สธ.เผยคนไทยติด 'โควิด-19' ยกกลุ่ม เหตุพฤติกรรมเสี่ยง
สธ.เผยคนไทยติด 'โควิด-19' ยกกลุ่ม 11 คน เพราะพฤติกรรรมเสี่ยง เจอแบบกลุ่มก้อนครั้งแรกในไทย ติดจากคนฮ่องกง ก่อนสังสรรค์แพร่ต่อเพื่อนคนไทย ย้ำไม่ใช่ “ซุปเปอร์สเปรดเดอร์” ยังอยู่ระยะ2
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 12 มีนาคม 2563 นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19(COVID-19)ว่า พบผู้ป่วยยืนยันเป็นกลุ่มก้อน 11 ราย เป็นคนไทยทั้งหมด ซึ่งเป็นการค้นพบจากการขยายการคัดกรองการป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจเป็นกลุ่มก้อน โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้รับรายงานผู้ป่วยจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ให้ประวัติว่า เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ได้พบปะกลุ่มเพื่อนนักท่องเที่ยวชาวฮ่องกงที่มาเที่ยวเมืองไทย หลังจากนั้นวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 เริ่มป่วยด้วยอาการไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ไอ ในขณะที่มีอาการป่วยอยู่นั้นได้นัดสังสรรค์กับเพื่อนสนิทกลุ่มนี้อีก 2 ครั้ง คือ วันที่ 27 และ 29 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมีพฤติกรรมดื่มสุราแก้วเดียวกัน สูบบุหรี่มวนเดียวกัน ขณะที่เพื่อนชาวฮ่องกงได้เดินทางกลับไปแล้ว
หลังจากนั้นในวันที่ 4 มีนาคม 2563 ผู้ร่วมสังสรรค์เริ่มทยอยป่วย 7 คนเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยตรวจพบการติดเชื้อ 11 คนจากทั้งหมดในกลุ่มสังสรรค์ 15 คน เป็นชาย 5 คน หญิง 6 คน ช่วงอายุ 25 – 38 ปี ในจำนวนนี้มี 4 คนที่ไม่ป่วยเเละไม่ติดเชื้อ ทั้งหมดให้ประวัติว่า ไม่ได้ดื่มเหล้าเเละสูบบุหรี่ร่วมกับกลุ่มเพื่อน กระทรวงสาธารณสุข ได้ติดตามครอบครัวและเพื่อนที่ไม่ได้ร่วมกลุ่มสังสรรค์เบื้องต้น 70 คน ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการครั้งแรกไม่พบเชื้อ แต่ยังติดตามอาการอย่างใกล้ชิดต่อไป
“กรณีการป่วยเป็นกลุ่มก้อนครั้งนี้ เป็นบทเรียนที่สำคัญของคนไทยหลายประการ คือ 1.หากป่วยแล้วไม่กักตัว ส่งผลกระทบคนใกล้ชิดและครอบครัวติดเชื้อ 2. ในสถานการณ์โรคระบาด มาตรการ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ล้างมือ ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น เป็นสิ่งสำคัญมาก 3. เมื่อเจ็บป่วยต้องพักอยู่กับบ้าน ลดความเสี่ยงของผู้อื่นและสังคม หากทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน ความปลอดภัยและสุขภาพคือสิ่งสำคัญอันดับแรก ทั้งนี้หากพบอาการป่วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่จำนวนหลายคนในช่วงเวลา 1-2 สัปดาห์ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและพบแพทย์ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422”นายแพทย์สุขุมกล่าว
นอกจากนี้ มีผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านได้ 1 ราย เป็นหญิงอายุ 62 ปี รักษาที่สถาบันบำราศนราดูร เป็นคุณย่าที่กลับจากฮอกไกโด ส่วนคุณปู่และหลานวัย 8 ขวบ อาการดีขึ้นแต่ยังตรวจพบเชื้อไวรัสนี้อยู่ ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 70 ราย รักษาหายแล้ว 35 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 34 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วยอาการหนัก 1 ราย ที่สถาบันบำราศนราดูร ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ส่วนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม – 11 มีนาคม 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 5,232 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 3,865 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 1,367 ราย
“แม้จะเจอผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อน แต่สถานการณ์ในประเทศไทยยังอยู่ในระยะที่ 2 คือ ติดในกลุ่มจำกัด และไม่ได้แพร่ถึงคนอื่น และไม่พบหลักฐานว่าเกิดซุปเปอร์สเปรดเดอร์(super spreader) เนื่องจากเป็นการติดเชื้อในกลุ่มเพื่อนสนิทที่ร่วมวงสังสรรค์ ยังไม่ออกนอกกลุ่ม จึงยังไม่ใช่ระยะที่ 3 ซึ่งการจะป้องกันป่วยแบบกลุ่มนี้ได้ เพราะความร่วมมือของทุกคน อย่างกรณี ก็มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเสี่ยงต่อการติดโรค คือ การดื่มสุราแก้วเดียวกัน สูบบุหรี่มวนเดียวกัน ทานอาหารสำรับเดียวกันไม่ใช้ช้อนกลาง และใช้เวลาอยู่ด้วยกันกับผู้ป่วยในห้องแอร์ที่ปิดมิดชิดเป็นเวลา 6 ชั่วโมง” นายแพทย์สุขุมกล่าว
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แม้จะเจอการป่วยแบบเป็นกลุ่มก่อน แต่ยังสามารถหาได้ว่าติดจากเพื่อนชาวฮ่องกง ยังหาได้ว่าวิธีการติดคือใช้ของร่วมกัน และหาได้ว่าไม่ได้แพร่ออกนอกวงกลุ่มเพื่อน ยังไม่มีคนที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์กันแล้วติดโรคไปด้วย จึงยังอยู่ในระยะที่ 2
อสม.เช็คอาการกลุ่มเสี่ยงทุกวัน
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) 1.05 ล้านคน ซึ่งจะเป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวังผู้ป่วยในชุมชนภายใต้โครงงการอสม.เคาะประตูบ้าน โดยจะได้รับชุดความรู้เกี่ยวกับโรค รวมถึงวิธิปฏิบัติในการป้องกันการติดเชื้อ และการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่มีอาการป่วย แต่จะต้องเฝ้าระวังตัวเองอยู่ที่บ้านจนครบ 14 วัน โดยอสม.ประสานกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)ไปเคาะประตูบ้านทุกวันเพื่อติดตามอาการ หากพบป่วยจะเร่งประสานการส่งต่อ เชื่อว่ามาตรการระดับชุมชน หากอนาคตจะมีผู้ป่วยมากขึ้นจะสามารถหาผู้ป่วยเจอได้เร็ว
เพิ่มศักยภาพตรวจแล็บ
นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การตรวจวินิจฉัยยืนยันโควิด-19ในห้องปฏิบัติการ(ห้องแล็บ) ปัจจุบันใช้การตรวจด้วยวิธีพีซีอาร์(PCR)จากสารคัดหลั่งทราบผลภายใน 3 ชั่วโมง ซึ่งคาดว่าในอีก 1-2 สัปดาห์ โรงพยาบาลประจำจังหวัดทั่วประเทศจะพร้อมให้บริการในการตรวจยืนยันเชื้อนี้ได้ ซึ่งจะทำให้เพิ่มศักยภาพจากเดิม 2-3 เท่า ถ้ามีผู้ป่วยต้องสงสัยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ อนาคตผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่ป่วยหนักซึ่งไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยงในการที่จะติดโควิด-19 แต่หากมีความต้องการที่จะตรวจโรคนี้ด้วยก็จะดำเนินการ และกรมอยู่ระหว่างการพัฒนาชุดตรวจ ที่เป็นการตรวจคัดกรองโรคอย่างเร็ว ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งจะรู้ผลภายใน 1 ชั่วโมง คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์จะมีการใช้ชุดตรวจนี้ เพื่อให้บริการกับคนที่มีความเสี่ยงน้อยแต่อยากจะตรวจ