ปลอดการบ้าน-ห้องเรียนกลับด้าน โฉมเรียนใหม่ 'โรงเรียนวัดบวรนิเวศ'
สร้างความฮือฮาให้แก่กลุ่มนักเรียนได้ทันที เมื่อทาง “โรงเรียนวัดบวรนิเวศ” ประกาศจะเป็น “โรงเรียนปลอดการบ้าน” ในปีการศึกษา 2563 ที่จะเปิดภาคเรียนในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อเพิ่มความสุขให้แก่นักเรียน ได้รับการตอบรับจากนักเรียนจำนวนมากว่าเป็นโรงเรียนในฝัน
จุดเริ่มต้นของไอเดียโรงเรียนปลอดการบ้าน ครูเขษมชาติ อารีมิตร ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบวรนิเวศ เล่าว่าเด็กไทยตอนนี้มาเรียนด้วยความเครียดและมีความสุขน้อยลง ซึ่งเท่าที่ได้เป็นครูสอนเด็กมาหลายสิบปี สัมผัสเด็กมามากมาย ส่วนใหญ่พวกเขาสนุก มีความสุขที่ได้เล่น ได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ได้ทำในสิ่งที่ตนเองอยากทำ และเด็กแต่ละคนก็จะมีบริบท ความสามารถ ความถนัด ความชอบที่แตกต่างกัน
แต่เมื่อครูสั่งการบ้านมากมายทำให้พวกเขาไม่มีเวลาไปทำกิจกรรมอื่นๆ เพราะแต่ละวัน เด็กต้องใช้เวลา 4-5 ชั่วโมงในการทำการบ้านหลายวิชา เมื่อต้องมาโรงเรียนในตอนเช้า บางคนตื่นสายมาไม่ทัน หรือเครียดที่ต้องทำการบ้านมากมาย เมื่อมาเรียนในชั้นเรียนก็หลับ
“ครูเห็นว่าเด็กไม่มีความสุขในการมาเรียน เพราะพวกเขาเบื่อ เครียดที่ต้องเรียนแล้วกลับบ้านก็ต้องไปทำการบ้านมากมาย อีกทั้งการบ้าน ไม่ได้ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้หรือค้นคว้า เนื่องจากต้องยอมรับว่า การทำการบ้าน เด็กส่วนใหญ่ก็จะลอกจากเด็กเก่งมาส่ง ดังนั้น การบ้าน ไม่ได้ส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เด็กได้อย่างแท้จริง และเมื่อครูตั้งใจว่าปี 2563 นี้ โรงเรียนวัดบวรนิเวศจะเป็นโรงเรียนปลอดการบ้าน ก็ได้มีการไปศึกษาจากประเทศที่สร้างเด็กเก่ง ๆ อย่าง สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ ฟินแลนด์ เกาหลี ญี่ปุ่น ทำให้เห็นว่าหลายๆ ประเทศจะไม่มีการบ้าน จึงได้นำแนวคิดนี้มาใช้เพื่อพัฒนาและเพิ่มความสุขในการเรียนรู้ให้แก่เด็กไทย”ผอ.โรงเรียนวัดบวรนิเวศ กล่าว
หลังจากได้ข้อสรุปชัดเจนว่าจะเป็นโรงเรียนปลอดการบ้าน ได้มีการนำแนวคิดดังกล่าวไปสอบถามความคิดเห็นจากนักเรียน ซึ่งทุกคนดีใจและเห็นด้วย รวมถึงได้หารือร่วมกับเครือข่ายผู้ปกครอง เครือข่ายสมาคมศิษย์เก่า และครูผู้สอน พบว่าส่วนใหญ่เห็นด้วยและอยากให้โรงเรียนดำเนินโครงการดังกล่าวโดยเร็ว
ครูเขษมชาติ เล่าต่อว่าการเรียนการสอนยังคงยึดตามหลักสูตรขั้นพื้นฐาน และเป็นไปตามพ.ร.บ.การศึกษาชาติที่ต้องการให้เด็กเก่ง ดี มีความสุข โดยจะใช้หลักสูตรห้องเรียนกลับด้านให้เด็กไปศึกษาหาข้อมูล ความรู้จากสื่อโซเซียลมีเดียต่างๆ และกลับมานำเสนอในชั้นเรียน ครูจะทำหน้าที่ตั้งโจทย์ และเสนอแนะให้เด็กได้คิดได้เรียนรู้
ขณะเดียวกันในแต่ละสัปดาห์จะมีแบบฝึกหัดจากโรงเรียน ให้เด็กและผู้ปกครองได้กลับไปช่วยกันทำ เช่น การเรียนภาษาไทย ครูจะมีโจทย์ให้เด็กไปฝึกพูด โดยขอให้พ่อแม่ ผู้ปกครองถ่ายคลิปและส่งมาให้ครูดู โดยครูทุกคนต้องมีเพจของตนเอง เมื่อครูได้รับคลิปจากเด็กจะส่งเข้าเพจของตนเอง และให้เพื่อนๆ ครู นักเรียนที่ติดตามครู รวมถึงผู้ปกครอง เข้ามาช่วยกันดู ประเมินที่ไม่ใช่เป็นการบอกว่าถูกผิด ดีหรือไม่ดี แต่จะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
“สิ่งที่เด็กจะได้รับไม่ใช่เพียงความสุขที่ไม่ต้องทำการบ้านเท่านั้น แต่เขาต้องเรียนรู้การรับผิดชอบตัวเองมากขึ้น เพราะเมื่อมีเวลาว่างมากขึ้น พวกเขาต้องบริหารจัดการตัวเอง ค้นหาตัวเองผ่านการทำกิจกรรมอื่นๆ ที่มีสาระ หรือมีประโยชน์ เด็กแต่ละคนมีบริบท ความสามารถ ความถนัด ความต้องการต่างกัน พวกเขาจะได้ใช้เวลาเหล่านี้ไปฝึกฝนเรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองชอบ ส่วนการที่หลายคนกังวลว่าเด็กจะเอาเวลาที่เหลือไปทำกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม เรื่องเหล่านี้เป็นหน้าที่ของครู ผู้ปกครองที่ต้องช่วยให้คำแนะนำแก่เขา เช่น การเล่นเกม จะไปห้ามเด็ก แต่ถามว่าผู้ใหญ่ทุกคนมีใครบ้างที่ไม่เคยเล่นเกมมาก่อน เพียงแต่เราต้องมานั่งพูดคุยกัน ให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น และผู้ใหญ่ต้องรับฟัง เพื่อได้มากำหนดกติการ่วมกัน”ครูเขษมชาติ กล่าว
ด็กทุกวันนี้พวกเขาสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ในโลกออนไลน์มีข้อมูลมากมายให้เขาได้เรียนรู้ ครูเขษมชาติ เล่าอีกว่าการปรับโฉมโรงเรียนครั้งนี้ ไม่ใช้เพียงปลอดการบ้านเท่านั้น แต่หลักสูตรห้องเรียนกลับด้าน ครูจะมาทำหน้าที่สอนหนังสือเหมือนในอดีตอย่างเดียวไม่ได้ ดังนั้น ต้องมีการทำความเข้าใจครู อบรมครูให้ได้เรียนรู้การสอนรูปแบบใหม่ เน้นให้เด็กได้ลงมือทำ แสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมการค้นหา ฝึกฝนผ่านเทคโนโลยี สื่อโซเซียลมีเดียต่างๆ
ไม่ว่าจะครูเก่าหรือครูใหม่ ทุกคนต้องปรับตัว เรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก ครูต้องเปิดใจยอมรับความคิดเห็นเด็ก และจะไม่มีการชี้ถูกผิด เพราะต่อให้ยังมีการสอบ แต่เด็กจะได้สอบจากข้อสอบหลากหลายชุด ให้เขาได้ลองทำด้วยตนเอง และเลือกชุดข้อสอบที่ตนเองมั่นใจที่สุดว่าจะได้คะแนนดี ถึงครูจะเฉลย และให้คะแนนเด็ก การสอบแบบนี้จะทำให้เขาได้เรียนรู้ในหลายๆ เรื่อง ขณะเดียวกันการที่เด็กแต่ละคนเลือกข้อมูลคนละชุด ถ้าไม่พอใจเปลี่ยนเป็นชุดใหม่ เขาจะได้เกิดการแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มนักเรียน และครูกับนักเรียน เมื่อครูเฉลยข้อสอบ
ปัจจุบันโรงเรียนวัดบวรนิเวศมีนักเรียนทั้งหมด 240 คน มีครู 31 คน ซึ่งด้วยความที่เด็กน้อยลง ทำให้การปรับครูเพื่อทำหน้าที่ดึงศักยภาพของเด็กนั้นจึงสามารถทำได้ง่าย ได้รู้ว่าเด็กคนไหนมีความบกพร่องอย่างไร และทำแผนการเรียนเฉพาะบุคคล ผ่านแบบฝึกหัดที่แตกต่างกัน
“หน้าที่ของโรงเรียนไม่ใช่เพียงสอนเด็ก แต่ต้องทำให้พวกเขาเรียนรู้อย่างสนุก ค้นหาตัวเองให้เจอ และมีความรับผิดชอบ รู้จักตัวเอง เพราะจริงๆ เด็กทุกคนมีความเก่งในตัวเอง เพียงแต่ต้องช่วยเขาค้นหา โครงการโรงเรียนปลอดการบ้าน การปรับเปลี่ยนห้องเรียนกลับด้าน”ผอ.โรงเรียนวัดบวรนิเวศ กล่าวทิ้งท้าย
รูปแบบการเรียนการสอนใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ ต้องเกิดจากความกล้าที่จะเปลี่ยนของผู้อำนวยการโรงเรียน ครู และความร่วมมือจากผู้ปกครอง ศิษย์เก่า เพื่อร่วมพัฒนาเด็กให้เรียนรู้อย่างมีความสุข เมื่อทุกคนเรียนรู้อย่างมีความสุขเขาจะทำได้ดีในสิ่งเหล่านั้น จึงอยากฝากผู้ปกครอง และโรงเรียนทุกแห่งร่วมกันออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับบริบทของเด็กและควรเป็นการเรียนรู้ที่ทำให้เด็กมีความสุข สนุกในการเรียน