ตั้งเป้าปี2024 PISA เพิ่มขึ้นให้ได้ 470 คะแนน
ไทยตั้งเป้ายกระดับคะแนนPISA เพิ่มขึ้นให้ได้ 470 คะแนนในปี 2024 พร้อมประสานสถาบันภาษาไทยสิรินธรแห่งจุฬาฯ ช่วยจัดทำโครงการอัพการอ่านเด็กไทย ระบุปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเน้นสร้างหลักสูตรฐานสมรรถนะเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมด
วันนี้ (7 ธ.ค.2562)นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ประธานประชุมคณะกรรมการโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ PISA(Programme for International Student Assessment) กล่าวว่าจากการประชุมคณะกรรมการPISA ซึ่งมีคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) นั้น ได้มีการหารือถึงการเตรียมความพร้อมในการสอบ PISA ปี 2021 ในด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน การพัฒนาครู และการพัฒนาผู้เรียน
ดังนั้น ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มาหารือร่วมกันว่าจะมีแนวทางการจัดการศึกษาในลักษณะใด เพื่อให้เกิดผลการประเมิน PISA ออกมาดีที่สุด โดยที่ประชุมได้มีการนำเสนอโครงการหลากหลายรูปแบบที่จะนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับการสอบPISA
"ได้ตั้งเป้าหมายว่าค่าเฉลี่ยคะแนนมาตรฐานการสอบขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) ในส่วนประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นให้ได้ 470 คะแนนในปี 2024 จากเดิมค่าคะแนนเฉลี่ยในส่วนนี้ของประเทศไทยอยู่ที่ 430 คะแนนเท่านั้น"นพ.ธีระเกียรติ กล่าว
นอกจากนั้น ที่ประชุมได้มีการวิเคราะห์ถึงคะแนนการอ่านของเด็กไทยในการสอบPISA ลดลง โดยได้ประสานสถาบันภาษาไทยสิรินธรแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เข้ามาช่วยเหลือในการจัดทำโครงการที่จะยกระดับการอ่านเด็กไทยให้มีคะแนนเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ฐานข้อมูลจากศูนย์ PISA ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ตั้งขึ้นมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก โดยศูนย์ดังกล่าวได้มีการจัดทำคลังข้อมูล และข้อสอบ รวมถึงการพัฒนาครูมีการดำเนินการไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการเตรียมความพร้อมการสอบPISAครั้งต่อไป จะเน้นการเรียนการสอนของเด็กในห้องเรียนให้มากขึ้น รวมถึงการฝึกอบรมและพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการประเมินผล
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่าการปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เน้นสร้างหลักสูตรฐานสมรรถนะต้องมีความเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกันทั้งหมด เพื่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพผู้เรียนให้ได้มาตรฐาน เพราะการสอบPISAไม่ใช้เรื่องของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งแต่เป็นความรับผิดชอบของทั้งประเทศ ซึ่งประเทศไทยจัดการเรียนการสอนได้ดีอยู่แล้ว แต่ยังติดปัญหาเรื่องความเหลือมล้ำ ดังนั้น ต้องเร่งขจัดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเหล่านี้ให้หมดไปให้ได้