สามเหลี่ยมชุมชนลด เลิกเหล้า กระบวนการเชิงพุทธหยุด 'ดื่ม'
ถอดบทเรียนการดำเนินงานในพื้นที่ “สามเหลี่ยมชุมชนขยับขับเคลื่อนงาน ลด เลิกสุรา” จัดโดยโครงการการขับเคลื่อนการบำบัดดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุรา โดยกระบวนการเชิงพุทธ ร่วมกับเครือข่ายองค์กรงดเหล้า สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
ข้อมูลการเข้ารับบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ในปี2559 พบว่าประชากร 2.7 ล้านคนการดื่มมีปัญหา และมีเพียง 168,729คน หรือร้อยละ 6.2 ที่เข้ารับการบริการ
น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่าประเทศไทยมีผู้ที่มีปัญหาการดื่มสุรามากแต่การเข้าถึงบริการมีเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเกิดปัญหาการเข้าถึงการบริหาร และอีกปัญหาหนึ่งคือผู้ที่มีปัญหาดื่มสุราไม่อยากรู้สึกว่าตัวเองป่วย ไม่อยากเข้าบำบัด และอยากใช้ชีวิตประจำวัน ประกอบอาชีพ ทำงานในชุมชนต่อไป
สสส.สนับสนุนโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2562 โดยพยายามทำให้ผู้มีปัญหาการดื่มสุรามีทางเลือกมากขึ้น เปิดโอกาสให้ชุมชนมาสนับสนุน มีวัดเป็นที่พึ่งทางใจ และมีบุคลากรสุขภาพ ซึ่งการทำงานทั้ง 3 ภาคีในพื้นที่อย่างที่เรียกว่าสามเหลี่ยมชุมชนทำให้มีองค์ความรู้กระบวนการทางสุขภาพชัดเจน มีชุมชน วัด บุคลากรทางสุขภาพเป็นนำแกนสำคัญ
โดยเฉพาะหลังจากผู้มีปัญหาการดื่มสุราในการดูแล ชุมชนเป็นหลักในการให้ความเป็นมนุษย์กับทุกคนอย่างเท่าเทียมและเพื่อให้คนในชุมชนได้ดูแลร่วมกัน อีกทั้งยังเป็นการสร้างต้นแบบของผู้เลิกสุราได้อีกด้วย
“กระบวนการเชิงพุทธสู่การบำบัดดูแลผู้ที่มีปัญหาสุราในและนอกระบบสุขภาพมีการทำงานนำร่องใน 25 ชุมชน 25 วัด ในภาคเหนือและอีสาน เนื่องจากค้นพบว่าผู้มีปัญหาดื่มสุรา 411 คน สมัครเข้าร่วมโครงการ 298 คน เมื่อผ่านกระบวนการแล้วสามารถเลิกดื่มได้ 53 คน คิดเป็นร้อยละ 17.8 และลดระดับการดื่ม 227 คน คิดเป็นร้อยละ 76.2 โดยหลังจากนี้จะมีการขยายผลทำงานร่วมกับชุมชนอื่นๆที่สนใจ เพื่อให้แนวทางเดินหน้าต่อไป”น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว
สสส.จะสนับสนุนการทำงานที่สามารถบูรณาการความร่วมมือจากหลายฝ่ายจนเกิดเป็นรูปธรรมการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน นี่เป็นเพียงจุดเริ่มจุดเล็กๆ แต่เข้มแข็ง และพร้อมเรียนรู้ไปด้วยกันกับชุมชน
เมื่อผู้ที่มีปัญหาสุราทั้ง 12 คน ได้เข้าค่ายธรรมยาใจ 7 วัน 6 คืนแล้ว ได้มีการติดตามประเมินผล พบว่ามีผู้ที่สามารถเลิกสุราได้อย่างเด็ดขาด 5 คน ส่วนที่เหลือ 7 คน มีอัตราการดื่มที่น้อยลง
พระอธิการสุชาติ เดชดี เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัยปอพาน อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม กล่าวว่าเป็นหน้าที่วัดที่ต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนบำบัดดูแลผู้ที่มีปัญหาการดื่มสุรา โดยใช้กระบวนการทางพระพุทธศาสนาสร้างพลังการเปลี่ยนแปลง เริ่มจากอสม.คัดกรองผู้สมัครเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 12 ราย มาปฎิบัติธรรมร่วมกับญาติธรรม และชาวบ้าน ผู้นำชุมชน นุ่งขาวห่มขาว นับถือศีล 8 ปฎิบัติธรรมอยู่ในวัดเป็นเวลา 7 วัน 6 คืน มีกิจกรรมให้ทำ อาทิ สวดมนต์ไหว้พระ เดินบิณฑบาตตอนเช้า อบรมฟังธรรม ทำจิตใจให้ว่าง รวมถึงมีการให้ความรู้ แนวทางลดละเลิก
“กระบวนการธรรมยาใจที่ทุกคนได้เรียนรู้ นอกจากฝึกบังคับจิตใจตนเองแล้ว ยังมีครอบครัวมาทำกิจกรรมร่วมกันและมีชาวบ้านมาให้กำลังใจ ทุกกิจกรรมจะเป็นการส่งเสริมให้พวกเขาเห็นคุณค่าในตัวเอง และให้ชุมชนได้เห็นว่าบุคคลเหล่านี้มีคุณค่า เมื่อเขาออกจากโครงการจะได้ไม่มีปัญหาการเข้าสังคม ซึ่งโครงการดังกล่าวช่วยบำบัดผู้ที่มีปัญหาสุราได้เป็นอย่างดี หลังจากนี้จะขยายสู่ตำบล อำเภอต่อไป” พระอธิการสุชาติ กล่าว
นายอภิลักษณ์ ภูวงค์ กำนันต.ปอพาน จ.มหาสารคาม กล่าวว่ากำนัน ผู้นำชุมชนมีหน้าที่ในการดูแลประชาชน ซึ่งตนเองมีเป้าหมายอยากเห็นชุมชมกินอิ่ม นอนอุ่น คือการทำอย่างไรให้ประชาชนพออยู่พอกิน ได้มีการน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้การดำรงชีวิต มีความปลอดภัยในเรื่องทรัพย์สิน และการใช้ชีวิต ซึ่งสุราเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จะทำให้คนกินไม่อิ่ม นอนไม่อุ่น ดังนั้น เมื่อรู้ว่ามีโครงการเกี่ยวกับการบำบัดผู้ที่มีปัญหาสุราก็เข้าร่วมทันที
โดยเริ่มจากการเข้าร่วมอบรม และหารือร่วมกับผู้นำชุมชน พระอาจารย์ ทุกท่านพร้อมให้ความร่วมมือในการจัดกิจกรรมธรรมยาใจ ใช้หลักป่าล้อมเมือง เอาน้ำดีไล่น้ำเสีย ให้ญาติธรรม ชาวบ้านทุกคนที่ไม่ดื่มสุราและสมัครใจมาร่วมปฎิบัติ คอยเป็นพี่เลี้ยงให้กำลังใจ ชักจูงให้เขาทำกิจกรรมต่างๆ และป้องกันไม่ให้พวกเขาออกไปดื่มสุรา หรือมีเพื่อนที่ดื่มสุรามาชักชวนตลอด 7 วัน
ถือเป็นโครงการที่ดีและประสบความสำเร็จในการลด ละ เลิกผู้ที่มีปัญหาสุรา และเป็นสังคมแห่งการเกื้อกูล อะไรที่ช่วยเหลือได้ ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
นายอรัญ เปรมปรี อายุ 50 ปี ชาวบ้านที่ติดสุราและสามารถเลิกได้เด็ดขาดเมื่อเข้าร่วมโครงการ เล่าว่าดื่มสุรามาตั้งแต่อายุ 17 ปี จนตอนนี้เลิกดื่มได้ 7 เดือนหลังจากเข้าร่วมโครงการ ทำให้รู้ว่าชีวิตมีคุณภาพที่ดีขึ้นมาก ครอบครัวไม่มีปัญหาด้านการเงิน หรือปัญหาอื่นๆ เพราะตอนนี้สามารถชำระหนี้ 40,000ได้และมีเงินเก็บ 20,000 บาท เมื่อเราเลิกดื่มสุราทำให้มีแรง มีกำลังในการจะทำงาน และไปไหนก็ไม่มีใครเรียกเราว่า ขี้เหล้าอีกแล้ว
“ก่อนเข้าร่วมโครงการ ผมติดเหล้ามาก ติดจนป่วยหนัก สิ้นหวัง ไม่อยากมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ ครอบครัวก็มีปัญหา ไปไหนมาไหนก็มีแต่คนเรียกขี้เหล้า เคยเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มสุรานับสิบครั้ง ถูกไล่ออกจากงานและที่เลวร้าย คือทำให้ที่นา 8 ไร่ของภรรยาหายไปกับขวดเหล้า จนกระทั่งได้เห็นโครงการและเข้าร่วม ช่วง1-3 วันแรกยากมาก หงุดหงิด มือสั่น อยากหนีไม่อยากเลิกเหล้า แต่กระบวนการทางธรรมทำให้รู้จักการใช้ชีวิต ยิ่งมีคนมาคอยให้กำลังใจทำให้เรามีพลังที่จะเลิกเหล้า และทุกวันนี้ไม่แตะเหล้าอีกเลย อยากฝากคนที่อยากดื่มหรือกำลังดื่มขอให้ลดน้อยลง แล้วชีวิตของเราจะดีขึ้นมาก ทุกคนทำได้ขอเพียงมีกำลังใจ และมุ่งมั่นที่จะเลิกเหล้าจริงๆ” นายอรัญ กล่าว