หลบโควิด-หนีพิษฝุ่น! จุฬาฯ เตรียมนำร่องให้นิสิตเรียนออนไลน์

หลบโควิด-หนีพิษฝุ่น! จุฬาฯ เตรียมนำร่องให้นิสิตเรียนออนไลน์

จุฬาฯ ผนึก SkillLane พัฒนาระบบการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ ผ่านรายวิชาการศึกษาทั่วไปให้นิสิตทุกคณะ หวังบรรเทาผลกระทบภาวะวิกฤติ COVID-19 และปัญหาฝุ่น PM 2.5

สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่2019 (COVID-19) ซึ่งยังไม่สามารถควบคุมได้นั้น เมื่อบวกเข้ากับปริมาณ "ฝุ่นพิษ PM2.5" ซึ่งยังคงเป็นปัญหา ล่าสุด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับ SkillLane (สกิลเลน) บริษัทผู้ให้บริการ Online Learning Platform ทำการพัฒนาระบบการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ เพื่อพัฒนาทักษะสำคัญแห่งศตวรรษที่ 21 ผ่านรายวิชาการศึกษาทั่วไป (General Education) ให้แก่นิสิตทุกคณะ พร้อมขยายผลไปสู่สังคมในวงกว้าง อีกทั้งเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบในช่วงภาวะวิกฤติอันเนื่องมาจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และการระบาดของไวรัสโควิด-19 และเผยว่าจะพร้อมให้เรียนบางรายวิชาผ่านระบบออนไลน์ภายในมีนาคม 2563 นี้

รองศาสตราจารย์ ดร. แนบบุญ หุนเจริญ ผู้ช่วยอธิการบดี ด้านวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาฯ มีความพร้อมในการใช้นวัตกรรมการเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะสำคัญให้แก่นิสิต เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและสังคมการทำงาน การใช้ชีวิต

นอกจากนี้ยังมีความห่วงใยในสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 และการระบาดของโรค "โควิด-19" ที่สร้างผลกระทบต่อสวัสดิภาพของนิสิตเป็นอย่างมาก ทางคณะผู้บริหารจึงมีนโยบายให้คณาจารย์ผู้สอนจัดการสอนผ่านระบบออนไลน์เพื่อลดความเสี่ยงจากสถานการณ์ดังกล่าว สอดรับมาตรการของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยจะร่วมกับ SkillLane ทยอยนำร่องเปิดบางรายวิชาการศึกษาทั่วไปให้นิสิตสามารถเรียนผ่านระบบออนไลน์ในเดือนมีนาคม 2563

ในการเรียนผ่านระบบออนไลน์ นิสิตจะสามารถเข้าไปเรียนผ่านสมาร์ทโฟนหรือโน้ตบุ๊คผ่านระบบได้ทุกที่ทุกเวลา ทั้งยังสามารถดูย้อนหลังเพื่อทบทวนเนื้อหาการเรียนที่ผ่านมาได้ ซึ่งจุฬาฯ จะแจ้งรายชื่อวิชาและรายละเอียดเพิ่มเติมให้ผู้เกี่ยวข้องทราบโดยเร็วต่อไป

158341090889

ด้าน รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร. ณุวีร์ ประภัสระกูล ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาทั่วไป กล่าวเสริมว่า ในอนาคตจุฬาฯ จะขยายความร่วมมือกับ SkillLane พัฒนาระบบการจัดการเรียนการสอนแบบ Blended Learning ซึ่งเป็นการผสมผสานการเรียนในห้องเรียนและการเรียนออนไลน์ เพื่อให้นิสิตทุกคณะได้เลือกเรียนวิชาการศึกษาทั่วไปที่ตนเองอยากเรียน โดยไม่ติดข้อจำกัดจำนวนที่นั่งในชั้นเรียน หรือเวลาเรียนในตารางสอน

นอกจากนี้ ยังเพื่อเปิดโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้ไปสู่สังคมในวงกว้าง ควบคู่ไปกับการคงไว้ซึ่งคุณภาพผ่านระบบออนไลน์ ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมทั้งปัจจุบัน และอนาคต