แกะรอย! ผู้ป่วยโควิด-19ใหม่ 4 รายไม่ได้ไปต่างประเทศ
ผู้ป่วยยืนยันโควิด-19เพิ่ม 6 ราย ไม่ได้ไปต่างประเทศ 4 ราย ยันสถานการณ์ในไทยยังอยู่ระยะ 2 ไม่พบการแพร่เชื้อต่อเนื่องในประเทศ
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 11 มีนาคม 2563 นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019หรือโควิด-19(COVID-19) ว่า ผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ จำนวน 6 ราย โดยรายที่ 1 เป็นชายไทย อายุ 21 ปี เป็นเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินสุวรรณภูมิ เข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในกทม.เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2563 ด้วยอาการไข้มีน้ำมูก ปวดศีรษะ ส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลกลาง รายที่ 2 เป็นชายไทย อายุ 40 ปี เป็นเจ้าหน้าที่ตรวจค้นประจำสนามบินสุวรรณภูมิ เริ่มป่วยวันที่ 7 ด้วยอาการไข้ มีน้ำมูก ปวดศีรษะ เข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ด้วยอาการไข้ ไอ มีเสมหะ ปวดศีรษะ และรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง
“ผู้ป่วย 2 รายนี้มีประวัติกับผู้เดินทางจากต่างประเทศ แต่ไม่ได้เกิดจากการที่ถูกไอ จามใส่ แต่เป็นการติดจากการสัมผัสพื้นผิวที่อาจจะมีเชื้ออยู่ซึ่งในแต่ละวันจะต้องสัมผัสเป็นจำนวนมาก เช่น พาสปอร์ต หรือกระเป๋าเดินทาง จึงจะต้องมีการเน้นย้ำเข้มขึ้นให้เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ทำงานในลักษณะเช่นนี้ จะต้องล้างมือบ่อยๆด้วยเพราะบางครั้งอาจจะเผลอนำมือที่ไม่สะอาดมาเปื้อนใบหน้าได้ นอกเหนือจากการใช้หน้ากากอนามัยป้องกันตนเอง”นายแพทย์โสภณกล่าว
รายที่ 3 เป็นชายไทยอายุ 25 ปี พนักงานบริษัทเอกชน เริ่มป่วยวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ด้วยอาการไข้ ปวดกล้ามเนื้อ และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งใน กทม. 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ และ 2 มีนาคม 2563 ด้วยอาการไข้ แพทย์รับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล ผลเอกซเรย์พบปอดอักเสบ รักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น และหาสาเหตุไม่ได้ เข้านิยามการเฝ้าระวัง จึงตรวจทางปฏิบัติการยืนยันพบเชื้อ ขณะนี้ส่งมารักษาที่สถาบันบำราศนราดูร
จากการสอบสวนโรคเบื้องต้น ผู้ป่วยรายนี้ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ แต่ประวัติจากการสอบสวนโรคพบว่าเดินทางไปหลายจุดบางจุดเป็นสถานที่ที่ท่องเที่ยว มีโอกาสเจอกับนักท่องเที่ยวต่างชาติเช่นกัน และงานหลักเป็นวิศวกร มีการประชุมและลงพื้นที่ต่างๆด้วย จึงต้องหารายละเอียดต่อว่าจุดไหนที่มีความสี่ยงสูงสุด และหลายจุดที่ผู้ป่วยรายนี้ไปก็มีการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมดูว่ามีผู้ป่วยเข้าได้กับอาการโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งพบว่ายังไม่มีการผิดสังเกต รวมถึง จากการเฝ้าระวังเพื่อนร่วมงานยังไม่มีคนป่วยและยังไม่พบว่ามีผู้ป่วยรายต่อมา
รายที่ 4 เป็นหญิงไทย อายุ 27 ปี เดินทางกลับจากเกาหลีใต้ถึงไทยเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 เริ่มป่วยวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกทม.เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ด้วยอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ปวดศีรษะ ส่งมารักษาตัวที่โรงพยาบาลที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563
รายที่ 5 เป็นชายไทยอายุ 40 ปี เดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่น โดยก่อนเดินทางกลับ คือวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ประสบอุบัติเหตุเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ญี่ปุ่น เดินทางกลับถึงไทย 26 กุมภาพันธ์ 2563 และวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งจากกระดูกข้อมือซ้ายหัก ได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผลพบเชื้อไวรัสสาเหตุโควิด-19 รักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง
และรายที่ 6 ผู้ป่วยชายชาวสิงคโปร์ อายุ 36 ปี เจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่งในกทม. เริ่มป่วยวันที่ 6 มีนาคม ด้วยอาการไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามตัว เข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ขณะนี้รักษาที่สถาบันบำราศนราดูร ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 59 ราย ที่รักษาหายแล้ว 34 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 24 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วยอาการหนัก 1 ราย ที่รักษาตัวอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ป่วยรายที่ 6 เป็นเจ้าของร้านอาหารที่ตึกออลซีซั่นหรือไม่ นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า เข้าใจว่าเป็นรายเดียวกัน เพราะเป็นย่านเดียวกัน
ยังไม่เข้าระยะ3
“ถ้าไม่พบการระบาดต่อเนื่อง ก็มีโอกาสสูงที่จะเป็นการรับเชื้อจากต่างประเทศเข้ามา ซึ่งสถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้ยังไม่พบการป่วยเป็นกลุ่มก้อน และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นผู้สัมผัสกับคนต่างชาติแม้ไม่ทราบว่าคนนั้นคือใคร ซึ่งลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก ประเทศอื่นๆก็มีบ้างที่ไม่ทราบว่าบุคคลต้นเหตุคือใคร แต่สำคัญอยู่ที่เป็นลักษณะของการที่จำกัดอยู่ที่ตัวผู้ป่วยได้รับเชื้อ แต่ไม่ได้มีการแพร่เชื้อต่อไปยังคนถัดไป”นายแพทย์โสภณกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเทศไทยมีการระบาดในระยะที่ 2 ยังไม่เข้าสู่การระบาดของโรคในระยะ 3 นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า ระยะที่ 2 จุดสำคัญคือ เจอผู้ป่วยแต่จำกัดอยู่ตรงนั้น ไม่ได้ต่อไปให้มีผู้ป่วยในรุ่นที่ 2 ,3 หรือ 4 แปลว่ายังควบคุมได้ ถ้ายกตัวอย่างประเทศอื่นจะไปหลายรุ่นแล้วจนไม่สามารถย้อนมาตามรุ่นแรกๆไม่เจอว่าเป็นใคร ถือเป็นการแพร่เชื้อแบบต่อเนื่องในประเทศที่จะควบคุมโรคแยกแล้ว ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีการแพร่เชื้อในลักษณะนี้ให้เห็นเลยไม่ว่าในผู้ป่วยรายใดก็ตาม เพราะฉะนั้น ยังอยู่ในระยะที่ 2ถือว่ายังควบคุมได้