คพ.สรุปสถานการณ์มลพิษประเทศไทยปี 62 ชี้ฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน 8 จังหวัด
คพ.สรุปสถานการณ์มลพิษประเทศไทยปี 62 เผยแม่น้ำตาปีตอนบน คุณภาพน้ำดีสุด ชี้ภาคกลางแหล่งน้ำเสื่อมโทรม “ฝุ่น PM2.5” เกินค่ามาตรฐาน 8 จังหวัด
เมื่อวันที่ 14 ม.ค.63 นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ แถลงข่าวสรุปสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ประจำปี 2562 ดังนี้ คุณภาพน้ำ 59 แม่น้ำสายหลัก และ 6 แหล่งน้ำนิ่ง อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ร้อยละ 2 เกณฑ์ดี ร้อยละ 32 เกณฑ์พอใช้ ร้อยละ 48 และเกณฑ์เสื่อมโทรม ร้อยละ 18 แหล่งน้ำที่อยู่ในเกณฑ์ดีมาก คือ แม่น้ำตาปีตอนบน คุณภาพน้ำผิวดินในแต่ละภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก มีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมลงจากปี 2561 โดยภาคกลางมีแหล่งน้ำที่อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมากกว่าภาคอื่น เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานประเภทแหล่งน้ำผิวดิน ที่กำหนด มีเพียง 9 แหล่ง (ร้อยละ 15) ที่เป็นไปตามมาตรฐาน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2553-2562) คุณภาพน้ำของแหล่งน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์พอใช้ถึงดี และไม่มีแหล่งน้ำที่อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก โดย 5 อันดับแรกของแหล่งน้ำ ที่มีคุณภาพน้ำดีที่สุดในปี 2562 ได้แก่ ตาปีตอนบน กก แควน้อย ลี้ เพชรบุรีตอนบน และ 5 อันดับแรกของแหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม ได้แก่ ลำตะคองตอนล่าง เจ้าพระยาตอนล่าง ท่าจีนตอนล่าง พังราดตอนบน ระยองตอนล่าง
คุณภาพน้ำทะเล ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดีถึงพอใช้ โดยอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ร้อยละ 2 เกณฑ์ดี ร้อยละ 59 เกณฑ์พอใช้ ร้อยละ 34 เกณฑ์เสื่อมโทรม ร้อยละ 3 และเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก ร้อยละ 2 แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันไปในทิศทางที่ดีขึ้นตั้งแต่ ปี 2559 และคงตัวจนถึง ปี 2562 ในปี 2562 พื้นที่ที่มีคุณภาพน้ำทะเลอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ได้แก่ เกาะล้าน อ่าวพร้าว (เกาะเสม็ด) อ่าวบางสน เกาะพะงัน ในขณะที่บริเวณอ่าวไทยตอนใน บริเวณปากแม่น้ำบางปะกง ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ปากแม่น้ำท่าจีน ยังคงมีคุณภาพน้ำทะเลอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมถึงเสื่อมโทรมมาก สาเหตุหลักที่คุณภาพน้ำผิวดินและน้ำทะเลเสื่อมโทรม เนื่องมาจากการปล่อยทิ้งน้ำเสียจากบ้านเรือน อุตสาหกรรม การเกษตร และการเลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีระบบจัดการ ของเสียระบายของเสียลงสู่แม่น้ำสายหลัก รวมทั้งระบบการจัดการน้ำเสียชุมชนยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ไม่สามารถรวบรวมน้ำเสียทั้งหมดมาบำบัดได้ ทั้งนี้ การจัดการคุณภาพน้ำในอนาคต ลดและควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด ขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการเพื่อยกระดับคุณภาพน้ำในพื้นที่เป้าหมาย สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดสร้างระบบบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ พัฒนาระบบอนุญาตระบายมลพิษ (permitting system) ปลูกจิตสำนึกทุกภาคส่วนไม่ให้ทิ้งขยะและน้ำเสียลงแหล่งน้ำ
คุณภาพอากาศในพื้นที่ทั่วไป มลพิษหลักที่ยังเป็นปัญหา คือ ฝุ่นละออง PM2.5 ฝุ่นละออง PM10 และ ก๊าซโอโซน มีแนวโน้มเกินค่ามาตรฐานมากกว่าปีที่ผ่านมา ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศใน 34 จังหวัด ที่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศอัตโนมัติ มีจำนวนวันในรอบปีที่คุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐาน มากกว่าร้อยละ 20 จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ลำปาง ลำพูน แพร่ ขอนแก่น และสระบุรี
สถานการณ์คุณภาพอากาศในพื้นที่วิกฤต 4 พื้นที่
กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจากสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่นำไปสู่การยกระดับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ ขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง และการจัดทำแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประกอบด้วยการดำเนินงานในระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง (พ.ศ. 2562 - 2564) และระยะยาว (พ.ศ. 2565 - 2567) รวมถึงการติดตามตรวจสอบและแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 โดย กทม. จะติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในทุกเขตของพื้นที่ กทม.
9 จังหวัดภาคเหนือ มีจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานเพิ่มขึ้นจากปี 2561 จาก 34 วัน เป็น 59 วัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 73) จุดความร้อนสะสมมีค่าเพิ่มขึ้นจากปี 2561 จาก 4,722 จุด เป็น 10,217 จุด (เพิ่มขึ้นร้อยละ 54) และพบค่าปริมาณฝุ่นละออง PM10 สูงสุด เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จาก 233 มคก./ลบ.ม. เป็น 394 มคก./ลบ.ม. สาเหตุหลักมาจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งและมีเชื้อไฟสะสมมากเกิดการเผาไหม้ที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองจำนวนมาก การแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ จะดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 โดยกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) เน้นการป้องกันและเข้าดับไฟให้รวดเร็ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนทางวิชาการและงบประมาณ รวมถึงมีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงตาม ความเหมาะสมและทันต่อเหตุการณ์ในแต่ละพื้นที่ สนับสนุนและขยายเครือข่ายหมู่บ้านป้องกันไฟ พัฒนาเทคโนโลยี งานวิจัย และสื่อสารให้ข้อมูลทางวิชาการสู่สาธารณะ
การจัดการคุณภาพอากาศในอนาคต ขับเคลื่อนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นวิกฤตที่ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง และแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษ ในเขตควบคุมมลพิษ พ.ศ. 2560 - 2564
ขยะมูลฝอย เกิดขึ้นประมาณ 28.7 ล้านตัน (เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 3) โดยขยะมูลฝอยจะถูกคัดแยก ณ ต้นทาง และนำกลับไปใช้ประโยชน์ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ จำนวน 12.6 ล้านตัน (ร้อยละ 44) (ส่วนใหญ่เป็นขยะรีไซเคิลและทำปุ๋ยอินทรีย์) และกำจัดอย่างถูกต้อง 10.3 ล้านตัน (ร้อยละ 36) โดยปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกจัดการดังที่กล่าวมาข้างต้นมีสัดส่วนที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 11 สาเหตุที่ทำให้ปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นมาจากการขยายตัวของชุมชนเมือง การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรแฝงจากแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย การส่งเสริมการท่องเที่ยว และพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนที่นิยมความสะดวกสบายมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งสินค้าจากบริการสั่งซื้อออนไลน์สินค้าและบริการสั่งอาหาร ทำให้เกิดปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มมากขึ้นในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา มีขยะพลาสติกเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ ปีละ 2 ล้านตัน โดยมีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ประมาณ 0.5 ล้านตัน ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตัน เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use Plastic) โดยไม่มีการนำกลับ ไปใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ในปี 2562 ปัญหาขยะพลาสติกและขยะทะเลได้รับความสนใจและ ทุกภาคส่วนเล็งเห็นความสำคัญในการเร่งแก้ปัญหาดังกล่าว จึงมีการผลักดันนโยบายและมาตรการในการจัดการขยะมูลฝอย อาทิ การรณรงค์สร้างจิตสำนึก 3R และการลดปริมาณขยะพลาสติกภายใต้โครงการ "ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม" ออกมาตรการดีเดย์งดให้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 การจัดการขยะมูลฝอยผ่านแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน "จังหวัดสะอาด" ประจำปี พ.ศ. 2562 ให้มีการจัดการขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง จนถึงปลายทาง รวมทั้งการสร้างเครือข่ายความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศในการจัดการขยะพลาสติกและขยะทะเลของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ของเสียอันตรายจากชุมชน จากการคาดการณ์เกิดขึ้นประมาณ 648,208 ตัน (เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 2) ส่วนใหญ่เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 421,335 ตัน (ร้อยละ 65) และของเสียอันตรายประเภทอื่นๆ เช่น แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย ภาชนะบรรจุสารเคมี กระป๋องสเปรย์ ประมาณ 226,873 ตัน (ร้อยละ 35) จากการวางระบบการจัดการของเสียอันตรายชุมชน โดยให้ อปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีจุดรวบรวมในชุมชนและ มีศูนย์รวบรวมในระดับจังหวัดทำให้ของเสียอันตรายได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเพิ่มขึ้นประมาณ 104,526 ตัน (ร้อยละ 16) แต่ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก สาเหตุหลักมาจากยังไม่มีการคัดแยกของเสียอันตรายจากชุมชนออกจากขยะทั่วไป ประชาชน ยังขาดความตระหนักรู้ และ อปท. ยังไม่มีกฎระเบียบรองรับในการคัดแยกของเสียอันตรายจากชุมชนออกจากขยะทั่วไป รวมถึงยังไม่มีกฎหมายที่จะนำมากำกับดูแลให้ภาคเอกชนรับผิดชอบในการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในปี 2562 จึงยังคงเป็นการดำเนินงานโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในการบริหารจัดการ ของเสียอันตรายจากชุมชน
การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายชุมชนในอนาคต กำหนดมาตรฐานการควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยและหลักเกณฑ์ทางวิชาการในการจัดการขยะมูลฝอย ติดตามตรวจสอบสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ประสบปัญหาและให้คำแนะนำ อปท. ปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพ ขับเคลื่อน Roadmap การจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ. 2561-2573) และแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 -2573 จัดทำแนวทางการบริหารจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลักดันการเสนอร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ... (พ.ร.บ. WEEE)
นอกจากนี้ การจัดการมลพิษจำเป็นต้องมีการบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษ โดยมีการใช้มาตรการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการแจ้งรายชื่อแหล่งกำเนิดมลพิษที่ระบายน้ำทิ้งออกสู่สิ่งแวดล้อมไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำกับดูแลตามอำนาจหน้าที่การใช้มาตรการเชิงบวกโดยการยกย่องชมเชยแหล่งกำเนิดมลพิษที่ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายและเสริมสร้างศักยภาพการจัดการน้ำเสียในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการดูแลรักษาและปรับปรุงแก้ไขระบบบำบัดน้ำเสียให้สามารถบำบัดน้ำเสียได้ตามมาตรฐาน ที่กฎหมายกำหนดผลจากการดำเนินการใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษ ในปี 2562 ดังนี้
ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษ รวมทั้งสิ้น 641 แห่ง ดังนี้ พื้นที่คลองแสนแสบและคลองสาขา ตรวจติดตามตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ 154 แห่ง ปฏิบัติตามกฎหมาย 59 แห่ง (ร้อยละ 39) ตรวจสอบ (แหล่งใหม่) 151 แห่ง ปฏิบัติตามกฎหมาย 58 แห่ง (ร้อยละ 38) พื้นที่คลองแม่ข่า จ.เชียงใหม่ ตรวจติดตามตามคำสั่งของ เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ 47 แห่ง ปฏิบัติตามกฎหมาย 18 แห่ง (ร้อยละ 41) สถานบริการ พื้นที่กรุงเทพมหานคร ตรวจติดตามตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ 45 แห่ง ปฏิบัติตามกฎหมาย 3 แห่ง (ร้อยละ 27) พื้นที่คลองเสื่อมโทรม กรุงเทพมหานคร ตรวจติดตามตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ 50 แห่ง ปฏิบัติตามกฎหมาย 19 แห่ง (ร้อยละ 38) อาคารที่ทำการของทางราชการ พื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ตรวจติดตามตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ 162 แห่ง ปฏิบัติตามกฎหมาย 47 แห่ง (ร้อยละ 40) พื้นที่ EEC ตรวจติดตามตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ 32 แห่ง ปฏิบัติตามกฎหมาย 26 แห่ง (ร้อยละ 96) ทั้งนี้โดยภาพรวมมีแหล่งกำเนิดปฏิบัติตามกฎหมาย ร้อยละ 40
เรื่องร้องเรียนด้านมลพิษ มีเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 469 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 401 เรื่อง (ร้อยละ 86) ปัญหามลพิษที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุด คือ กลิ่นเหม็น (ร้อยละ 40) รองลงมาคือ ฝุ่นละออง/เขม่าควัน (ร้อยละ 31) และเสียงดัง/เสียงรบกวน (ร้อยละ 13) ในกรณีเรื่องร้องเรียนมีหน่วยงานรับผิดชอบแก้ปัญหาโดยตรง เจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำเบื้องต้นและแจ้งช่องทางการร้องเรียนแก่ประชาชนไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง