ฟื้นฟูสภาพจิตใจ 'ญาติ-เหยื่อ' จากอุบัติเหตุ เมาแล้วขับ
จากอุบัติเหตุเมาแล้วขับ ที่ผ่านมา ไม่เพียงแค่ทำให้ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ เสียชีวิต พิการ หรือเสียทรัพย์สิน แต่ยังกระทบถึงครอบครัว และคนรอบข้าง ทั้งสภาพจิตใจ และความเป็นอยู่ โดยเฉพาะหากคนๆ นั้นเป็นเสาหลักของครอบครัว
ข้อมูลผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ปี 2562 จากบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ อุบัติเหตุบนท้องถนน ระบุว่า เกือบครึ่งหนึ่งหรือ 48% เดินทางใกล้บ้านไม่เกิน 5 กิโลเมตร โดยจักรยานยนต์ที่เสียชีวิตถึง 323 ราย พบว่า 41% ไม่มี พ.ร.บ. ทำให้ไม่มีเงินช่วยเหลือเยียวยาทั้งตัวเองและคู่กรณี และ 41% เป็นเสาหลักครอบครัว
ความสูญเสียดังกล่าว ไม่เพียงแค่เกิดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน ของผู้ประสบอุบัติเหตุเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงไปยังครอบครัว และคนรอบข้าง ทั้งสภาพจิตใจ และความเป็นอยู่ โดยเฉพาะหากคนๆ นั้นเป็นเสาหลักของครอบครัว และหากมีความพิการเกิดขึ้น การยอมรับสภาพของผู้ป่วยและครอบครัว ยังเป็นสิ่งที่ยากและต้องใช้เวลา
- การสูญเสีย คือจุดเริ่มต้นของความเจ็บปวด
นิด - รัชธิรัชฎ์ ซุ่นสั้น ภรรยาที่ต้องสูญเสียสามีซึ่งเป็นตำรวจขณะปฏิบัติหน้าที่เคลียร์พื้นผิวจราจร กล่าวในงาน เสวนาสะท้อนสถานการณ์ ปัญหาสุขภาพจิต ในวิกฤตชีวิตญาติและเหยื่ออุบัติเหตุทางถนน ณ เดอะฮอลล์กรุงเทพฯ ว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นกลายเป็นอุบัติเหตุซ้ำซ้อน คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ถึง 5 ราย ทั้งสามีของเธอรวมถึงทีมกู้ภัย แม้เวลาจะผ่านมานานกว่า 2 ปี 7 เดือน แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นยังสร้างบาดแผลให้กับครอบครัว นิดต้องกลายเป็นเสาหลัก แม้จะยังสับสน แต่ก็ต้องยอมรับความจริงให้ได้ ว่าคนที่อยู่ตรงหน้าได้จากไปแล้ว ด้วยน้ำมือของคนที่ไร้สามัญสำนึกบนท้องถนน
“ตอนนั้นรู้สึกเหมือนโดนทิ้ง เราอยู่ด้วยกันมา 4 คนมาตลอด คนที่เข้มแข็งที่สุดในบ้านและเป็นหลักได้จากเราไป เราต้องเป็นหลักให้ลูก เราให้เวลาตัวเอง 7 เดือนในการทำใจ ปิดร้านขายปุ๋ย ในทุกวันที่อยู่บ้าน ไม่ไปไหน ใช้ชีวิตอยู่กับตัวเองและบอกตัวเองทุกวันว่าเดี๋ยวมันก็ผ่านไปและดีขึ้น คนเรามีทั้งความสุขและความทุกข์ เราต้องยอมรับอย่างมีสติว่าต้องอยู่ต่อเพื่อลูก คำถามที่เจอ แล้วรู้ไม่ดี คือ “ผ่านไปตั้งนานแล้ว ยังไม่ลืมอีกเหรอ” นี่คือคำถามที่ทำให้เรารู้สึกแย่ เพราะเขาไม่เคยรู้สึกแบบเรา”
ด้าน นิพนธ์ ทับนิล ซึ่งสูญเสียน้องไอซ์ลูกสาวขณะเรียนอยู่ชั้นปี 2 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ในเหตุการณ์คนเมาแล้วขับรถเสียหลักข้ามเกาะกลางถนน ชนน้องไอซ์เสียชีวิตขณะขับมอเตอร์ไซน์กลับจากทานข้าวพร้อมเพื่อน ที่หน้ามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เหตุการณ์ครั้งนั้น กระทบต่อจิตใจของทุกคนในครอบครัวเป็นอย่างมาก
“ทันทีที่รู้ข่าว ตอนนั้นเหมือนเราไม่ยอมรับความจริง ที่ผ่านมาเราจะคุยเล่นกันสนุกสนาน ลูกจะโทรหาเราทุกวันตอนเที่ยง แต่ทุกวันนี้สิ่งเหล่านี้หายไป 6 เดือน 12 วัน ที่ผ่านมา ไม่เคยลืม บางทีก็เกิดความเครียด ความรู้สึกยังคงหนักหนาอยู่ พอเราคิดถึงลูกความรู้สึกก็จะดาวน์ลง ดังนั้น สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้คือทำบุญ เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจ”
“บางคนบอกว่า “เดี๋ยวก็ลืม” แต่มันลืมไม่ได้ อยู่ที่ว่าเราจะจำเขาในรูปแบบไหน ช่วงหลังเริ่มรู้สึกไม่ไว้ใจตัวเอง รู้สึกมันดาวน์ลง ความรู้สึกมันเพี้ยน และแย่จริงๆ ปกติผมชอบเล่นปืน แต่พอหลังๆ เราไม่จับปืนเลย เราจะไม่เข้าไปอยู่ในห้องที่มีปืนคนเดียว เพราะเรายังมีภรรยา และลูกอีกคน เราพยายามบังคับมันไม่ให้มันเกิด” นิพนธ์ กล่าว
ศักดา บุญสุขศรี หนึ่งในเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเมาของตัวเองเมื่อปี 2540 เล่าว่า ประสบอุบัติเหตุจากการอาสาขี่มอเตอร์ไซน์ไปซื้อเหล้าให้เพื่อน ตอนนั้นคิดว่าร้านห่างออกไปแค่ 800 เมตร ไม่น่าเป็นห่วง ด้วยความชะล่าใจบวกความเมาทำให้ขับรถชนกำแพง ส่งผลให้เป็นอัมพาตครึ่งท่อน จากเป็นเสาหลักให้ครอบครัว แต่ต้องอยู่เฉยๆ ทำงานไม่ได้ พ่อแม่ต้องมาดูแล ความเครียดเริ่มก่อตัวจนคิดฆ่าตัวตายหนีปัญหา แต่โชคดีที่ได้กำลังใจจากครอบครัว จนปัจจุบัน ศักดา ได้เข้าฝึกอาชีพกับโรงเรียนสอนคนพิการ และเป็นอาสาสมัครช่วยรณรงค์ในมูลนิธิเมาแล้วขับ
- ดูแลสภาพจิตใจ ญาติ – เหยื่อ อุบัติเหตุ
รศ.พญ.รัศมน กัลป์ยาศิริ อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนอกจากจะทำให้เกิดการบาดเจ็บทางร่างกายแล้ว ในบางรายอาจได้รับผลกระทบทางจิตใจ จากสภาวะความเครียดที่รุนแรง จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ที่ต้องเผชิญกับความสูญเสียอวัยวะหรือถึงขั้นชีวิต
“ความเครียดนี้แบ่งได้เป็นหลายระดับ อาการเริ่มแรกอาจเรียกว่า “โรคความเครียดจากการได้รับบาดเจ็บ” ผู้ป่วยจะมีภาวะครุ่นคิดกับสิ่งที่เจอ ส่งผลทำให้สภาพจิตใจย่ำแย่ลง เริ่มรู้สึกโทษตัวเอง ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ ท้อแท้ สิ้นหวัง ไม่อยากทำอะไร เศร้า หดหู่ หมดกำลังใจ ทานอาหารและการนอนเริ่มเปลี่ยนแปลง ขั้นหนักสุด คือ ไม่อยากมีชีวิตอยู่ เป็นหลายสัปดาห์ติดต่อกัน และไม่สามารถพยุงความรู้สึกตัวเองได้ อันนี้ถือว่าเป็น โรคซึมเศร้า ซึ่งมักคิดในเรื่องของอนาคตที่ยังมองไม่เห็นหนทาง” รศ.พญ.รัศมน กล่าว
- “PTSD” ความหวาดผวาต่อเหตุการณ์
รศ.พญ.รัศมน กล่าวเสริมว่า นอกจากความเครียดข้างต้นแล้ว ยังมีโรค PTSD (Post traumatic Stress Disorder) เป็นโรคที่ก่อตัวขึ้นจากการที่ต้องเผชิญเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจถึงขั้นชีวิต ซึ่งอาการของโรคจะทำให้ผู้ป่วยหวาดผวาต่อเหตุการณ์ซ้ำๆ แม้จะจบไปแล้ว ตื่นกลางดึกเพราะฝันร้าย รู้สึกใจสั่นและกลัวอยู่ตลอดว่าจะมีอันตรายเกิดขึ้นกับตัวเอง ดังนั้น คนรอบข้างต้องระวังเมื่อผุ้ป่วยเจอเหตุการณ์สะเทือนใจ การให้เล่ารายละเอียดเหตุการณ์ให้ฟังมากเกินไป อาจส่งผลให้รู้สึกหวาดผวาขึ้นมาได้ ดังนั้น ต้องประเมินความพร้อมและผ่อนคลาย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจ
“สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่กระทบต่อผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุเพียงอย่างเดียว แต่กระทบต่อครอบครัว คนรอบข้างด้วย ดังนั้น การฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ป่วยที่มีสภาวะความเครียดทางอารมณ์ คนรอบข้างครอบครัวช่วยได้ โดยให้ใช้วิธีการพูดคุย และคอยรับฟัง ในเวลาที่ต้องการให้ความช่วยเหลือ หรือหากมีอาการของโรคที่รุนแรง มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต เช่น ไม่สามารถทำงานได้ กระทบความเป็นอยู่ ถึงขั้นเป็นอันตราย อยากทำร้ายตัวเอง”
“แนะนำให้ชักชวนผู้ป่วยไปพบผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลทางด้านจิตเวช ซึ่งมีนักจิตบำบัด จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ที่คอยให้คำปรึกษา และดูแลด้วยการใช้จิตบำบัด ขณะที่บางราย อาจมีการใช้ยาบรรเทาอาการร่วมด้วย ตามความรุนแรงของโรค ขณะเดียวกัน อยากฝากว่า เทศกาลรื่นเริง คนทั่วไปควรตระหนักถึงความปลอดภัยในการเดินทาง เพราะระยะสั้นๆ ก็อาจจะเกิดอุบัติหตุได้ ดื่มก็ไม่ควรขับรถ ไม่ว่าจะขับรถอะไรก็ตาม” รศ.พญ.รัศมน กล่าว
นิด -รัชธิรัชฎ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญที่อยากจะฝาก คือ กฎหมาย ถ้ากฎหมายเข้มแข็ง มีมาตรการที่เด็ดขาด เชื่อว่า เราจะไม่ต้องฝากว่า อย่าเมาแล้วขับ เพราะเขาไม่กล้าแน่นอน แต่นี้คือ การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หากรู้ว่าเมาแล้วขับ ผลจะเป็นอย่างไร ไม่ต้องบอกเลย เชื่อว่าทุกคนจะไม่กล้าเมาแล้วขับแน่นอน