งดแจก “ถุงฯหูหิ้ว” สู่การจัดการขยะพลาสติกยั่งยืน I Green Pulse
3, 750 ล้านใบ คือ “ถุงพลาสติกหูหิ้ว” ที่รัฐสามารถรณรงค์ให้ประชาชนงดใช้ไปได้จากร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าต่างๆ ภายในเวลา 1 เดือน นับตั้งแต่มีการณณรงค์ภายใต้แคมเปญอันโด่งดังของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ “Everyone Says No to Plastics Bags”
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมเป็นต้นมา
และนั่น หมายถึงปริมาณขยะเกิน 1 ใน 4 ที่จะเกิดจากถุงฯ ที่เกิดจากร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าต่างๆทั่วประเทศในแต่ละปี (ราว 13,500 ล้านใบ หรือราว 30% ของถุงฯ ทั้งหมดที่ใช้ในประเทศคือ 45,000 ล้านใบ) ที่สามารถขจัดออกไปจากระบบได้แล้วภายในระยะเวลาช่วง 1 เดือน
จึงไม่แปลกใจที่ความสำเร็จที่เกินคาดหมายนี้ กำลังนำ ทส. และหน่วยงานใต้สังกัดคือกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ไปสู่การขยับขยายแคมเปญในอีกสองภาคส่วนที่ผลิตถุงฯ ที่เหลือคือ ร้านขายของชำและตลาด ซึ่งมีสัดส่วยรวมกันแล้วถึง 70% และการจัดทำกฎหมายจัดการขยะพลาสติกเพื่อกำกับดูแลขยะพลาสติกในประเทศในภาพรวมและยั่งยืนต่อไปในอนาคตที่ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษมองว่า เริ่มต้นได้ดีและกำลังมาถูกทาง
โดยเรื่องนี้ ได้รับการเปิดเผยโดย รมว.ทส. วราวุธ ศิลปอาชาในเดือนนี้ว่า โครงการ Everyday Say No To Plastic Bags ทำให้ภายในเดือนมกราคม สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วนี้ลงได้ถึงประมาณ 3,750 ล้านใบ ซึ่งหากโครงการสามารถลดการใช้ถุงฯ ได้ 100% นั่นจะหมายถึงปริมาณขยะที่จะต้องกำจัดที่จะหายไป 225,000 ตัน ทำให้รัฐจะสามารถประหยัดงบประมาณจัดการขยะ 340 ล้านบาท และลดการใช้พื้นที่ฝังกลบขยะได้ถึง 616 ไร่
“ความตื่นตัวในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกินความคาดหมายของผมจริงๆ แม้จะมีความเห็นต่างอยู่บ้าง แต่เสียงส่วนใหญ่ในประเทศสนับสนุนเรื่องนี้” นายวราวุธกล่าวในการให้สัมภาษณ์พิเศษ UNDP ไม่นานมานี้ โดยได้อ้างอิงถึงเหตุการณ์ที่น่าเศร้าสลดของลูกพะยูนกำพร้าที่ต้องตายลงเพราะพลาสติกและสัตว์ป่าอื่นๆ ในปีที่แล้ว ที่อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประชาชนหันมาตื่นตัวในเรื่องนี้ และทำให้เขาเองตัดสินใจขยับแผนการแบนถุงพลาสติกหูหิ้วจากปีหน้ามาเริ่มทันทีในปีนี้
นายวราวุธกล่าวเพิ่มเติมว่า เขาหวังว่า สุดท้าย โครงการนี้จะนำสังคมไทยไปสู่ zero waste ที่แม้จะเริ่มต้นจากการลดการใช้พลาสติก แต่มันจะนำไปสู่กระบวนการอื่นรวมทั้งการรีไซเคิลจนเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในที่สุด
ทั้งนี้ นายวราวุธได้หวังว่าประชาชนจะช่วยกันลดความสะดวกสบายคนละเล็กละน้อยเพื่อให้งานนี้สำเร็จตามเป้าหมาย, เขาบอกกับ UNDP
จากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ ปัญหาขยะพลาสติกกลายเป็นวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกที่นานาชาติให้ความสำคัญ โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีขยะพลาสติกเกิดขึ้นประมาณ 12% ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมดหรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน และสามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้เพียงเฉลี่ยปีละ 0.5 ล้านตันเท่านั้น
รัฐบาลได้ตระหนักถึงปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะพลาสติก โดย ทส. ได้จัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 เพื่อใช้เป็นกรอบและทิศทางการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการจัดการขยะพลาสติกของประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 2 เป้าหมาย คือ การลดและเลิกใช้พลาสติกเป้าหมาย ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะดำเนินการกับประเภทและชนิดของพลาสติกที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้และก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาได้กำหนดการเลิกใช้พลาสติก 3 ชนิด ภายในปี 2562 ได้แก่ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ผสมสารอ๊อกโซ่ และไมโครบีดส์ และกำหนดเลิกใช้พลาสติก 4 ชนิด ภายในปี 2565 ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบาง (หนาน้อยกว่า 36 ไมครอน) กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) และหลอดพลาสติก ในขณะที่เป้าหมายที่ 2 จะเกี่ยวข้องกับการนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ ร้อยละ 100 ภายในปี 2570
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายประลอง ดำรงค์ไทย ได้เปิดเผยในการประชุมมอบนโยบายการบริหารจัดการขยะพลาสติกที่จังหวัดเชียงใหม่ในระหว่างอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า ถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดบางหรือถุงก๊อบแก๊บ เป็น 1 ใน 7 ชนิดของพลาสติกเป้าหมายที่ต้องเลิกใช้ภายในปี 2565 โดยมีการใช้ถุงฯ นี้ในประเทศไทย 45,000 ล้านใบต่อปี ประกอบด้วย ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ ร้อยละ 30, ร้านขายของชำ ร้อยละ 30, และตลาดสด ร้อยละ 40
ทส. ได้ขอร่วมมือจากภาคีเครือข่ายภาคธุรกิจเอกชน ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ กว่า 90 ราย ในการงดให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้วกับลูกค้า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาและจากการติดตามประเมินผลระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 12 ก.พ., พบว่า ห้างฯ งดให้ถุงฯ ตามนโยบายรัฐถึงร้อยละ 97 นอกนั้นร้อยละ 3 เป็นการให้หรือจำหน่ายถุงชนิดอื่นๆให้ลูกค้า เช่น ถุงสปันบอนด์ ถุงผ้า ถุงพลาสติกรูปทรงอื่น ถุงพลาสติกข้อความรักษ์โลก หรือถุงกระดาษ
สำหรับฟีดแบคของลูกค้าต่อมาตรการงดให้ถุงฯ ของห้างฯ, คพ. พบว่า ให้ความร่วมมือร้อยละ 61, เฉยๆ ร้อยละ 36, และไม่ให้ความร่วมมือเพียงร้อยละ 3
ดังนั้น ทาง คพ. จึงได้ขับเคลื่อนงานต่อโดยขยายผลไปยังร้านขายของชำและตลาด โดยเริ่มที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นแห่งแรก และตั้งเป้าหมายว่า จะจัดให้มีตลาดสดต้นแบบที่งดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว อย่างน้อย จังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อเป็นต้นแบบ
นอกจากนี้ ในที่ประชุมที่จังหวัดเชียงใหม่, ทาง คพ. ยังได้ขับเคลื่อนการจัดทำกฎหมายจัดการขยะพลาสติกโดยเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง
ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการองค์กรรณรงค์การจัดการปัญหาด้านมลพิษ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า โครงการรณรงค์ดังกล่าว ถือว่าเป็นการ “kickstart ที่ดี” ในความพยายามจัดการปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทย เพราะส่งผลด้านบวกในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชชนและผู้บริโภค อาทิ การพกถุงผ้าไปซื้อของ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ได้การประเมินความสำเร็จที่ถูกต้อง จำเป็นต้องมีการจัดทำข้อมูล และดัชนีที่อ้างอิงที่สามารถวัดได้อย่างเป็นวิชาการ
นอกจากนั้น การดำเนินการไม่ควรหยุดอยู่ที่พลาสติก 7 ชนิดที่ตั้งเป้าไว้ เพราะขยะพลาสติก ยังมาจากแหล่งกำเนิดอื่นอย่างมีนัยยะสำคัญ อาทิ แพคเกจจิ้ง, ธารากล่าว พร้อททั้งยกตัวอย่างของการสั่งซิ้ออาหารและสินค้าออนไลน์ที่มีแพคเกจจิ้งพลาสติกเป็นส่วนสำคัญ
การขยายผลการลดการใช้พลาสติกไปสู่เซคเตอร์อื่น ไปจนถึงการจัดทำร่างกฎหมาย จึงเป็นก้าวย่างที่มีความน่าสนใจว่า ประเทศไทย จะสามารถจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกได้อย่างจริงจังเป็นรูปธรรมมากน้อยแค่ไหนจากนี้, ธารากล่าว
เขากล่าวว่า นอกจากการเริ่มต้นที่การลดขยะในกลุ่มผู้บริโภคแล้ว การลดขยะตั้งแต่ต้นทาง คู่ขนานไปกับการรีไซเคิลที่คาดหวังกันไว้มาก ควรได้รับความสำคัญในเนื้อหาร่างกฎหมาย ทั้งนี้ โดยผ่านการแปลงหลักการ extended producer responsibility หรือ การขยายความรับผิดชอบในกลุ่มผู้ผลิต รวมไปถึงการจัดทำมาตรฐานอุตสาหกรรม และการบริหารจัดการขยะและการคัดแยกขยะผ่านการจัดทำฉลากช่วยคัดแยกผลิตภัณฑ์สำหรับนำไปรีไซเคิล
และนั่น หมายถึงกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดทำร่างกฎหมายเพื่อให้ทุกมิติของการจัดการปัญหาขยะพลาสติกมีความครอบคลุมครบถ้วน
“ก็เป็นเรื่องที่ต้องรอดูกันต่อไป เพราะในเวลานี้ เราก็ยังเห็นการเพิ่มขึ้นของพลาสติกโปรดักส์ในภาพรวมอยู่ดี เพราะเรายังไม่ได้เน้นไปที่มาตรการการลดการใช้ตั้งแต่ต้นทางมาก
“ถือว่าเป็นการ kickstart ที่ดี แต่ก็ต้องติดตามกันต่อไป” ธารากล่าว