ผสมในอาหาร หรือเครื่องดื่ม แต่มีบางประเทศ เช่น รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา แคนาดาอนุญาตให้นำกัญชาผสมในขนม อาหาร หรือเครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ และประชาชนสามารถใช้ได้เองอย่างถูกกฎหมาย ในรูปแบบของ คุกกี้ บราวนี่ ช็อกโกเลต ลูกอม อมยิ้ม เยลลี่ ขนมขบเคี้ยว หรือเครื่องดื่ม แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการควบคุมคุณภาพในการผลิต ไม่มีสารอื่นๆ ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย มีการจำกัดปริมาณและต้องมีฉลากระบุปริมาณของสารไว้อย่างชัดเจนภายใต้กฎหมายควบคุม และบรรจุในภาชนะที่ป้องกันเด็ก เนื่องจากอาจเข้าใจผิดว่าเป็นขนมเพราะส่วนใหญ่จะมี สี กลิ่น รส น่ารับประทาน จนทำให้เกิดอันตรายได้
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า กัญชามีสารสำคัญตัวหนึ่งคือ ทีเอชซี ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง คือ มีฤทธิ์ต่อสมองและทำให้ร่างกายอารมณ์ และจิตใจเปลี่ยนแปลงไป ทีเอชซีจะออกฤทธิ์กระตุ้นประสาททำให้ อารมณ์ดี หัวเราะและหัวใจเต้นเร็ว ต่อมาจะกดประสาททำให้ผู้เสพมีอาการมีนงง เซื่องซึมและง่วงนอน หากเสพเข้าไปในปริมาณมากๆจะหลอนประสาททำให้เห็นภาพลวงตา หูแว่ว ความคิดสับสน ควบคุมตนเองไม่ได้ มีการนำมาใช้ ในทางที่ผิดโดยการสูบ เคี้ยว หรือผสมกัญชาลงในอาหารในกรณีสูบกัญชาจะเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็วภายใน 2-3 นาที และจะออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทได้สูงสุดถึง 1 ชั่วโมง แต่การรับประทานใช้เวลาในการออกฤทธิ์นานราวหนึ่งชั่วโมงหรือมากกว่า และจะถูกเปลี่ยนแปลงในร่างกาย และถูกขับออกทางปัสสาวะเป็นส่วนใหญ่ ในกรณีไม่เคยเสพกัญชา จะอยู่ในร่างกายได้นาน 2-5 วัน สามารถตรวจหาสารสำคัญของกัญชาได้ในปัสสาวะ ด้วยชุดทดสอบกัญชาเบื้องต้นและ ยืนยันผลโดยใช้เครื่องมือชั้นสูง ได้แก่ เครื่องแก๊สโครมาโตกราฟี-แมสสเปกโทรมิเตอร์ (GC-MS) ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั้งที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักยาและวัตถุเสพติด
“การรับประทานอาหารที่ผสมกัญชา ออกฤทธิ์ได้เช่นเดียวกับการเสพ แต่ช้ากว่า จึงพบอาการข้างเคียงจากการใช้กัญชาในปริมาณเกินขนาดจนเกิดอันตรายได้ แต่อย่างไรก็ตาม การออกฤทธิ์จะขึ้นกับชนิด ปริมาณของสารสำคัญ และการตอบสนองที่แตกต่างกันในแต่ละคน การรับประทานจะไม่ทำให้กลิ่นติดตัวเหมือนการสูบ จึงนิยมใช้ในสถานบันเทิง การผสมในอาหารส่วนใหญ่จะมีสี กลิ่น และรสที่น่ารับประทาน จะไม่สามารถสังเกตได้จากลักษณะภายนอกว่ามีกัญชา ผสมหรือไม่ แต่อาจสังเกตที่สัญลักษณ์บนฉลากจะมีคำว่า cannabis, THC, CBD หรือ Hemp ต้องระมัดระวัง และไม่รับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มจากคนแปลกหน้า และให้ความรู้กับเยาวชนเพื่อป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้นได้” นายแพทย์โอภาสกล่าว