จาก 'น้ำ' ถึง 'ดิน' กุญแจไขวิกฤตภัยแล้งยั่งยืน

จาก 'น้ำ' ถึง 'ดิน' กุญแจไขวิกฤตภัยแล้งยั่งยืน

เพราะการแก้ปัญหาต้องเริ่มที่ต้นทาง วิกฤตภัยแล้งที่ปีนี้มาแรงมาเร็ว หนักหน่วงกว่าทุกคราวเป็นสัญญาณเตือนอีกครั้งว่า เราจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าปีต่อปีไม่ได้อีกแล้ว

ถ้าย้อนกลับไปดูไทม์ไลน์ของวิกฤต “น้ำ” ในรอบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา จะเห็นว่านับตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมาจนถึงปีนี้ ปีฤดูกาล 2562/2563 ทุกสิบปีประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งสลับกันมาโดยตลอด

“ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ทำลายความเชื่อมั่นของสังคม ทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุน และอีกหลายต่อหลายเรื่อง ในขณะที่เราเป็นพื้นที่รับน้ำจากแม่น้ำหลายๆ สาย แต่พอแล้งก็ขาดน้ำ เรามีปัญหาน้ำทะเลรุก มีพื้นที่ถูกกัดเซาะหายไปมากมาย เช่นที่วัดขุนสมุทรจีน จังหวัดสมุทรปราการ ถูกน้ำทะเลกัดเซาะพื้นที่หายไปเป็นระยะทางถึง 2 กิโลเมตร เป็นต้น”

รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะหัวหน้า “โครงการพัฒนาเจ้าพระยาเดลต้า 2040 บอกว่า “ในความเป็นจริง ตอนนี้เราอยู่ได้ด้วยระบบทางวิศวกรรมทั้งหมด ด้วยระบบไฟฟ้า ระบบปั๊ม ระบบคลอง ฯลฯ หากไม่มีการจัดการเสียแต่ตอนนี้ อีก 20 ปีกรุงเทพฯ จะเป็นอย่างไร?

1582877121100

แม้ว่าในส่วนของ “น้ำบาดาล” ซึ่งในยามนี้กลายเป็นที่พึ่งหลักของผู้ประสบภัย โดย นายบรรจง พรมจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาล ยืนยันว่า ในพื้นที่กรุงเทพ หรือลุ่มน้ำเจ้าพระยายังเหลือน้ำบาดาลใช้แก้ปัญหาภัยแล้งได้อีกพอสมควร แต่ถ้าหวังจะสูบน้ำบาดาลไปใช้เพียงอย่างเดียว ย่อมเป็นปัญหาในอนาคตได้ เช่น จังหวัดนครปฐม และสมุทรสาคร ที่มีการเจาะน้ำบาดาลเกินระดับปลอดภัย จึงเสี่ยงต่อการทรุดตัวของพื้นที่

“เราต้องมอนิเตอร์และดูแลต่อไป น้ำที่เหลือผมเห็นด้วยที่จะเอามาใช้ เช่น ช่วงแล้ง เกิดน้ำเค็มรุก แต่อย่าให้เกินระดับปลอดภัย เพราะน้ำบาดาลไม่ใช่ “น้ำทางเลือก” แต่เป็น “น้ำเพื่อความมั่นคง” เราควรจะมีจุดที่เป็นบ่อสำรอง เป็นอนาคตที่เราต้องอยู่กันต่อไป ควรจะนำน้ำที่มีอยู่ไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด” ผอ.สำนักอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาล บอกในการประชุมสัมมนาผู้เชี่ยวชาญและรับฟังความคิดเห็นการศึกษา “โครงการพัฒนาเจ้าพระยาเดลต้า 2040สำหรับการวางแผนบริหารจัดการลุ่มน้ำเจ้าพระยาในอีก 20 ปีข้างหน้า เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการบริหารจัดการ “น้ำ” จะเป็นเป้าหมายหลักของโครงการวิจัย ภายใต้ “แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ” แต่การจัดการน้ำอย่างยั่งยืนนั้นต้องจัดการครบทุกมิติ ทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ “พื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา” ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญนับตั้งแต่อดีต เป็นพื้นที่ของ “การตั้งถิ่นฐาน” ซึ่งร้อยละ 70 ของจีดีพีประเทศอยู่ตรงนี้

บนพื้นที่ที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมีความเสี่ยงทั้งน้ำท่วมและภัยแล้ง ด้วยจำนวนประชากรที่มี 16.41 ล้านคน มีความต้องการใช้น้ำ 4.3 พันล้านลูกบาศก์เมตร แต่ไม่มีน้ำต้นทุนของตนเอง ต้องอาศัยน้ำจากแม่น้ำปิง-วัง-ยม-น่าน ซึ่งแม้จะรวมความจุของน้ำในเขื่อนทั้ง 4 แห่งได้ราว2.5 พันล้านลูกบาศก์เมตร ก็ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ

สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะความเป็นเมือง ที่ดึงดูดให้ผู้คนจากทุกสารทิศหลั่งไหลกันเข้ามาจากร้อยละ 50 ในปัจจุบัน จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 72 ในอีก 30 ปีข้างหน้า เมื่อทรัพยากรน้ำต้นทุนมีอยู่จำกัด ไม่เพียงพอสำหรับรองรับการเติบโตของเมือง ฉะนั้น การจะแก้ปัญหาต้องไม่มองเพียงเรื่องของ“อุปทาน”แต่ต้องบริหารจัดการ “อุปสงค์” ด้วย

“เราใช้ที่ดินมากเกินไปหรือเปล่า?”

รศ.ดร.ชูเกียรติ ทรัพย์ไพศาล อดีตอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งคำถาม โดยเชื่อมโยงถึง “การใช้ประโยชน์ที่ดิน” ซึ่งมีทั้งการใช้ที่ดินชุมชน การใช้ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม และเกษตรกรรม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกษตรกรรมต้องการน้ำมากถึงร้อยละ 90 แม้ในปีที่ไม่ได้ประสบภัยแล้ง น้ำอาจจะเพียงพอแค่เพื่อการอุปโภคบริโภค แต่ไม่ครอบคลุมถึงการเกษตรกรรม ฉะนั้นการแก้ปัญหาจะมองเฉพาะพื้นที่เจ้าพระยาเดลต้าไม่ได้ ในเมื่อเจ้าพระยาเดลต้าใช้น้ำ 4.3 พันล้านลูกบาศก์เมตร แต่เรามีน้ำ 2.5 พันล้านลูกบาศก์เมตร เท่านั้น

“เราจะแก้ Supply Size อย่างเดียว ไม่ได้ แต่ต้องแก้ Demand Size ด้วย เราต้องทำดุลงบประมาณก่อนว่า เราควรจัดสรรพื้นที่เพื่อการเกษตรกรรมเท่าไหร่” รศ.ดร.ชูเกียรติ อธิบาย

นั่นหมายความรวมไปถึงการปรับเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรม เช่น ลดพื้นที่การปลูกข้าวซึ่งต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมาก เปลี่ยนเป็นพืชใช้น้ำน้อย พืชเกษตรราคาแพง เพราะแม้จะมีโครงการก่อสร้างเขื่อนทดน้ำผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่การบริหารจัดการพื้นที่

“ขณะนี้เรามี พ.ร.บ. 3 ฉบับ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ที่เรียกกันว่า “ผังน้ำ” เราพยายามทำผังน้ำลุ่มน้ำของจังหวัด ของอำเภอ เรามี พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.การผังเมือง 2562  เราพยายาม Integrateผังเมืองรวม ผังเมืองจังหวัด ผังเมืองชุมชน กับน้ำ เข้าด้วยกัน นี่คือสิ่งที่เราอยากแก้ปัญหาเป็นระบบ โดย พ.ร.บ.นโยบายการใช้ที่ดินและผังเมืองต้องเป็นหลัก

สอดคล้องกับ รศ.ดร.สุจริต คูณธนกูลวงศ์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย ด้านสังคม แผนการบริหารจัดการน้ำ ที่ชวนให้คิดว่า ปัจจุบันเราเริ่มเข้าถึงมุมอับแล้ว ฝนตก(น้อยกว่า??) 20% เราแล้ง ฝนตกมากกว่า 20%เราก็ท่วมแล้ว แสดงว่าระบบของเรารับไม่ไหวแล้ว 

158287712156

“สิ่งที่อยากจะเห็นคือ ผังการใช้ที่ดิน พื้นดินทุกตารางนิ้วต้องสร้างมูลค่า ต้องสร้างรายได้ให้ประเทศ ต้องมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพด้วย มีบัฟเฟอร์โซน มีการวิจัย มีผังน้ำที่ดูแลโครงสร้าง มีกติกาควบคุมการใช้ รวมถึงต้องมีผังเกษตร ซึ่งเป็นจุดบอดของประเทศไทย เรามีพืช 5 อย่างมา 30 ปีแล้ว ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ถามว่าเราไม่มีพืชอื่นหรือ ในเมื่อการเกษตรต้องใช้น้ำมากที่สุด การจะสร้างมูลค่ามากที่สุดเราต้องมีผังเมือง ผังอุตสาหกรรม ผังชนบท ผังโครงสร้างพื้นฐาน โดยที่ประชาชนจะต้องเป็นเจ้าของ ร่วมกันคิด ช่วยกันทำ และมีกฎหมายมหาชน” รศ.ดร.สุจริต กล่าว

เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลความรู้ที่เก็บตกจากเวทีการประชุมสัมมนา “โครงการพัฒนาเจ้าพระยาเดลต้า2040” เพื่อให้พอได้เห็นภาพโดยรวม และสังเคราะห์ออกมาเป็นประเด็นที่จะนำไปต่อยอดเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตที่กำลังคืบคลานเข้ามา ไม่เพียงแค่วิกฤตน้ำในขณะนี้เท่านั้น