ภาคประชาสังคมตั้งคำถามต่อการรายงานแจ้งเตือนค่าฝุ่นพิษ คพ.
คพ. ยอมรับค่าฝุ่นละอองแจ้งเตือนประชาชนเป็นค่าเฉลี่ยใน 24 ชั่วโมง แต่ยืนยันเครื่องมือของหน่วยงาน ตรวจวัดได้มาตรฐานตามประกาศของ กก. สวล.
การรายงานค่าฝุ่น PM 2.5 สำหรับแจ้งเตือนประชาชน กลายเป็นประเด็นถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์หลังจากค่าฝุ่น PM 2.5 ในเขตกรุงเทพมหานครกลับมาพุ่งขึ้นสูงอีกครั้งในปีนี้ โดยมีระดับเกิน 100 ไมโครกรัมต่อ ลบ.ม. ในช่วงกว่าอาทิตย์ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น ไต่ระดับอีกครั้งในวันสองวันนี้
นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ หมอหม่อง คุณหมอนักอนุรักษ์ชื่อดัง ได้รีโพสต์การอธิบายเหตุผลในเฟสบุุ๊คของตนวานนี้และได้รับการแชร์ออกไปอย่างกว้างขวาง ว่าเหตุใดระบบเตือนภัย Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จึงไม่ตอบโจทย์
โดย นพ.รังสฤษฎ์ กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องออกมาอธิบายในเรื่องนี้อีกครั้งว่า ช่วงระยะเวลานี้ มีการแถลงข่าวออกจากทางฝ่ายรัฐบาลบอกประชาชน ให้ติดตามค่าคุณภาพอากาศจากทางกรมควบคุมมลพิษเท่านั้นเพราะ ข้อมูลจาก App อื่นๆไม่น่าเชื่อถือ สร้างความตื่นตระหนกให้ประชาชน
ตนจึงอยากนำคำชี้แจงที่เคยเขียนไว้เมื่อปีก่อนมาให้หลายคนที่ยังไม่ได้อ่าน รับทราบอีกครั้ง
โดย นพ. รังสฤษฎ์อธิบายว่า ประชาชนมีความจำเป็นต้องทราบคุณภาพอากาศแบบ real-time เพราะการแปรผันของคุณภาพอากาศในแต่ละช่วงเวลาของวันมีมาก เช่น มักแย่สุดช่วงสายๆ และดีขึ้นช่วงบ่ายถึงเย็น ประชาชนจะได้สามารถปรับกิจกรรมของตนเองได้ ยกตัวอย่างเช่น ที่ผ่านมาที่ค่า PM 2.5 สูง 5-600 ในช่วงเช้า จำเป็นต้องเก็บตัวในบ้าน หรือห้องที่มีเครื่องกรองอากาศ แต่ PM 2.5 ลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงบ่าย เราก็สามารถออกจากบ้าน ทำกิจกรรมกลางแจ้งได้
อย่างไรก็ตาม นพ. รังสฤษฎ์กล่าวว่า ค่าที่แสดงใน Air4Thai เป็นค่าเฉลี่ยเมื่อ 24 ชม. ที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งไม่มีประโยชน์กับการปรับเปลี่ยนกิจกรรมแต่อย่างใด
และหากมีค่าสูงมากๆแต่เป็นเพียงช่วงสั้นๆ ค่าเฉลี่ยจะออกมาดูดี ทำให้คิดว่าไม่มีปัญหา สามารถทำกิจกรรมอะไรก็ได้ตลอดเวลา
ในขณะเดียวกัน สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของ คพ. มีเฉพาะเมืองใหญ่เท่านั้น ไม่สะท้อนค่าที่เป็นจริงตรงตามสถานที่ประชาชนอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ภายในจังหวัดเชียงใหม่ การกระจายตัวของ AQI ของ อ.เมือง อ.แม่ริม อ.เชียงดาว อ.สะเมิง อาจแตกต่างกันในระดับ 100 ในบางวัน จากค่าตรวจวัดที่ศาลากลาง จึงไม่สามารถเป็นตัวแทนของคนที่อยู่รอบนอกได้เลย
“ผมคิดว่าปัจจุบันเทคโนโลยี มัน disruptive ขบวนการนี้หมดแล้ว ประชาชนสามารถมีเครื่องวัดส่วนตัวได้เอง เป็นการกระจายอำนาจ empowerment ให้ประชาชน” นพ. รังสฤษฎ์ กล่าว พร้อมทั้งยกตัวอย่างถึงการเปรียบเทียบเครื่องมือกับองค์กรต่างๆของ คพ. เอง อาทิ Dustboy ของ มช. ที่มีราคาไม่แพง และถูกตั้งคำถามจาก คพ. แต่จากการทดสอบจากวิศวกร พบว่า ความคลาดเคลื่อนมีไม่มาก มี correlation กันอย่างดีกับเครื่องราคาแพง
นพ. รังสฤษฎ์ยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สถานีวัดของ คพ. ยังมีจำนวนมากที่วัด PM 2.5 ไม่ได้ วัดได้แต่เพียง PM 10 ซึ่งไม่สะท้อนผลทางสุขภาพได้ดีเท่า PM 2.5
นพ. รังสฤษฎ์ กล่าวว่า เหตุที่ภาคประชาสังคมจำเป็นต้องทำมาตราฐานเอง หรือยึดทาง US AQI มากกว่าของ คพ. เพราะ ค่ามาตรฐานขั้นต่ำของ PM2.5 ของ คพ. สูงกว่าของ องค์การอนามัยโลก 2 เท่า ( WHO กำหนดค่ามาตรฐานตามหลักฐานทางระบาดวิทยา) ทำให้การคำนวนค่า AQI ดูมีปัญหาน้อยกว่า
“ข้ออ้างว่าเราเป็นประเทศกำลังพัฒนา จึงใช้ค่ามาตราฐานสูงกว่า ทางกลุ่มแพทย์ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะไม่หลักฐานใดบอกว่า ปอด เส้นเลือดหัวใจคนไทยเราทนมลพิษได้ดีกว่าต่างชาติ” นพ. รังสฤษฎ์ระบุ
นอกจากนี้ นพ. รังสฤษฎ์ กล่าวว่า โซนเตือนภัยของ Air4Thai มีข้อจำกัดที่ออกแบบขีดสูงสุดเพียงสีแดง (มีผลต่อสุขภาพ) ในขณะที่ในบางวัน ระดับมลพิษพุ่งทะลุ สเกลที่ผู้ออกแบบ application เตรียมไว้
“ผมเข้าใจว่า คพ. หลีกเลี่ยงการเตือนภัยในระดับรุนแรงหรือรุนแรงมาก เพราะเกรงการตื่นตระหนก แต่นั่นทำให้ไม่เกิดความ “ตระหนัก” ในวงกว้าง ประชาชนไม่สามารถป้องกันตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นพ. รังสฤษฎ์กล่าว
นพ. รังสฤษฎ์ เรียกร้องให้ คพ. เปิดใจรับฟังเสียงประชาคมทางการแพทย์ โดยกล่าวว่า ปัญหาทุกอย่างจะแก้ไขได้ต้องเริ่มจากการรับรู้ปัญหาตามที่เป็นจริงโดยปราศจากอคติ และวาระซ้อนเร้น พร้อมกับกล่าวเสริมว่า ปัญหาหมอกควันที่รุนแรงนี้ ไม่ใช่ความล้มเหลวของการทำงานของ คพ. ที่จะต้องออกมาปกป้องหรือแก้ตัวใดๆ
“เป้าหมายสำคัญของกรม คพ. คือการปกป้องสุขภาพประชาชนจากมลพิษ ให้ข้อมูลมลพิษที่ตอบโจทย์ในการดูแลสุขภาพของประชาชนครับ
“วันนี้ อย่ากังวลว่าประชาชนจะตระหนกเลยครับ วันนี้ประชาชนจำนวนมาก (รวมถึงผู้มีอำนาจ) ยังไม่ตระหนักมากพอที่จะผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใดๆเสียด้วยซ้ำ ประชาคมการแพทย์ไม่มีเจตนาซ้อนเร้นอื่นใดเลยนอกจากความเป็นห่วงสุขภาพของประชาชนอย่างที่สุดครับ” นพ. รังสฤษฎ์ กล่าว
จากความสับสนในการอ่านค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ทางกรม คพ. ใช้แจ้งเตือนประชาชนผ่านแอพพลิเคชั่นของตน Air4Thai และเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดียในเวลานี้
ทาง คพ. ได้ชี้แจงในประเด็นนี้ว่า ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ของ คพ. ที่รายงานในAir4Thai เป็นค่า (ความหนาแน่นของฝุ่นต่อพื้นที่หนึ่งลูกบาศก์เมตร) ที่ได้จากการตรวจวัดความหนาแน่นของฝุ่นโดยเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ซึ่งค่า ณ เวลารายงานใดๆ ก็จะถูกนำไปคำนวนด้วย เกิดเป็นค่าฝุ่นที่เอามารายงาน ณ เวลานั้นๆ อาทิ ค่าของฝุ่น PM 2.5 ในเวลา 10.00 น. คือค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง นับจนถึงเวลา 10.00 น. นั้น เป็นต้น
คพ. อธิบายว่า การที่ค่าความหนาแน่นของฝุ่น PM 2.5 ของกรมต่ำกว่าค่าที่วัดได้ในแอพพลิเคชั่นที่กำลังเป็นที่นิยมอ้างอิงทั่วโลกและในประเทศไทยคือ Airvisual ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทเครื่องกรองอากาศ IQAir เป็นเพราะใช้เครื่องมือตรวจวัดที่แตกต่างกัน โดย คพ. กล่าวว่า เครื่องมือตรวจวัดของ Air4Thai เป็นเครื่องมือมาตรฐานตามประกาศของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในขณะที่เครื่องมือตรวจวัดอื่น อาจมีลักษณะเป็นเซนเซอร์ซึ่งมักจะsensitive และจะไม่มีระบบกำจัดความชื้นออกก่อนที่จะตรวจวัด
การที่เครื่องมือเซนเซอร์ไม่มีระบบกำจัดความชื้น เครื่องมือจะไม่สามารถแยกได้ว่าอันไหนฝุ่น อันไหนความชื้น ทำให้เวลาแสดงค่าตรวจวัด ก็รวมเอาทั้งฝุ่นและความชื้น ค่าตรวจวัดจึงมักจะสูงตลอดเวลา คพ. กล่าว
นอกจากค่าที่รายงานที่เกิดจากการคำนวนเฉลี่ย 24 ชั่วโมง คพ. ยังมีการตรวจวัดค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงที่รายงานให้ในลักษณะกราฟ คพ. กล่าว, แต่ไม่ยืนยันว่า คพ. สามารถตรวจวัดค่าฝุ่น ณ เวลานั้นๆ ได้เลยหรือไม่ หรือที่เรียกว่า realtime เหมือนค่าที่ปรากฏใน Airvisual
ในส่วนของค่า AQI หรือ Air Quality Index ซึ่งเกิดจากการประมวลค่าฝุ่นหลายๆชนิด รวมทั้ง PM 2.5, คพ. กล่าวว่า ค่า AQI ของAirVisual จะสูงค่าAQI ของAir4Thai เนื่องจากวิธีการคำนวนค่าAQI แตกต่างกัน, คพ. ระบุ