ปี62โรคจากยุงลายเพิ่ม2-3เท่า "สาธิต"นำ "วิ่งไล่ยุง"
"สาธิต"นำ "วิ่งไล่ยุง"เผบปี 62 ผู้ป่วยจากโรคที่นำโดยยุงลายเพิ่มขึ้น 2-3เท่า กระตุ้นเตือนประชาชนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เตือนอย่าคิดว่าภัยแล้งยุงจะไม่มี
เมื่อวันที่ 10 ม.ค. เวลา 16.30 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข นำข้าราชการ และนักวิ่งกว่า 4,000 คน วิ่งรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลายป้องกันโรคไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย หรือชิคุนกุนยา และซิกา ในโครงการ “วิ่งไล่ยุง” ระยะทาง 5 กิโลเมตร
นายสาธิต กล่าวว่า การจัดวิ่งครั้งนี้เพื่อสร้างความตระหนัก กระตุ้นเตือนประชาชนให้เห็นความสำคัญของการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้าน และสถานที่สาธารณะ และยังเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนได้ออกกำลังกาย ทั้งนี้ การวิ่งไล่ยุงเพียงวันเดียวไม่สามารถกำจัดยุงได้ แต่จะเป็นการปลุกจิตสำนึกว่าร่างกายที่แข็งแรงต้องควบคู่ไปกับสุขภาพดี ไร้โรคภัยด้วย วิ่งออกกำลังกาย หากเจอขยะ ภาชนะรองรับน้ำก็ให้ช่วยกันเก็บทำลาย
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ที่ต้องออกมารณรงค์ เพราะจากข้อมูลปี 2562 มีผู้ป่วยจากโรคที่นำโดยยุงลายจำนวนมาก เช่น ไข้เลือดออก มีผู้ป่วย 128,964 ราย สูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ถึง 2 เท่า เสียชีวิต 133 ราย และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ป่วย 11,484 ราย เพิ่มขึ้น 3 เท่าของปีที่ผ่านมา แต่ไม่มีเสียชีวิต ตอนนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูแล้ง ปีนี้ถือว่าสถานการณ์ภัยแล้งค่อนข้างหนัก แต่ในความโชคร้ายยังมีความโชคดีที่เราจะใช้เป็นโอกาสในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน โดยเฉพาะในเดือนนี้พื้นที่ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นเช่นนี้ทุกปี ก่อนที่การระบาดจะขยายออกไปยังพื้นที่ภาคกลาง ตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะพีคในช่วงหน้าฝน
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า จากการสำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลายในบ้าน ยังไม่น่าเป็นห่วง แต่ก็ไม่ถึงกับไม่มีมีเลย ที่น่าเป็นห่วงคือสถานที่สาธารณะ เช่น ศาสนสถาน โรงเรียน โรงแรม โรงงาน เป็นต้น เพราะทุกคนคิดว่าเป็นพื้นสาธารณะ ไม่ใช่พื้นที่ที่ตนจะต้องรับผิดชอบ กลายเป็นว่าไม่มีใครดูแล และอีกประการที่น่าเป็นห่วง คือประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องการทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำขังได้ทั้งสิ้น ขยะแม้เพียงชิ้นเล็กๆ ยุงลายก็สามารถวางไข่ได้ ดังนั้นขอให้ทุกคนเก็บบ้าน เก็บขยะ ดูแลพื้นที่สาธารณะด้วย โดยอย่างน้อยขอให้ทำทุกๆ วันศุกร์ นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป พร้อมๆ กับการดูแลตัวเองอย่าให้ยุงกัด โดยเฉพาะผู้ใหญ่ หากเจ็บป่วยอย่าอดทน หรือซื้อยามากินเอง โดยเฉพาะยาในกลุ่มเอ็นเสด หากมีไข้สูงลอยเกิน 2 วันให้ไปพบแพทย์ และอย่าชะล่าใจว่าไข้ลดแล้ว เพราะถือเป็นช่วงอันตรายที่เข้าสู่ภาวะช็อก จนเสียชีวิตได้
“ขอย้ำว่าอย่าคิดว่าประเทศไทยแล้งหนักในปีนี้แล้วจะไม่มีปัญหาการระบาดของไข้เลือดออก เพราะการที่ยุงวางไข่ ไข่ยุงสามารถทนต่อความแล้งได้ดีหลายเดือน เมื่อมีฝนตกลงมาก็สามารถฟักเป็นตัวได้อย่างรวดเร็ว และยิ่งอากาศร้อน ยุงลายยิ่งมีความดุร้าย มีความต้องการในการแพร่พันธุ์ ซึ่งยุงตัวเมียต้องอาศัยการดูดเลือดคนมาใช้ในการวางไข่ ดังนั้นเราต้องอาศัยจังหวะนี้กำจัดมันก่อน” นพ.สุวรรณชัย กล่าว.