ไม่ตกหล่นในสังคม สำรวจ 'ไร้บ้านครั้งแรก' ในไทย
ประเทศไทยแทบไม่เคยมีการจัดทำฐานข้อมูลหรือตัวเลขคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะที่ชัดเจน จนกระทั่งเมื่อปี 2558 เป็นครั้งแรกที่เริ่มมี การสำรวจคนไร้บ้านครอบคลุมทั้งประเทศ แล้วผลลัพธ์หลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร เกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
เชื่อหรือไม่ว่า ประเทศไทยเราแทบไม่เคยมีการจัดทำฐานข้อมูลหรือตัวเลขคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะที่ชัดเจน จนกระทั่งเมื่อปี 2558 เป็นครั้งแรกที่เริ่มมี การสำรวจคนไร้บ้านครอบคลุมทั้งประเทศ และนั่นอาจคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชีวิตของ "คนไร้บ้าน" มีความหมายมากขึ้นในสายตาของคนในสังคมไทย
หลังสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่ายพัฒนาเครื่องมือและวิธีวิทยาแบบ One Night Count (ONC) หรือ The Point-in-Time (PIT) เพื่อสำรวจแจงนับประชากรคนไร้บ้านทั้งประเทศ โดยนำร่องในพื้นที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และขอนแก่น และเพิ่งมีการ "แถลงผลสำรวจแจงนับคนไร้บ้านสู่การขยายผลเชิงปฏิบัติและนโยบาย" โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จับมือกับ สสส. ร่วมด้วย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิพัฒนา ที่อยู่อาศัย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และภาคีเครือข่าย ร่วมจัดเวทีสาธารณะไปเมื่อไม่นานมานี้
ผลสำรวจดังกล่าวไม่ได้ทำให้รับรู้แต่เพียง "ตัวเลข" หากเบื้องลึกยังสะท้อนให้เห็นผลลัพธ์ของปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจด้านอื่นๆ โดยเฉพาะประเด็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวมถึงประสิทธิภาพของนโยบายด้านสวัสดิการของรัฐไทยแจ่มชัดขึ้น
- ทำไมต้อง (แจง) นับ?
"การแจงนับ" เป็นวิธีการสำรวจจำนวนคนไร้บ้านที่ลดความเสี่ยงในการนับซ้ำ โดยการนับคนไร้บ้านในแต่ละเมืองผ่านการกำหนดเส้นทางการสำรวจแจงนับของ แต่ละทีมที่มีความชัดเจนและไม่ทับซ้อน
"หากถามประโยชน์ในการทำวิจัย มองว่าอย่างน้อยสุดเรารู้แน่ๆ ว่ามันมีปัญหาอะไร ยังไง และแบบไหน ลักษณะความเฉพาะของกลุ่มเขาเป็นอย่างไรบ้าง ทำให้เราเห็นชัดว่าควรจะไปหยิบยกหรือทำงานประเด็นอะไร" นพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ทำหน้าที่ชี้แจงความสงสัยเรื่องนี้
"ส่วนประเด็นที่สอง มันสะท้อนเรื่องความเหลื่อมล้ำของนโยบายภาครัฐที่มีต่อกลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งจะชัดขึ้นหลังเราได้ผลสำรวจ ต้องบอกก่อนว่านี่เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการสำรวจแบบนี้ทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่าเราต้องมีการสำรวจผลต่อเนื่อง เพื่อที่จะเปรียบเทียบผลการดำเนินงาน อาจเป็นอีก 3-5 ปีข้างหน้า จะทำให้เราเห็นผลลัพธ์หรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่างๆ สามารถสะท้อนบางเรื่องได้ เช่น ถ้าเราสำรวจซ้ำแล้วพบตัวเลขคนไร้บ้านขึ้นเยอะ มันจะบ่งชี้บางอย่างได้ ในเรื่องมิติการพัฒนา นโยบายของรัฐ หรือมิติเศรษฐกิจ"
เสริมด้วยคำอธิบาย อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้คนไร้บ้านฯ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. กล่าวว่า การสำรวจแจงนับประชากรคนไร้บ้านครั้งนี้ ถือว่ามีความสำคัญในเชิงองค์ความรู้และในเชิงนโยบาย เพราะในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยแทบไม่มีข้อมูลพื้นฐาน (baseline data) ของคนไร้บ้านในระดับประเทศเลย
"การแจงนับในครั้งนี้ แม้จะเน้นการสังเกตจากภายนอกเป็นสำคัญ แต่ก็ทำให้เห็นว่าในแต่ละภูมิภาค แต่ละจังหวัดของประเทศไทย มีลักษณะทางประชากรของคนไร้บ้านที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนของคนไร้บ้านพิการที่เห็นได้ชัดมากกว่าสัดส่วนของทั้งประเทศเกือบหนึ่งเท่าตัว นอกจากนี้ เป็นที่น่าสนใจว่าการแจงนับครั้งนี้พบคนไร้บ้านในทุกจังหวัดของประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ในจังหวัดขนาดเล็ก สะท้อนให้เห็นภาวะเปราะบางทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ขยายตัวนอกจากเมืองใหญ่มากขึ้น ซึ่งข้อมูลพื้นฐานจากการสำรวจแจงนับคนไร้บ้านครั้งนี้จะเป็นหมุดหมายสำคัญ ในการออกแบบนโยบายและการขับเคลื่อน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านอย่างเป็นระบบ และมีความเหมาะสมกับลักษณะทางประชากรคนไร้บ้านในแต่ละพื้นที่" อนรรฆเอ่ย
ด้าน ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ผลการแจงนับครั้งนี้มีความสำคัญอย่างมาก เป็นพื้นฐานต่อการขับเคลื่อนและทำงานกับประเด็นคนไร้บ้าน ของ สสส.ต่อไปในอนาคต
"ในทางวิชาการมีการบอกเสมอว่า ตัวเลขคนไร้บ้านจะเป็นสถิติผกผัน หรือเป็นตัวชี้ระดับเศรษฐกิจ หรือความเหลื่อมล้ำในประเทศนั้นๆ ได้ เพราะฉะนั้นรัฐต้องพิจารณานโยบายใหม่ว่าทำให้คนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมาได้ยังไง" ภรณีเอ่ย
- รับสังคมสูงวัย วิจัยพบยอดไร้บ้าน สว. พุ่ง
ผลจากการสำรวจแจงนับครั้งนี้ พบคนไร้บ้านทั้งหมด 2,719 คน ในประเด็นการกระจายตัวของคนไร้บ้าน พบว่าส่วนใหญ่กระจุกตัวในพื้นที่เมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ นครราชสีมา และสงขลา เป็นต้น ในขณะที่จังหวัดอื่นๆ มีจำนวนไม่มาก
"ตอนแรกที่ทำการสำรวจ เราคาดว่าคนไร้บ้านในไทยมีไม่เยอะมาก ซึ่งเป็นไปตามที่เราคาดการณ์ แต่ก็ถือว่ายังมีถึงหลักหมื่น เรียกว่าไม่น้อย ลองคิดดูถึงคนที่ชีวิต มีความหนักหนา ไม่มีหลักประกันอะไรในชีวิตและอยู่ในความเสี่ยงทุกมิติ เพราะฉะนั้นการไม่ได้รับความคุ้มครองถือว่าเยอะมาก และแม้แต่ในพื้นที่สามจังหวัด ชายแดนภาคใต้ ก็พบว่ามีหมด" นพพรรณเผย พร้อมกล่าวถึงสิ่งที่น่าสังเกตบางอย่างที่ ได้รับจากการสำรวจครั้งนี้
“สิ่งที่น่าสนใจคือ เราพบผู้สูงอายุที่ออกมาเป็นคนไร้บ้านรายใหม่เยอะขึ้น แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเพราะสังคมที่เปลี่ยนไป การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีผลให้คนไร้บ้าน สูงอายุมากขึ้น แต่อีกเหตุผลคือผู้สูงอายุที่มาเป็นคนไร้บ้านเพราะปัญหาสภาพสังคมที่กดดัน ไม่มีลูกหลาน หรือเป็นภาระครอบครัวก็มีมากขึ้นด้วย”
ด้านผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ ชี้แจงเพิ่มว่า "เรามองว่ากลุ่มผู้สูงอายุคนไร้บ้านที่อายุเยอะ ตามแนวโน้มประชากรที่เป็นผู้สูงวัยมากขึ้นไม่น่าแปลกใจ เพราะเรายังพบปรากฏการณ์นี้ในเรือนจำก็มีที่ผู้สูงอายุไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน ก็เลยเข้าไปอยู่เรือนจำ แต่ที่น่าแปลกใจคือ อายุขัยคนไร้บ้าน มีอายุน้อย คือมีอายุคาดเฉลี่ยที่เสียชีวิตประมาณ 60 ปี ซึ่งต่ำกว่าอายุคาดเฉลี่ยประชากรไทยทั่วไป ซึ่งอยู่ที่ 75 ปี และต่ำกว่าอายุคาดเฉลี่ยคนในอาเซียนอยู่ที่ 71 ปี และผู้สูงอายุไร้บ้านน่าห่วงส่วนใหญ่อยู่คนเดียว" ภรณีกล่าวเพิ่มเติม
- หวังไร้บ้าน จัดการได้ด้วยกลไกชุมชน
นอกจากการสำรวจและวิจัยเชิงวิชาการที่จะถูกนำมาขยายผลต่อแล้ว ที่ผ่านมา สสส.เองยังร่วมงานกับภาคีเครือข่าย เข้าไปหนุนเสริมการขับเคลื่อนกลุ่มคนไร้บ้านในหัวเมืองใหญ่หลายแห่ง จนสามารถสร้างกลไกความร่วมมือที่เข้มแข็ง อย่างเช่น เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น
"กลุ่มนี้เรามองว่าไม่น่าห่วงเท่าไหร่ แต่คิดว่าจังหวัดอื่นๆ ที่ตัวเลขขึ้น เช่น สงขลา โคราช เราคงถอดบทเรียนจากเชียงใหม่หรือจังหวัดที่เราเคยเข้าไปทำงานว่ามีสูตรสำเร็จ หรือควรส่งแกนนำในจังหวัดที่ตั้งหลักตัวเองได้แล้วไปเป็นพี่เลี้ยงหรือไม่ เขาต้องลุกไปช่วยพื้นที่อื่น" ภรณีเอ่ย
"ส่วนเรื่องกระบวนการมันสำคัญ ดิฉันมองว่าสำคัญพอๆ กับผลลัพธ์ที่ได้ ซึ่งกระบวนการในชุมชนเป็นปลายทางที่เราคาดหวังอยู่แล้วว่าจะสร้างความยั่งยืนได้ ถ้าทุกฝ่ายเข้าใจและเข้ามาร่วมกันจัดการ ดังนั้นจำนวนคนไร้บ้านที่เราค้นพบกว่า 2,000 คน ไม่สำคัญเท่ากับ 86 องค์กร ที่มาร่วมมือกันครั้งนี้ ทั้งสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น และภาคประชาสังคมในระดับพื้นที่ โดยจากการที่ชุมชนได้สำรวจด้วยตัวเอง มันเกิดกระบวนการทำความเข้าใจว่า คนไร้บ้านคือใคร เขาอยู่พื้นที่ตรงไหนของชุมชนของเรา ซึ่งคนไร้บ้านแต่ละพื้นที่ต้องออกแบบเฉพาะพื้นที่ตัวเอง ไม่ควรเป็นการใช้แบบแผนเดียวกันหมดในทุกพื้นที่ แล้ว ทำอย่างไรจะติดอาวุธความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับคนเหล่านี้ได้ก็เป็นเรื่องที่ สสส. ต้องพยายามลงไปช่วยเสริมเขาต่อไป"
“ซึ่งจากการที่เราไปชวนสำรวจ เรามองว่ามีประโยชน์ เพราะเมื่อก่อนชุมชนเขาไม่ได้มองปัญหาเรื่องนี้ แต่พอมีการสำรวจ เขาได้เข้าใจสถานการณ์มากขึ้น บางชุมชนเองก็ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาเลย แต่จะไปทำศูนย์คนไร้บ้าน อาจไม่จำเป็นทุกที่ เราต้องคิดค้นแนวทางใหม่สำหรับจังหวัดที่มีคนไร้บ้านไม่ได้เยอะมาก เพราะการทำศูนย์การบริหารจัดการไม่ง่าย ค่อนข้างใช้เวลาและพลังเยอะมาก" นพพรรณเสริม
"จากข้อเสนอที่คุยกัน คือควรมีการเสนอกลไกให้พื้นที่เองให้มาร่วมมือกันช่วย ดูแลทั้งภาคประชาชนและภาคท้องถิ่น"
ในระยะถัดไปว่า สสส.คงมุ่งเน้นในเรื่องสิทธิของคนไร้บ้าน โดยเฉพาะสิทธิในการรักษาและสิทธิด้านสุขภาพ รวมถึงการส่งเสริมความรอบรู้ ความเข้าใจเรื่อง สุขภาพมากขึ้น
"คนไร้บ้านยังมีพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพหลายอย่างที่ยังไม่ปลอดภัย เช่น การสูบบุหรี่ เพราะเมื่อสุขภาพแข็งแรงแล้วก็จะได้มีการส่งเสริมต่อไปเรื่องความเข้มแข็งด้านอื่นๆ ต่อไป ส่วนอีกขาหนึ่ง ความสำคัญของการทำวิจัยคือการนำข้อมูลไปใช้ต่อให้เกิด ประโยชน์ สสส.จะนำข้อมูลวิชาการเหล่านี้ไปผลักดันภาคนโยบาย และขับเคลื่อนแรงบันดาลใจหน่วยงานต่างๆ อีกอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ตอนนี้มาตรการหลายอย่างที่ใช้กับคนไร้บ้านเป็นไปในทางประนีประนอมมากขึ้น จากเมื่อก่อนที่อาจใช้กำลัง เปลี่ยนเป็นไปลักษณะเชิญชวนมาพูดคุยถึงปัญหา หรือแม้แต่การปฏิบัติตัวของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับคนไร้บ้านเองก็ปรับตัว ไม่ใช่คำว่าจัดระเบียบอีกต่อไป"
เพราะการออกแบบเรื่องสุขภาพสำหรับคนทั่วไป ไม่อาจใช้เหมารวมได้กับกลุ่มประชากรเฉพาะ การสำรวจวิจัยครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสที่ สสส.และหน่วยงานด้านสุขภาพต่างต้องช่วยกันมองหาช่องว่างในการช่วยแก้ปัญหา ฟื้นฟูสุขภาพของคนไร้บ้านได้อย่างตรงจุด