ไทยใช้ “แอนติบอดี”แท็กซี่รักษาผู้ป่วยไวรัสโคโรน่าอาการหนัก

ไทยใช้ “แอนติบอดี”แท็กซี่รักษาผู้ป่วยไวรัสโคโรน่าอาการหนัก

ไทยใช้“แอนติบอดี”จากแท็กซี่ให้ผู้ป่วยติดไวรัสโคโรน่าอาการหนัก 2 ราย รอประเมินผลหลัง 48 ชั่วโมง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญยันเชื้อไม่ติดต่อทางอากาศ เดินหน้าทำงานมุ่งเป้าคนไทยทำงานสัมผัสจีนเป็นหลัก ชี้สัญญาณการระบาดในจีนแนวโน้มไม่แย่ลง

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยัน 32 รายเท่าเดิมในจำนวนนี้เป็นคนไทย 9 ราย เป็นคนจีน 23 ราย โดยหายดีกลับบ้านแล้ว 10 ราย นอนรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 22 ราย ส่วนคนไทยที่เดินทางกลับจากเมืองอู่ฮั่นมีผู้ป่วย 1 ราย อาการปกติ ยังอยู่ในห้องแยกโรค รอผลตรวจจากห้องปฏิบัติการ(ห้องแล็บ)เป็นลบจึงจะให้ออกจากห้องแยกโรค และยังไม่มีคนอื่นติดเชื้อเพิ่มเติม แสดงว่าไม่มีการแพร่ในเครื่องบินลำที่ใช้ในการเดินทาง

สำหรับผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคเฝ้าระวังสะสม 689 ราย โดยสัดส่วนเป็นคนไทย 50 %และคนจีน 50 % อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว 334 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 355 ราย หากมองในแง่ของการกระจายตามเขตสุขภาพ พบว่ากระจายอยู่ใน 5 เขตคือเขตที่ 1 ภาคเหนือตอนบน เขตที่ 4 ปริมณฑล เขต 6 ภาคตะวันออก เขต 11 ภาคใต้ตอนบน และเขต 13 กรุงเทพมหานคร
รพ.ไม่ขาดหน้ากากอนามัย
“จากการสำรวจความต้องการใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่มีอยู่กว่า 1 พันแห่ง พบว่าสต็อคหน้ากากอนามัยที่มีอยู่มีประมาณ 1 ล้านชิ้นมีความเพียงพอ และจะมีการนำเข้ามาเติมใหม่ในสัดส่วนของกระทรวงสาธารณสุขอีก 7 หมื่นชิ้นต่อวัน”นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าว

ยันทั่วไปไม่ติดต่อทางอากาศ
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวว่าเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 สามารถติดต่อได้ทางอากาศนั้น เป็นการระบุข้อมูลที่กว้างไป เนื่องจากการติดเชื้อทางอากาศที่เกิดจากละอองฝอยขนาดเล็กมากๆจากผู้ป่วยนั้น จะเกิดขึ้นในโรงพยาบาลที่มการทำหัตถการทางการแพทย์ให้กับผู้ป่วยเท่านั้น บุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การดูแลรักษาจึงต้องใส่ชุดป้องกันเป็นพิเศษและใส่หน้ากากอนามัย เอ็น 95 ส่วนการติดต่อในสภาพแวดล้อมทั่วไปนั้น จะเกิดจากการไอจาม ที่จะทำให้เกิดละอองฝอยขนาดใหญ่ที่จะพุ่งออกไปจากการไอ จามในระยะ 1-2 เมตรเท่านั้น เพราะฉะนั้น มาตรการในการใส่หน้ากากอนามัยจึงเพียงพอในการที่จะป้องกันการติดเชื้อ

นายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวว่า การแพร่เชื้อทางอากาศนั้น เกิดขึ้นได้มีเพียงไม่กี่โรค ที่จะติดจากละอองฝอยขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอน ที่จะสามารถห้อยแขวน ล่องลอยในอากาศไปได้ไกล จึงต้องป้องกันด้วยหน้ากากเอ็น 95 ส่วนไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 จะเป็นการแพร่เชื้อละอองฝอยขนาดโตที่ไปได้ไกลประมาณ 1-2 เมตร ถ้าอยู่ในรัศมีดังกล่าวแล้วมีคนป่วยไอหรือจามก็มีโอกาสติดได้ จึงแนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการติดต่อจากละอองฝอยขนาดเล็ก จะเกิดขึ้นในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการหนักนอนรักษาอยู่ในโรงพยาบาล ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และมีการดูดเสมหะ เพราะฉะนั้นบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การดูแลจะต้องป้องกันเต็มที่

“มาตรการป้องกันการติดเชื้อ คือการใส่หน้ากากอนามัยและล้างมือบ่อยๆ ซึ่งทำได้ทั้งการใช้แอลกอฮอล์เจล และใช่สบู่กับน้ำ จึงอยากขอเรียกร้องให้สถานประกอบการที่มีคนไปใช้บริการมากๆเสียสละการจัดหาสบู่เหลวมาให้บริการในการล้างมือกับประชาชน”นายแพทย์ทวีกล่าว

ตั้งคลินิกไข้หวัดเฉพาะ
นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 จะมีการหารือในระดับกระทรวง เพื่อจัดตั้งคลินิดไข้หวัดในจังหวัดเสี่ยงที่มีประชาชนพบปะกับนักท่องเที่ยวมาก เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่และชลบุรี เพื่อแยกผู้ป่วยออกจากคลินิกทั่วไปที่มีความหนาแน่นอยู่แล้ว โดยเฉพาะในส่วนของผู้ป่วยนอก  ส่วนผู้ป่วยหญิงชาวจีนที่มีอาการหนักและได้รับการรักษาด้วยสูตรยาราชวิถีนั้น นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า ผู้ป่วยอาการดีขึ้นมาก ผลการตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการเป็นลบ คาดว่าจะสามารถออกจากห้องแยกโรคได้ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563

มุ่งเป้าคนไทยทำงานสัมผัสจีน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคที่เป็นคนไทย ยังเป็นเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูงที่สัมผัสนักท่องเที่ยวจีนหรือไม่ นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า นักท่องเที่ยวจีนลดลงโดยลำดับจากมาตรการห้ามเดินทางออกนอกประเทศและปิดสนามบินของประเทศจีนเป็นเวลากว่า 10 วันแล้ว เพราะฉะนั้นไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ที่เป็นคนจีนที่เดินทางเข้ามา ขณะเดียวกันเมื่อมีคนไทยที่ทำงานสัมผัสใกล้ชิดกับนักท่องเทียวที่เริ่มป่วย จึงเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานในช่วงสัปดาห์นี้ คือต้องเฝ้าระวัง และติดตามกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่เป็นคนไทยที่สัมผัสใกล้ชิดนักท่องเที่ยวจีนให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุดเพื่อนำมาสู่การรักษาและวินิจฉัย จะได้ป้องกันไม่ให้มีการแพร่เชื้อไปสู่คนไทยทั่วไป

นายแพทย์ทวี กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาเคลื่อนจากคนจีนมาเป็นคนไทย จะเห็นภาพว่าคนที่ป่วยมักจะเกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวจีน เพราะฉะนั้น ไม่สามารถรับคนไทยทุกคนที่ป่วยเป็นไข้หวัดทุกคนได้ ซึ่งมีการศึกษาแล้วพบว่าแต่ละวันจะมีคนไทยป่วยด้วยไข้หวัด 2 แสนคน จึงต้องมีการวางหลักเกณฑ์ในการคัดกรองผู้ที่ต้องสงสัยติดว่าจะเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ให้กับสถานพยาบาลต่างๆ คือ เป็นนักท่องเที่ยวจีน เป็นคนไทยที่ทำงานกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวจีน และมีอาการปอดบวมที่ยังไม่แน่ใจว่าเกิดจากสาเหตุใด เพราะฉะนั้น การตั้งคลินิกไข้หวัดจะเป็นการช่องทางที่เน้นในกลุ่มนี้ให้มากที่สุด เพื่อให้สามารถตรวจเจอผู้ป่วยได้เร็ว

แนวโน้มสถานการณ์ไม่แย่ลง
ต่อข้อถามสถานการณ์ในจีนมีแนวโน้มคงที่ มีนัยยะว่าความรุนแรงโรคเริ่มจะลดลงหรือไม่ นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า ถ้าดูจากสถานการณ์ทั่วโลก จำนวนประเทศที่พบผู้ป่วยคงที่และผู้ป่วยใหม่นอประเทศจีนก็เพิ่มไม่มาก โดยหลักเป็นเพราะไม่มีการเติมผู้ป่วยหรือเชื้อจากประเทศจีนไปยังประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยด้วยจากที่เห็นตัวเลขผู้ป่วยคนจีนก็ลดลง ในช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนจะมีหลายราย แต่สัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ป่วยรายใหม่ที่มาจากประเทศจีนเพียง 1 รายเป็นคนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยก่อนที่จะปิดสนามบิน ที่เหลือจะเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดเจอเชื้อแต่อาการน้อย เพราะฉะนั้น ถ้าแหล่งโรคดีขึ้น สถานการณ์ในประเทศต่างๆรวมทั้งไทยก็จะดีขึ้น

นายแพทย์ทวี กล่าวว่า จากจำนวนผู้ป่วยที่ประเทศจีนมีการรายงานจะเห็นได้ว่าในระยะแรกจีนมุ่งที่จะลดการเสียชีวิต แต่ขณะนี้จะเห็นว่ามีการนำผู้ป่วยที่มีอาการน้อยเข้ามาสู่การดูแลรักษาด้วย ตัวเลขการรายงานผู้ป่วยจึงมากขึ้นกว่าในระยะแรกที่เป็นการมุ่งที่ผู้ป่วยที่มีอาการวิกฤติเพื่อลดการเสียชีวิตเป็นหลัก ตรงนี้ถือเป็นสัญญาณที่ไม่แย่ลง แต่ดีขึ้นหรือไม่ เร็วเกินไปที่จะบ่งบอกได้เช่นนั้น แต่บ่งบอกได่ว่าค่อนข้างคงที่

แอนติบอดีแท็กซี่ให้คนป่วยหนัก
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการขอให้แท็กซี่ที่หายจากการป่วยแล้วมาบริจาคเลือดให้กับผู้ป่วยที่ยังรักษาอยู่ นายแพทย์ทวี กล่าวว่า จากรายงานการศึกษาการรักษาโรคอุบัติใหม่ที่ผ่านมา เมื่อคนที่หายแล้วจะมีภูมิคุ้มกันขึ้น แต่จะมีภูมิขึ้นชัดเจนนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 2 สัปดาห์หลังจากเริ่มป่วย แต่ถ้าดีที่สุดคือประมาณ 4 สัปดาห์หรือ 1 เดือน เพราะหากหลังจากนี้ภูมิคุ้มกันก็อาจจะค่อยๆ ลดลงไปอย่างช้าๆ จึงมีการเอาเลือดของผู้ที่หายป่วยแล้วมาสกัดเอาน้ำเหลืองที่มีภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี ซึ่งถือว่าเป็นคอนเซ็ปต์ที่ดีกว่ายา เพราะภูมิคุ้มกันจะเข้าไปจับเชื้อโรค ซึ่งหลักเกณฑ์นี้นำมาจากสมัยโรคซาร์ส ที่ใครป่วยแล้วรอดตายจะขอเลือดมาใช้รักษา รวมถึงสมัยอีโบลาที่มีแพทย์ชาวอเมริกันคนหนึ่งติดเชื้อ และได้รับเลือดจากเด็กชายชาวแอฟริกันรายหนึ่งที่หายจากโรคอีโบลา เป็นต้น

"ในขณะที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ยังไม่มียา ภูมิคุ้มกันในคนที่หายแล้ว ก็เหมือนยา ยิ่งกว่ายา โดยเชื่อว่าขณะนี้จีนกำลังดำเนินการเรื่องนี้อยู่เช่นกัน ซึ่งจีนมีผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วจำนวนมากเป็นพันคนก็สามารถเลือกได้ว่า จะเอาเลือดของคนไหนมาใช้ สำหรับประเทศไทยตอนนี้มีแค่คนขับแท็กซี่คนเดียวที่หายและเป็นคนไทย เพราะที่เหลือเป็นคนจีนกลับประเทศไปแล้ว ส่วนรายนครปฐมเป็นหญิงสูงอายุ ซึ่งไม่สามารถเข้าหลักเกณฑ์การบริจาคเลือดได้ เพราะเป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวคือหัวใจด้วย จึงเหลือเพียงคนขับแท็กซี่ ที่เป็นคนหนุ่มอยู่ในช่วงอายุ 40 ปี และมีสุขภาพแข็งแรงพอ โดยเลือดที่ใช้ก็จะใช้ปริมาณเหมือนกับการบริจาคเลือดตามปกติทั่วไป ส่วนต่อไปหากมีคนหายเพิ่มก็อาจต้องขอนำมาภูมิคุ้มกันมาใช้ศึกษา" นพ.ทวีกล่าว

รอผลหลัง48 ชั่วโมง
“เลือดของผู้ป่วยที่หายดีแล้วที่จะเอามาใช้ เดิมต้องดูว่ากรุ๊ปเลือดตรงกันหรือไม่ แต่ตอนนี้ไม่สำคัญ เพราะสามารถเอากรุ๊ปเลือดออกได้ ให้เหลือเฉพาะภูมิคุ้มกัน แต่จะต้องพิจารณาว่ามีเชื้อพาหะอื่นอีกหรือไม่ เช่น ไวรัสตับอักเสบบี ตับอักเสบซี และเอชไอวี เป็นต้น หากมีก็ไม่สามารถใช้ได้ ทั้งนี้ แม้ขณะนี้ประเทศไทยจะมีคนเดียวคือรายแท็กซี่ที่หาย แต่เราก็อยากลอง โดยขณะนี้ได้นำมาให้คนไข้หนัก 2 คนแล้ว โดยต้องรอผลใน 48 ชั่วโมง สำหรับการให้ก็คงเลือกให้ในคนไข้ที่มีอาการปานกลางถึงหนัก มากกว่าที่จะให้คนไข้ธรรมดา ก็เหมือนกรณีการให้ยาต้านไวรัสที่ให้ในรายที่อาการหนัก แต่หากมีอาการหนักมากก็จะไม่ให้ เพราะให้ไปแล้วหากอาการแย่ลงก็จะไปโทษว่ายาไม่ได้ผล ส่วนภูมิคุ้มกันนี้เอาไปทำวัคซีนเพื่อป้องกันไม่ได้ เพราะวัคซีนต้องทำจากเชื้อ”นายแพทย์ทวีกล่าว