งดร่วมดื่ม ร่วมเสพ "เหล้า-บุหรี่" ลดความเสี่ยงโรคโควิด-19

งดร่วมดื่ม ร่วมเสพ "เหล้า-บุหรี่"  ลดความเสี่ยงโรคโควิด-19

หลังจากที่ WHO ได้ประกาศให้การระบาดของโรคโควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุขของไทย ได้มีประกาศให้โรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 เพื่อเป็นประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย

จากข้อมูลเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 30 ราย รวมผู้ติดเชื้อสะสม 177 ราย กลับบ้าน 41 ราย อยู่โรงพยาบาล 135 ราย เสียชีวิต 1 ราย ทั้งนี้ ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนเมื่อวันที่ 12 มีนาคม จำนวน 11 คน โดยประวัติมีพฤติกรรมดื่มสุราแก้วเดียวกัน สูบบุหรี่มวนเดียวกัน สะท้อนให้เห็นว่าการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของผู้ติดเชื้อ สิ่งสำคัญ คือ การเพิ่มความตระหนัก รับรู้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายไม่ให้ขยายในวงกว้างมากขึ้

แบ่งเสพ แบ่งสูบ เสี่ยงติดเชื้อ

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า การสูบบุหรี่ทำให้มีความเสี่ยงปอดติดเชื้อเมื่อเทียบกับผู้ไม่สูบ ได้แก่ เสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรีย 2-4 เท่า เชื้อไข้หวัดใหญ่ 2 เท่า เชื้อวัณโรคมากกว่า 2 เท่า เพิ่มอัตราการเสียชีวิต 4 เท่า และเชื้อโควิด -19 ถึง 14 เท่า

ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวภายในงานเสวนา “เหล้า บุหรี่ กับความเสี่ยงโควิด-19” ว่า วารสารการแพทย์จีน (Chinese Medical Journal 28 กุมภาพันธ์ 2563) ระบุว่า ในผู้ป่วยที่มีอาการทรุดลงรวมถึงเสียชีวิตเป็นผู้สูบบุหรี่มากกว่าไม่สูบ โดยโควิด -19 ที่เกิดปอดอักเสบ เมื่อแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีอาการดีขึ้น กับกลุ่มที่มีอาการทรุดลง (รวมถึงตาย) พบว่า ในผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการทรุดลงและถึงแก่ความตาย มีสัดส่วนเป็นผู้สูบบุหรี่ ต่อ ผู้ไม่สูบบุหรี่ คิดเป็น 14 : 1 ดังนั้น การสูบบุหรี่เป็นความเสี่ยงสูงสุด ที่สัมพันธ์กับการเกิดปอดอักเสบรุนแรงรวมถึงการเสียชีวิตจากโควิด 19  

158444584235

ขณะที่ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีการตายที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 68 ราย มีผู้ป่วย 2,807 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ข้อมูลจาก Centers for Disease Control and Prevention) นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ 1 ซอง (20 มวน) จะทำให้ชีวิตของผู้สูบบุหรี่สั้นลงประมาณ 2 ชั่วโมง 20 นาที หรือสูบบุหรี่ 1 มวน ทำให้ชีวิตสั้นลงไป 7 นาที

ดร.วศิน กล่าวต่อไปว่า ไม่ว่าจะบุหรี่มวนหรือบุหรี่ไฟฟ้า ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้เราภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 เพราะกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับเชื้อนอกจากผู้สูงอายุ จะเป็นกลุ่มที่เป็นโรคปอด หัวใจ ความดัน เบาหวาน บุหรี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคพวกนี้ และโรคพวกนี้ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ง่ายขึ้น ประเด็นเรื่องพฤติกรรมก็สำคัญ เห็นได้จากกรณี ผู้ติดเชื้อ 11 ราย ที่ติดเชื้อจากการสูบบุหรี่ดื่มสุราร่วมกัน

“การแพร่กระจายของเชื้อ เกิดจากน้ำลายหรือเสมหะ ดังนั้น การแบ่งกันเสพบุหรี่มวนเดียวกัน หรือการใช้บุหรี่ไฟฟ้าร่วมกันอาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ที่ผ่านมาในช่วงปี 2555 ไวรัสเมอร์ส เคยระบาดในตะวันออกกลาง สาเหตุหนึ่งมาจากการสูบบารากู่โดยใช้สายสูบร่วมกัน ต่อมา ในปี 2563 โควิด -19 ระบาด อิหร่าน คูเวต ปากีสถาน กาตาร์ และซาอุดิอาระเบีย สั่งห้ามบริการบารากู่ ทั่วประเทศ ขณะที่ประเทศไทยมีคนติดเชื้อ 11 ราย เหตุร่วมสังสรรค์กับผู้ป่วยฮ่องกง กินเหล้าแก้วเดียวกัน และสูบบุหรี่แก้วเดียวกัน” ดร.วศิน กล่าว  

  • เลี่ยงสังสรรค์ในสถานที่ปิด

นายแพทย์นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแอลกอฮอล์ ที่ดื่มส่วนมากจะไปกำจัดที่ตับ ซึ่งตับมีหน้าที่สร้างเอนไซน์ และสร้างโปรตีน ที่มีส่วนในการสร้างภูมิคุ้มกันทำให้ตับลดฟังก์ชั่นการกำจัดเชื้อลง การดื่มสุรา เวลาอยู่ในวงส่วนใหญ่จะคุยกันสนุกสนานเฮฮา พฤติกรรมจับแก้ว บรรยากาศก็เป็นที่อโคจร อับ ระบายอากาศไม่ดี ทำให้เชื้อมีโอกาสแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น รวมทั้ง การชงเหล้า คนนั้นจับแก้วที คนนี้จับแก้วที ทำให้เกิดการติดกันไปมาได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการดื่มสุราที่ผับ หรือไม่ได้ไปที่ผับ ก็มีโอกาสที่จะติดกันได้อยู่แล้ว บวกกับบรรยากาศที่เอื้อต่อการติดเชื้อเนื่องจากเป็นโรคที่ติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ

158444584216

  • ดื่มแอลกอฮอล์ไม่ช่วยฆ่าเชื้อ

นพ.นิพนธ์ อธิบายต่อไปว่า เนื่องจากแอลกอฮอล์ที่ใช้ฆ่าเชื้อได้ต้อง 70% ขึ้นไป เพราะตัวแอลกอฮอล์เป็นตัวฆ่าโปรตีน แต่ต้องรอให้ระเหยก่อน ไม่ได้ฆ่าทันที ดังนั้น การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากทำให้เซลล์ปกติก็ถูกทำลาย เป็นพิษในร่ากาย ทำให้ตับทำงานมากขึ้น มีพิษต่อไวรัส ก็มีพิษต่อร่างกายเช่นเดียวกัน กลายเป็นนอกจากไม่ฆ่าเชื้อยังเป็นพิษสะสมในร่างกายอีก

“สิ่งที่ต้องทำคือให้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อให้แต่ละคนวินิจฉัยเองว่าต้องทำอย่างไร เพราะแต่ละคนไม่มีใครไปยกแก้วแทนใคร แต่ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ปัจจัยเสี่ยงเรื่องนี้จำเป็นต้องป้องกัน เพื่อลดความเสี่ยง เพราะปอด และตับก็เป็นอวัยวะสำคัญต่อร่างกาย ถ้ารู้ว่ามันมีปัจจัยเสี่ยง ทำไมต้องเอาสารพิษเข้าไปเพื่อเพิ่มปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น อยู่ที่เราเลือก” นพ.นิพนธ์ กล่าว

  • 2 ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยง

รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การร่วมตัวกันเป็นกลุ่มที่มีความใกล้ชิดกันมากๆ หากมีใครสักคนที่เชื้ออยู่ก็มีโอกาสแพร่กระจายสู่คนรอบข้างได้ การสังสรรค์ ในกรณีที่มีการดื่มแอลกอฮอล์ โอกาสแพร่เชื้ออาจจะมากขึ้นกว่าเดิม โดยปกติคนที่ติดแอลอฮอล์ มีโอกาสติดเชื้อในปอด เช่น วัณโรค หรือ ปอดบวม สูงกว่าคนทั่วไป

ทั้งนี้กลไกที่ทำให้เพิ่มความเสี่ยงคือ หนึ่งคือ “ปัจจัยทางสังคม” คนที่เป็นผู้ดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อดื่มเข้าไปการดูแลสุขอนามัยจะไม่ดีเท่าคนอื่น เนื่องจากจะมีเรื่องของความเฮฮา สังสรรค์ บรรยากาศพาไป ทำให้ไม่ป้องกันตัวเองเต็มที่ บวกกับเรื่อง “ปัจจัยทางชีวภาพ” การเป็นผู้ติดแอลกอฮอล์มานาน ภูมิคุ้มกันในร่างกายจะลดลง ในงานวิจัยจึงพบว่า คนที่ติดแอลกอฮอล์ มีความเสี่ยงในการติดเชื้อในเรื่องของปอด ได้มากกว่าคนทั่วไป 2.9 เท่า และในคนที่ติดเชื้อทางปอดเสียชีวิต 13.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงพอสมควร

รศ.พญ.รัศมน กล่าวต่อไปว่า สำหรับพฤติกรรมการรวมกลุ่มเสี่ยงเช่นเดียวกัน จึงมีความพยายามรณรงค์หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่ม เว้นระยะห่างกันประมาณ 1-2 เมตร เผื่อมีใครรับเชื้อมาแต่ไม่มีอาการ เพื่อลดการแพร่กระจาย ใช้ภาชนะที่เป็นของตนเอง ล้างมือบ่อยๆ จะช่วยได้ ถ้าไปที่ชุมชนจริงๆ อาจจะต้องใส่หน้ากากอนามัยตามความสะดวกแต่ละคน

“ทั้งนี้สำหรับมาตรการปิดสถานบันเทิง ผับบาร์ ฯลฯ เป็นหนึ่งในมาตรการที่ควรทำ ในแง่ของการลดโอกาสแพร่กระจายเชื้อเพราะเป็นแหล่งที่มีคนไปรวมกลุ่มกัน ซึ่งทั่วโลกก็เริ่มมีมาตรการแบบนี้เช่นเดียวกัน เพื่อลดการแพร่กระจาย ที่สำคัญ ให้ระวังตัวเอง และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชน” รศ.พญ.รัศมน กล่าวทิ้งท้าย

158447158322