“ทีดีเจ”นำร่องใช้ Youpin ปักหมุดต้นไม้ เก็บดาต้าพัฒนาพื้นที่สีเขียวในอนาคต
TDJ ใช้ Youpin ปักหมุดพื้นที่สีเขียว นำร่อง โรงซ่อมรถไฟ โรงงานมักกะสัน สร้างโอเพ่น ดาต้า (Open Data) และ Tree Census เพื่อให้ผู้ที่สนใจนำไปใช้วิเคราะห์หรือใช้ทำประโยชน์เพื่อสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย
ประเทศไทย ยังไม่เคยมีฐานข้อมูลดาต้า “ต้นไม้ใหญ่” หรือ “ต้นไม้มรดก” ที่จัดเก็บไว้อย่างเป็นระบบ พ.ร.บ.ป่าไม้ ฉบับเดิมปี 2484 ระบุว่า“ไม้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจบางชนิด ได้แก่ ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัน ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พยุงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยุง ไม้ซิก ไม้กระซิก ไม้กระซิบ ไม้พะยูง ไม้หมากพลูตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดำ ไม้อีเฒ่า ไม้เก็ดเขาควาย ไม่ว่าจะขึ้นอยู่ในที่ใดๆ ก็ตามในราชอาณาจักร ถือเป็นไม้หวงห้ามทั้งสิ้น”
ล่าสุด เมื่อเมษายน 2562 รัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ป่าไม้ฉบับใหม่ที่ปลดล็อกการตัดไม้หวงห้าม โดย พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ระบุว่า “ไม้ทุกชนิดที่ขึ้นในที่ดินมีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม” นั้นหมายความว่า การทำไม้โดยเฉพาะไม้มีค่า จึงไม่จำเป็นต้องทำเรื่องขออนุญาตอีกต่อไป
แม้กฏหมายดังกล่าว จะเป็นการปลดล็อกเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้มั่นคงจากการประกอบอาชีพทำไม้ ปลูกป่าเศรษฐกิจ และนำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ แต่ในทางกลับกัน ยังคงเกิดคำถามถึงไม้ที่มีมูลค่า ซึ่งเติบโตอยู่นอกป่าไร้การคุ้มครอง รวมไปถึงต้นไม้ขนาดใหญ่ชนิดอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะหรือในชุมชน ใครจะมีสิทธิ์ในการอนุรักษต้นไม้เหล่านี้
- นำร่อง“Youpin”เก็บดาต้าต้นไม้ไทย
ทีมอาสาสมัคร “ชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกแห่งประเทศไทย” (Thailand Data Journalism Network : TDJ) ร่วมกันจัดทำวิธีการเก็บ Open Data ข้อมูลต้นไม้มรดกและต้นไม้ใหญ่ทั่วประเทศไทยเพื่อระดมข้อมูลเชิงลึก ด้วยการใช้ระบบ “Youpin” (https://beta.youpin.city) ซึ่งเป็น Crowdsourcing Platform พัฒนาโดย “Boonmee Lab” ให้คนไทยได้มีโอกาสช่วยกันปักหมุดเก็บข้อมูลต้นไม้ที่ตัวเองต้องการรักษาไว้ ผลักดันสู่การพัฒนากฎหมายคุ้มครองพื้นที่สีเขียว โดยประชาชนทั่วไปสามารถปักหมุดผ่านโทรศัพท์มือถือได้อย่างง่ายดาย
พงศกร ธีรภาพวงศ์ CTO บริษัท อินดี้ ดิช จำกัด อดีตวิศวกรอาวุโสด้านการพัฒนาซอฟแวร์ จากอเมซอน หนึ่งในทีมอาสาสมัครจาก ทีดีเจ (TDJ) เล่าว่า ความตั้งใจในการทำโปรเจคนี้ คือ ต้องการผลักดันให้คนไทยช่วยกันสำรวจและแชร์ต้นไม้ใหญ่ โดยปักหมุดข้อมูลไปสร้างโอเพ่น ดาต้า (Open Data) และ Tree Census เพื่อให้ผู้ที่สนใจนำไปใช้วิเคราะห์หรือใช้ทำประโยชน์อื่นๆ เพื่อสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยได้ โดยเฉพาะการแบ่งปันข้อมูลต้นไม้สำคัญอายุหลายร้อยปี ที่ตั้งอยู่ในถนนหรือในชุมชนของตนเอง โดยเฉพาะคนเมืองที่ต้นไม้ใหญ่เป็นเสมือนมรดกล้ำค่าที่มีอยู่น้อย และเสี่ยงต่อการถูกตัดโค่นทิ้งได้ตลอดเวลา
- นำร่องสำรวจพื้นที่สีเขียว“โรงงานมักกะสัน”
โรงซ่อมรถไฟ โรงงานมักกะสัน เป็นพื้นที่แรกที่ทาง TDJ เลือกเพื่อทดสอบระบบ โดยได้รับการอนุเคราะห์จากการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2562 ถือเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 109 ปี มีหน้าที่ซ่อมหัวรถจักรและรถโดยสาร ครบวงจร ภายในเต็มไปด้วยอาคารเก่าแก่มีคุณค่า พื้นที่สีเขียว นกนานาชนิด รวมถึงพันธุ์ไม้สำคัญๆ ที่อายุร่วมร้อยปี
และล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ก.ย.ได้กลับไปเก็บข้อมูลต้นไม้ในพื้นที่โรงงานมักกะสันอีกครั้ง โดยร่วมกับ กลุ่ม BIGTrees การรถไฟแห่งประเทศไทย นิสิตนักศึกษา ประชาชนทั่วไป กว่า 50 คน ร่วมกันสำรวจต้นไม้ใหญ่ภายในพื้นที่โรงงานมักกะสัน โดยมีการอธิบายขั้นตอนวิธีใช้ และแบ่งกลุ่มสำรวจเป็น 5 กลุ่ม สำรวจพื้นที่ราว 120 ไร่ ซึ่งพบว่า มีต้นไม้ใหญ่กว่า 100 ต้น โดยต้นไม้ที่สำคัญๆ ได้แก่ ต้นจามจุรี ต้นยางนา ต้นไทร ต้นโพธิ์ ต้นประดู่แดง ต้นพญาสัตบรรณฯลฯ
วรุณวาร สว่างโสภากุล หนึ่งในผู้เข้าร่วมสำรวจต้นไม้ ปกติมีอาชีพทำงานแปล และมีไร่อยู่ที่จังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า เข้าร่วมกิจกรรมนี้เพราะสนใจเรื่องต้นไม้ และธรรมชาติอยู่แล้ว กิจกรรมครั้งนี้ ได้เรียนรู้วิธีการวัดต้นไม้ และเก็บข้อมูลดาต้าผ่านเครื่องมือ Youpin สำหรับในพื้นที่มักกะสัน ข้างในมีพันธุ์ไม้ต่างๆ ที่อุดมสมบูรณ์มาก พื้นที่สีเขียวเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในเขตเมือง การเก็บดาต้าจะช่วยให้มีข้อมูลต้นไม้ นำไปสู่การอนุรักษ์ได้ในอนาคต
- เพราะป่าสามารถอยู่ร่วมกับเมืองได้
ด้าน นำชัย แสนสุภา นายกสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย อธิบายว่า ปัจจุบัน มีเทคโนโลยีและเครื่องมือในการล้อมย้ายต้นไม้ ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศสิงคโปร์ เคยทำการย้ายต้นจามจุรียักษ์ ทั้งต้นไปอยู่ในที่ๆ ดีกว่าเดิม และให้ดิน อาหาร ที่ดีกว่าเดิม โดยย้ายไปทั้งรากกว้าง 6x6 เมตร และขุดลึกลงไป 1 เมตร โดยไม่มีการตัดแต่งกิ่ง
“การย้ายต้นไม้ดังกล่าว ต้องได้รับการวางแผน จัดสรรงบประมาณล่วงหน้า เพราะการย้ายต้นไม้หนักหลายตัน เกี่ยวข้องกับหลายส่วน เช่น เครื่องมือ เครน การขุดดิน เตรียมต้นไม้ให้พร้อมสำหรับการถูกย้าย และที่สำคัญไม่แพ้กันคือ หลังจากย้าย ต้องมีการเสริมรากเทียม ยึดสลิงเพื่อให้ต้นไม้ไม่ล้ม ติดเซ็นเซอร์วัดความเอียงของต้นไม้ โดยลิ้งค์กับแอพพลิเคชั่นแบบเรียลไทม์ ปล่อยให้ต้นไม้โยกได้เล็กน้อยเพื่อให้แทงราก ซึ่งต้องดูแลอย่างต่ำ 5 ปี เพื่อให้ความเอียงอยู่ตัว รวมถึงดูแลสุขภาพต้นไม้ในระยะยาว ดังนั้น ทุกอย่างต้องได้รับการวางแผน"
สำหรับประชาชนที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการระดม “โอเพ่น ดาต้า ปักหมุดต้นไม้มรดก” เพื่อช่วยกันผลักดันกฎหมายคุ้มครองต้นไม้ใหญ่ สามารถเข้าไปได้ที่ https://beta.youpin.city (แฮชแทค #TDJBigtrees หรือ #bigtree)