9 เครือข่ายเยาวชนจี้รัฐ อย่าเอื้อประโยชน์ธุรกิจ 3สารเคมีเหนือสุขภาพคน

9 เครือข่ายเยาวชนจี้รัฐ อย่าเอื้อประโยชน์ธุรกิจ 3สารเคมีเหนือสุขภาพคน

9 เครือข่ายเยาวชนจี้รัฐเดินหน้ายกเลิกใช้ 3 สารพิษอันตรายภายใน 1 ธ.ค.62 สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ลูกหลานไทย ระบุสารพิษอันตรายส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อร่างกาย-สังคมไทย เป็นอุปสรรคที่สำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

     วันนี้( 26 พ.ย.) ที่กระทรวงสาธารณสุข 9 เครือข่ายเยาวชน ประกอบด้วย เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง (Active youth) เครือข่ายเยาวชนปกป้องสิทธิ เครือข่ายเยาวชนจิตอาสา เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน เครือข่ายเยาวชนนักขับเคลื่อนสังคม เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต และขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคเยาวชน ราว 40 คน ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) เพื่อแสดงถึงการสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาล เดินหน้าแบน 3 สารพิษอันตราย สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ลูกหลานไทย โดยมีการนำปิ่นโตใส่อาหารมาร่วมกันทานหน้ากระทรวงสาธารณสุข เพื่อสื่อถึงความต้องการอาหารที่ปลอดจากสารเคมีให้เด็กเยาวชนได้เติบโตอย่างปลอดภัย มีคุณภาพที่ดี หลังพบข้อมูลสารเคมีทางการเกษตรทำเด็กสมองฝ่อ มีปัญหาด้านพัฒนาการ เสี่ยงออทิสติก
        นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวภายหลังเป็นผู้แทนรับหนังสือว่า จะนำเรียนรมว.สธ. ซึ่งจุดยืนของสธ.เหมือนเดิมคือสนับสนุนให้มีการแบน 3 สารเคมีอันตราย เพราะเกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรที่ได้รับสารเคมีโดยตรง ซึ่งพบการเสียชีวิตเฉียบพลัน ขณะที่ ผู้บริโภคก็ได้รับอาหารที่ปนเปื้อนสารพิษ สะสมในร่างกายและกระทบต่อสุขภาพระยะยาว
         นายสุรนาถ แป้นประเสริฐ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง (Active youth) กล่าวว่า เครือข่ายเป็นกลุ่มเยาวชนที่ทำงานด้านการพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเด็ก เยาวชน และประชาชนมาในหลายประเด็น ซึ่งเยาวชนเป็นผู้บริโภคคนหนึ่ง ที่อยากส่งเสียงในฐานะคนที่ต้องกิน ต้องบริโภค ที่ผ่านมาเครือข่ายได้ติดตามสถานการณ์กรณีการแบนสารเคมีกำจัดวัชพืชอันตรายร้ายแรง ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติให้แบน 3 สารพิษอันตรายดังกล่าวเมื่อวันที่ 22 ต.ค.2562 แต่ล่าสุดมีสัญญาณจากบางหน่วยงานออกมาว่า จะมีการเตรียมเสนอยืดระยะเวลาการแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดออกไปอีก 6 เดือนนั้น
          

         ในฐานะกลุ่มคนทำงานด้านเด็กและเยาวชนและเป็นเยาวชนผู้บริโภค จึงมีจุดยืนและข้อเสนอกรณีการแบน 3 สารพิษอันตรายต่อกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)และรัฐบาล คือ 1. เครือข่ายฯขอสนับสนุนให้รัฐบาลเดินหน้ายกเลิกการใช้ 3 สารพิษอันตราย ภายในวันที่ 1 ธ.ค.พ.ศ.2562 ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย และขอให้ยึดมั่นในจุดยืนเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ มากกว่าผลประโยชน์ทางการค้า 2. เครือข่ายสนับสนุนให้รัฐบาล ดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อทำให้เด็ก เยาวชน และพลเมืองทุกคนของประเทศนี้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย และเติบโตภายใต้บริบทสังคมที่มีไม่เป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการของเด็ก ทั้งมิติทางอาหาร และสิ่งแวดล้อม
           3. เครือข่ายฯ มีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมี ซึ่งก็คือญาติพี่น้อง พี่ป้าน้าอาของเรา จึงขอสนับสนุนให้มีการใช้แนวทางเกษตรกรรมและการผลิตอาหารที่ยั่งยืน เพื่อความปลอดภัยของเกษตรกรและผู้บริโภค โดยการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากภาครัฐ และ 4 เครือข่ายขอชื่นชมจุดยืนของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีความชัดเจนในการปกป้องสุขภาพของประชาชน และยินดีเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและพัฒนาประเทศของเรา ให้มีระบบอาหารที่ปลอดภัยและเป็นธรรมต่อผู้บริโภค
           นายสุรนาถ กล่าวด้วยว่า มีข้อมูลจากหลายหน่วยงานที่เชื่อถือได้และมีความเป็นกลางชี้ชัดว่า เมื่อมีการตรวจสอบสารตกค้างในพืชผักผลไม้ที่มีขายอยู่ในท้องตลาด ตลอดจนห้างสรรพสินค้าต่างๆ พบค่าของการปนเปื้อนสารเคมีเกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของผู้บริโภค เช่น เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง โรคเนื้อเน่า และสารพัดโรค ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือการส่งผลต่อการเป็นออทิสติกในเด็ก มีปัญหาต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กๆ ซึ่งจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต รวมไปถึงการส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทั้งน้ำ ดิน และสัตว์ต่างๆ อาทิ ปู ปลา กบ ที่เป็นอาหารของคนไทยต่างมีสารปนเปื้อนในระดับที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ที่สำคัญมากคือคุณภาพชีวิตของชาวไร่ชาวนาผู้ใช้สารเคมีเหล่านี้ ต่างก็ได้รับผลกระทบและรับอันตรายทั้งทางตรงและทางอ้อม ท่ามกลางการตักตวงผลประโยชน์ของกลุ่มคนบางกลุ่ม
          “เครือข่ายฯ เห็นว่าที่ผ่านมาประเทศไทยปล่อยให้สารพิษอันตราย ทั้ง 3 ชนิดนี้ สร้างผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพประชาชนมาอย่างยาวนาน เป็นอุปสรรคที่สำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การปล่อยให้ผลประโยชน์ทางธุรกิจของบรรดาพ่อค้าสารเคมี อยู่เหนือสุขภาพความเป็นความตายของประชาชนทั้งในมิติของเกษตรกรผู้ผลิต และผู้บริโภค นับเป็นสถานการณ์ที่น่าเศร้าใจยิ่ง”นายสุรนาถกล่าว