'ณัฎฐพล' เชื่อ ได้ข้อยุติจัดพิมพ์แบบเรียน
รมว.ศธ.เชื่อจัดพิมพ์แบบเรียนระหว่างองค์การค้ากับสำนักพิมพ์แห่งจุฬาฯได้ข้อยุติแน่นอน พร้อมยันจัดพิมพ์แบบเรียนและกระบวนการจัดส่งหนังสือเรียนหลังการพิมพ์เสร็จสิ้นจะจัดส่งได้ทันก่อนเปิดภาคเรียนเดือนพ.ค.2563
กรณีการจัดพิมพ์แบบเรียนปีการศึกษา 2563 ที่มีมติให้องค์การค้าของของสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.)เป็นผู้จัดพิมพ์แบบเรียนทั้งหมด เพื่อความอยู่รอดขององค์การค้าฯ และสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะรับหน้าที่จัดส่งหนังสือเรียนในสัดส่วนที่เคยเป็นโควต้าของสำนักพิมพ์จุฬาฯเท่านั้น
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ทราบว่าสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และองค์การค้าฯกำลังอยู่ระหว่างหาข้อยุติในเรื่องนี้ ซึ่งคิดว่าเรื่องที่เกิดขึ้นน่าจะมีข้อยุติได้แล้ว เพราะไม่เช่นนั้นผลกระทบจะเกิดขึ้นกับเด็ก ซึ่งนโยบายต้องการยึดประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ
ดังนั้น ยืนยันว่าการจัดพิมพ์แบบเรียนและกระบวนการจัดส่งหนังสือเรียนหลังการพิมพ์เสร็จสิ้นจะจัดส่งได้ทันก่อนเปิดภาคเรียนเดือนพ.ค.2563 อย่างแน่นอน
“สำหรับการหารือร่วมกันระหว่างองค์การค้าฯและสสวท.เป็นการหารือในเรื่องข้อกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น ประเด็นที่มีวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-bidding เป็นต้น ดังนั้น ผมต้องขอตำหนิเลยหากการหารือยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะได้มีดำเนินการวางแผนงานไว้หมดแล้ว ซึ่งหากล่าช้าไปกว่านี้แผนการดำเนินงานที่วางไว้จะต้องล่าช้าออกไปอีก เพราะจะส่งผลกระทบต่อผู้เรียนในการได้รับหนังสือเรียน”รมว.ศธ.กล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังการจัดพิมพ์หนังสือเรียนแล้วเสร็จ เชื่อว่าจะจัดส่งได้ทัน เนื่องจากมีกระบวนการจัดส่งหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการให้บริษัทไปรษณีย์ไทย และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงานกศน.) จังหวัด เข้าร่วมจัดส่งหนังสือเรียนให้ด้วย
ทั้งนี้ สำหรับปัญหาการจัดพิมพ์แบบเรียนเกิดขึ้นนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการจัดพิมพ์แบบเรียนไม่ทัน ทำให้ทางองค์การค้าต้องเปิดประกวดราคาให้สำนักพิมพ์ต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดพิมพ์แบบเรียน โดยที่ผ่านมาจะมีสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นผู้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดพิมพ์แบบเรียน
แต่มาในการจัดพิมพ์แบบเรียนปีการศึกษา 2563 มติให้องค์การค้าเป็นผู้จัดพิมพ์แบบเรียนทั้งหมด และสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะรับหน้าที่จัดส่งหนังสือเรียนในสัดส่วนที่เคยเป็นโควต้าของสำนักพิมพ์จุฬาฯเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่หากสำนักพิมพ์จุฬาฯไม่ดำเนินการจัดพิมพ์ตามข้อกำหนดการจัดซื้อจัดจ้าง หรือ ทีโออาร์นั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต้องไปตรวจสอบ และหากตรวจสอบแล้วพบว่าสำนักพิมพ์จุฬาฯไม่ทำตามทีโออาร์คิดว่า สพฐ.คงจะมีข้อเสนอแนะมาเองว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป