ยุทธศาสตร์ 4 ระดับ 9 ด้าน พาจีน ผ่านวิกฤต โควิด-19
โรคโควิด-19 ซึ่งมีจุดศูนย์กลางในประเทศจีน อัตราผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากหลักสิบปลายปีที่แล้ว ทะยานสู่หลักหมื่นในเดือนกุมภาพันธ์ การรับมือของจีนที่เราเห็นไม่ว่าจะเป็นเกณฑ์แพทย์พยาบาล สร้าง รพ. และมาตรการต่างๆ ทำให้โรคชะลอในขณะนี้
หลังจากที่พบผู้ป่วยคนแรกช่วงสิ้นเดือนธันวาคม 2562 นักวิทยาศาสตร์จีนและประเทศต่างๆ ได้ทำการแยกตัวเชื้ออย่างรวดเร็ว สามารถเพาะเชื้อและอ่านรหัสพันธุกรรมได้ภายใน 1 สัปดาห์ โดยเพาะเลี้ยงเชื้อ 104 สายพันธุ์ จากคนไข้ 104 คน พบว่า มีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงกับค้างคาว 96% แต่ที่ยังไม่ทราบคือมาจากค้างคาวโดยตรงหรือไม่
เมื่อเปรียบเทียบรหัสพันธุกรรม 104 ตัวอย่าง พบว่าเกือบจะเหมือนกัน 99.9% แสดงว่า เชื้อในผู้ป่วยแต่ละคนเป็นชนิดเดียวกัน ทำให้มองเห็นแล้วว่าต้องจัดการอย่างไร สุดท้าย คือ การวิเคราะห์การชันสูตรผู้เสียชีวิต ว่าเชื้อเข้าไปอย่างไร อวัยวะ มีปัญหาอย่างไร โดยรายงานผล พบว่าพยาธิสภาพเกิดขึ้นที่ปอด ทำให้แพทย์สามารถเตรียมการได้ว่าเกิดอะไรขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16-24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ทำงานร่วมกับ รัฐบาลจีน และนานาชาติ รวมทั้งหมด 25 คน จาก 8 ประเทศ ลงพื้นที่ 4 มณฑล ได้แก่ ปักกิ่ง เสฉวน (เมืองเฉินตู) กวางตุ้ง (เมืองกวางเจา และ เสินเจิ้น) และหูเป่ย์ (เมืองอู่ฮั่น) ทั้งหมด 9 วัน เพื่อพบปะ สัมภาษณ์ ผู้ปฏิบัติงานและผู้บริหาร ศึกษาข้อมูลสถานที่เกิดเหตุจริง ศึกษาบทเรียนที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ทั่วโลก เพื่อให้เกิดข้อแนะนำและป้องกัน ออกมาเป็นรายงานฉบับย่อมเพื่อเป็นกรณีศึกษาในการรับมือสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างคาดไม่ถึงในอนาคต
ศาสตราจารย์ นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักการวิจัยแห่งชาติ กล่าวในงานสัมนาวิชาการ “องค์การอนามัยโลก เจออะไรที่ประเทศจีน” บทเรียนสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ผ่านเฟซบุ๊คไลฟ์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติว่า ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาเห็นได้ชัดว่าโควิด-19 เป็นเหตุการณ์ใหญ่ มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และแพร่กระจายไปทั่วโลก มาตรการที่ถูกนำไปใช้จึงต้องใหญ่ ทั้งด้านกำลังคนในการส่งแพทย์พยาบาลมากกว่า 4 หมื่นคนเข้าไปในหูเป่ย์ เพื่อควบคุมโรคภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์
"เราเห็นข่าวสร้างโรงพยาบาลสนาม และมีการเปลี่ยนแปลงโรงพยาบาลที่มีอยู่ 45 แห่ง มาดูแลคนไข้กลุ่มนี้โดยเฉพาะ แบ่งเป็น 9 แห่งดูแลคนไข้หนัก ต้องอยู่ในไอซียู ใส่เครื่องช่วยหายใจ และอีก 36 แห่งที่จำเพาะสำหรับดูแลคนกลุ่มนี้ ในขณะเดียวกัน ก็มีข่าวดี คือในช่วงที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อในจีนลดลงเรื่อยๆ ในระดับที่ระบบพอจะจัดการได้"
ความน่าสนใจของรายงาน WHO พบว่ารายงานฉบับแรกบอกว่าจีนพบผู้ป่วยรายแรกประมาณ 30-31 ธันวาคม แต่จีนได้มองย้อนกลับไปเคสแรกที่อาจจะเจอคือวันที่ 8 ธันวาคม 2562 (ยืนยันผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ) หรือประมาณ 2 ธันวาคม 2562 (การวินิจฉัยทางคลินิกรายแรก)
ทั้งนี้ อาการของผู้ป่วยที่พบ 87.9% มีไข้ และ 2 ใน 3 หรือ 67.7% ไอแห้ง 38.1% อ่อนเพลีย 33.4% ไอ มีเสมหะ 18.6% หายใจลำบาก 14.8% ปวดกล้ามเนื้อหรือปวดข้อ 13.9% เจ็บคอ 13.6% ปวดศีรษะ 11.4% หนาวสั่น 5.0% คลื่นไส้ อาเจียน 4.8% คัดจมูก 0.9% ไอเป็นเลือด และ 0.8% ตาแดง
หากดูอัตราการติดเชื้อและอัตราการตายในแต่ละกลุ่ม พบว่า อายุน้อย ป่วยน้อยไม่รุนแรง ส่วนคนที่อายุมาก จะป่วยมากกว่า และอาการรุนแรง ปัจจุบัน อัตราตายโดยเฉลี่ย 0.7% เนื่องจากองค์ความรู้ดีขึ้นทำให้อัตราตายลดลง ความเป็นไปของโรค 80% เป็นคนไข้ที่มีอาการเบา 14% ป่วยหนัก ประมาณ 6% ต้องเข้าไอซียู ใช้เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิต 1 ใน 3 ของคนที่ป่วยหนัก ส่วนพยาธิสภาพที่ทำให้เสียชีวิต คือ ปอดได้รับอันตราย มีมูก มีเลือดออกในถุงลม คล้ายปอดอักเสบจากไวรัสอื่นๆ บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ 2,055 ราย จาก 476 โรงพยาบาลทั่วประเทศจีน ส่วนใหญ่ติดเชื้อในช่วงต้นของการระบาด
- มาตรการจีน 4 ระดับ 9 ด้าน
นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในรายงานของ WHO ระบุว่า จีนได้มีการจัดโครงสร้างการรับมือตอบโต้การระบาด โดยใช้แผนที่มีอยู่ คล้ายๆ กับไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ แต่เนื่องจากประเทศจีนใหญ่ จำนวนประชากรมากกว่าไทย ดังนั้น เขาต้องเตรียมแผนโดยแบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ระดับชาติ ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และตำบลหมู่บ้าน
ทั้งนี้ ในการตอบโต้เชื้อไวรัสของจีน ได้มีการจัดระบบกลไกทำงาน 9 ด้าน คือ 1. ด้านการประสานงาน 2. การระบาดวิทยาสอบสวนป้องกันโรค 3. ดูแลรักษาผู้ป่วย 4. ด้านการวิจัย 5. สื่อสารสาธารณะ 6. ประสานงานระหว่างประเทศ 7. การจัดหาเวชภันฑ์ที่จำเป็นมาใช้ 8. ช่วยเหลือดูแลประชาชนให้สามารถใช้ชีวิตโดยปกติ และ 9. รักษาความมั่นคงของสังคม
“การเตรียมงานแต่ละด้าน จะมีหัวหน้าผู้กำกับดูแลการทำงานในระดับกระทรวง แบ่งหน้าที่ให้แต่ละกระทรวงกันไปทำ โดยมีกฎหมาย ระเบียบต่างๆ รองรับ อย่างเข้มแข็ง ยกระดับการควบคุมโรค เป็นระดับประเทศ ทุกจังหวัดต้องดูแลอย่างเข้มข้น ภายใน 1 เดือน นับตั้งแต่การประกาศ แผนของจีนเรียกว่ายุทธศาสตร์ก็ว่าได้ เพราะรีบทำขึ้นมา และถ่ายทอดในระดับท้องถิ่น ปรับแผนให้ใช้ตามพื้นที่ โดยอาศัยองค์ความรู้และประเมินความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ที่มีบริบทแตกต่างกัน”
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ของจีน แบ่งตามระดับความเสี่ยงและสภาพปัญหาในพื้นที่ 4 ประเภท คือ 1. พื้นที่ที่ยังไม่มีการระบาด ใช้การป้องกันอย่างเข้มงวด ดูแลเป็นพิเศษ ในศูนย์กลางคมนาคม รถไฟ สนามบิน เพื่อไม่ให้นำเชื้อเข้ามา 2. พื้นที่เริ่มมีผู้ป่วย ใช้มาตการ ค้นหา ควบคุมการระบาดในพื้นที่ ป้องกันไม่ให้แพร่ 3. พื้นที่มีการระบาดเป็นกลุ่ม ต้องควบคุมการแพร่โรคให้ได้มากที่สุด ป้องกันการแพร่ไปยังพื้นที่อื่น ให้การรักษาผู้ป่วยอย่างดีที่สุด และ 4. พื้นที่ระบาดอย่างมาก ใช้ยุทธศาสตร์การดูแลผู้ป่วยเป็นหลัก และควบคุมการแพร่เชื้อ เพื่อให้ประชาชนดำรงชีวิตได้อย่างปกติ ขณะเดียวกัน ก็ควบคุมการเดินทางให้อยู่ที่บ้านเป็นหลักอีกด้วย
- งดฉลองตรุษจีนทั่วประเทศ
สำหรับการจัดความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยของประเทศจีนจุดที่โดดเด่น คือ ระดมผู้ป่วยมาอยู่ด้วยกัน ในสถานที่เดียวกัน และระดมแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ ทรัพยากร เวชภัณฑ์ต่างๆ ให้การรักษาแบบโรงพยาบาลพิเศษ มีการก่อสร้างโรงพยาบาลอย่างรวดเร็วรองรับผู้ป่วย ซึ่งเคยทำสำเร็จมาแล้วตอนซาร์ส ถัดมา คือ ให้ทุกเมืองทุกอำเภอปรับโรงพยาบาล รองรับผู้ป่วย ให้ทีมแพทย์ พยาบาล และทรัพยากรต่างๆ ดูแลในจุดที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ
จุดเด่นของจีน คือ ลดการสัมผัสในพื้นที่อย่างเข้มข้น สั่งไม่ให้ฉลองตรุษจีนทั่วประเทศ เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะตรุษจีนของจีนใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงอีเว้นท์ งานมหรสพทุกอย่าง งดหมด ทำให้การแพร่โรคป้องกันได้มาก มีการเหลื่อมเวลาการทำงาน ควบคุมการเดินทางเข้าออกจากพื้นที่ที่มีการระบาดอย่างเข้มข้น ในพื้นที่ที่มีการระบาดไม่มากก็ควบคุมอย่างเหมาะสม แม้ของไทยจะยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่หากเตรียมระยะ 3 จะต้องเพิ่มมาตรการตรงส่วนนี้ เรียนรู้จากจีน จะเป็นไปได้หรือไม่หากเราจะงดเทศกาลสงกรานต์ เรื่องนี้ต้องอาศัยความเข้าใจ
“นอกจากนี้ ยังมีการดูแลจิตใจของประชาชน โดยระดมหน่วยงาน อาสาสมัครระดับประเทศ ชุมชน ดูแลในส่วนนี้เพื่อให้คนที่อยู่บ้านมีอาหาร จีนมีพลังทางด้านไอที ซึ่งเขาได้เอามาใช้ทำให้คนอยู่บ้านมีข้าวของ ทำให้การสื่อสาร มีประสิทธิภาพ”
- มาตรการรับมือโควิด-19ของไทย
นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค เล่าว่าประเทศไทย เริ่มต้นรับมือกับโควิด 19 มาตั้งแต่เดือนมกราคม หลังจากทราบว่ามีเหตุการณ์ผิดปกติในจีน เราเริ่มต้นคัดกรองผู้เดินทางโดยเฉพาะจากอู่ฮั่น และจากจีนทั้งหมดต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทำได้ค่อนข้างรวดเร็ว เราไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์เพราะไทยมีประสบการณ์รับมือไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ ระหว่างนั้นเราก็มีประสบการณ์โรคเมอร์ส และความเสี่ยงอีโบล่า ดังนั้น ศักยภาพเดิมเรามีพอสมควรทำให้เริ่มต้นได้เร็ว
“เราผ่านระยะที่ 1 มาแล้ว ขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 คือ เริ่มมีการติดเชื้อในประเทศ ในวงจำกัด แต่ยังมีความกังวลว่า บางคนอาจจะติดเชื้อมา แต่อาการน้อย อยู่ในระยะฟักตัว เราต้องเผื่อว่าอาจจะมีระยะ 3 คือ มีกาแพร่โรค ขยายตัวออกไป จนถึงระดับที่เราตามไม่ถูกว่ามาจากไหน จึงต้องเตรียมพร้อมเพื่อความไม่ประมาท ต้องป้องกัน เพื่อไม่ให้แพร่”
- จำกัดเคส ปชช.ร่วมมือ พาไทยผ่านวิกฤติ
ด้าน Dr.Daniel Hertesz WHO Representative to Thailand กล่าวว่า ในฐานะ WHO มีหน้าที่ดูแลโรคติดต่อและโรคทั่วไประดับโลก จุดประสงค์ที่ WHO มาช่วยในเรื่องโควิด-19 คือ การดูแล เตรียมการ ควบคุมโรค โดยทำงานร่วมกับนักวิชาการทางด้านสาธารณสุขเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 ตั้งแต่การทำความเข้าใจโรค การระบาด มาตรการการรักษา เรื่องสารพันธุกรรม และร่วมมือกับห้องปฏิบัติการ เพื่อศึกษาโรค ทำงานร่วมกับแพทย์เพื่อดูว่ามีอาการทางคลินิกอย่างไร
สำหรับจีนสามารถจัดการกับการระบาดของโรคได้ดี การใช้มาตรการต่างๆ ทำให้ลดการติดเชื้อเป็น มาตรการควบคุมโรคทำได้เร็ว และทำได้อย่างเต็มที่ เพราะมีภาคประชาชนสนับสนุน สิ่งที่เรียนรู้จากจีน สามารถไปประยุคใช้ได้ทุกที่ อันดับ 1 คือ ต้องหาเคสจำกัดการแพร่เชื้อไม่ให้ระบาดเป็นวงกว้าง ตอนนี้ไทยเป็นระยะ 2 โอกาสที่แพร่ระบาดก็ยังมี ดังนั้น ต้องเตรียมตัว ควบคุม เพื่อให้อยู่ในระยะเดิม
เพราะหากเราป้องกันได้ จะทำให้เกิดการระบาดช้าลง เตรียมพร้อมด้านสาธาณสุข ให้ประชาชนมีความรุ้ และความพร้อม ต้องทำการสำรวจทุกที่ๆ เป็นไปได้ หากมีผู้ป่วยต้องทำการตรวจ และรีบแยก ไม่ให้มาระบาดเพิ่มเติม รวมถึงติดตามผู้ที่เสี่ยงได้อย่างครอบคลุม จะทำให้ระบห่วงโซ่การติดเชื้อลดลง และไทยจะสามารถผ่านวิกฤตได้
“ถัดมา คือ ใช้มาตรการด้านสาธารรสุขให้ประชาชนทุกคนช่วยเหลือ ป้องกัน ล้างมือบ่อยๆ ให้สะอาด ด้วยสบู่และน้ำ หรือแอลกอฮอลล์เจล หากไอให้ไอใส่ทิชชู่ หรือแขนเสื้อ ไอแล้วให้ทิ้งทิชชู่ และล้างมือ พยายามรักษาระยะห่างจากคนอื่น 1 เมตร หลีกเลี่ยงอย่าจับปาก ตา จมูก บางคนติดนิสัย ตอนนี้ต้องหยุดได้แล้ว ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ทุกคนทำได้ ต้องพยายามทำ เพื่อลดการระบาดโควิดและโรคอื่นๆ ด้วย” Dr.Daniel กล่าวทิ้งท้าย