สธ.คาด1-2สัปดาห์ผู้ป่วยโควิด-19ในไทยอาจพุ่งแบบอิตาลี

สธ.คาด1-2สัปดาห์ผู้ป่วยโควิด-19ในไทยอาจพุ่งแบบอิตาลี

สธ.ลั่นคนไทยไม่ร่วมมือ ไม่อยู่กับบ้าน ไม่ทำตามคำแนะนำ แค่1-2สัปดาห์ ไทยจะไปแบบอิตาลี มีคนป่วย เสียชีวิตสูงและเร็วมาก

สถานการณ์โรคโควิด-19ในประเทศไทยนับจากนี้จะเป็นอย่างไร อยู่ที่ “คนไทย” หากมี “วินัย”ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด จะทำให้ผู้ป่วยค่อยๆ “ทยอย”เพิ่มขึ้น ทำให้ระบบสาธารณสุขรองรับและดูแลได้อย่างเพียงพอ ทว่า หาก “ไร้วินัย”ยังฝ่าฝืน ผู้ป่วยก็จะ“พุ่งพรวด”พร้อมกันจำนวนมาก สุ่มเสี่ยงที่จะเอาไม่อยู่ ขณะนี้จึงเป็น “เวลาทอง” ทาง 2 แพร่งที่คนไทยต้องเลือกว่าต้องการแบบไหน


ทางแรก หากคนไทยมีวินัยให้ความร่วมมือทำตามข้อปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ประเทศไทยก็จะเป็นภาพแบบที่เห็นในประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน หรือสิงคโปร์ ที่จำนวนผู้ป่วยทยอยเพิ่มขึ้น ระบบสาธารณสุขดูแลได้เพียงพอ อัตราการเสียชีวิตจะไม่สูง ส่วนทางที่ 2 ภาพที่จะเกิดขึ้น เหมือนในประเทศอิตาลี อิหร่าน หรือสหรัฐอเมริกา แม้เป็นประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีมาก แต่เมื่อผู้ป่วยเพิ่มขึ้นแบบพุ่งพรวด เข้ารักษาพร้อมกันจำนวนมาก ระบบสาธารณสุขไม่สามารถรองรับและดูแลได้ทัน อัตราเสียชีวิตจึงสูง


ายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) อธิบายว่า ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีโรคโควิด-19 มีทั่วโลกตั้งแต่จีน มีผู้ป่วยจำนวนมากจนคุมอยู่ ต่อมามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ แล้วก็ข้ามไปฝากยุโรป จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากอย่างน่าตกใจ อย่างประเทศอิตาลี อิหร่าน อเมริกาและแคนาดา ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยช่วง 2 เดือนแรกสถานการณ์ในประเทศไทยคุมอยู่ ช่วง 2-3 วันมีผู้ป่วย 1 ราย บางวัน 5 ราย แต่ช่วง2-3 วันที่ผ่านมาจะเห็นว่าตัวเลขผู้ป่วยก้าวกระโดดขึ้นมา

158495079329


แล้วจากนี้จะเกิดอะไรกับประเทศไทย นายแพทย์ศุภกิจ บอกว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติประเทศต่างๆ เมื่อประเทศใดเข้าสู่การมีจำนวนผู้ป่วย 100 รายแล้ว และคาดการณ์ปรากฎการณ์ข้างหน้า พบว่า เมื่อผู้ป่วยไปถึง 100 รายแล้วเส้นจะวิ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ประเทศอิตาลี อิหร่าน จากผู้ป่วย 100 ไป 200 ไป 1,000 จนถึง 10,000 ราย กราฟจะพุ่งสูงต่อเนื่อง การที่ผู้ป่วยขึ้นไปเร็วแบบนี้ ปัญหาคือระบบสาธารณสุขรองรับไม่ทัน แม้กระทั้งประเทศที่คิดไม่ถึงอย่างอิตาลี อเมริกา ที่ถือว่าสุดยอด หรือในยุโรปอย่างอังกฤษ มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน ประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ตัวเลขก็ขึ้นไประยะหนึ่ง แต่เมื่อสามารถคุมได้อยู่ กราฟก็จะเบนขวา ไม่พุ่งสูง แสดงว่าผู้ป่วยค่อยๆทยอยเพิ่มขึ้น ไม่เพิ่มขึ้นพร้อมกันทีเดียว อย่างเกาหลีใต้แม้ผู้ป่วยจะขึ้นไปถึง 7,000-8,000 แล้ว แต่สุดท้ายก็เบนไปได้อย่างเร็ว ญี่ปุ่น ก็ขึ้นไป 1,000 นิดๆ แล้วก็เบนไป

อ่านข่าว-'อิตาลี' ยังหนักตายจากโควิด-19 วันเดียว 793 ราย

ในส่วนของประเทศไทย ขณะนี้ผู้ป่วยอยู่ที่ 700 ราย เสียชีวิต 1 ราย หรือกำลังจะถึงทางแยก หมายความว่าประเทศไทยอยู่ในช่วงที่ทางการแพทย์เรียกว่า “ช่วงเวลาทอง” หากคนไทยไม่ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำ มีวินัยอย่างเคร่งครัด “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ ออกจากบ้านแล้วระวังป้องกันตนเอง” ประเทศไทยก็จะเดินไปเหมือนยุโรป หมายความว่าหากไม่ทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดอีกไม่กี่วันผู้ป่วยจะทะลุ 1,000 ราย อีกไม่กี่วันก็จะทะลุหลายๆ พัน แล้ววันนั้นก็ยังนึกไม่ออกว่าทางการแพทย์จะรับมือได้มากน้อยเพียงใด ถึงแม้จะทำดีมากที่สุด มีความพร้อมมากที่สุด แต่ก็มีความเสี่ยงจะเสียชีวิตเพิ่ม


นายแพทย์ศุภกิจ ย้ำว่า ช่วงเวลานี้ สถานการณ์ในประเทศไทยอยู่ในจุดที่คนไทยทุกคนสามารถเลือกได้ว่าจะเลือกช่วยกันเพื่อให้ผู้ป่วยค่อยๆ เพิ่มขึ้นไป แม้จะหยุดการเพิ่มไม่ได้แต่มันจะค่อยๆลดลง หรือจะเลือกทำให้จำนวนผู้ป่วยพุ่งโด่งไปเหมือนประเทศในแถบยุโรป อเมริก ขึ้นอยู่กับมือของคนไทยเท่านั้น เนื่องจากการแพทย์การสาธารณสุขทำได้แค่ค้นหา รักษา ให้ยารักษา 

มาตรการใดที่รัฐออกมา ขอความเข้าใจว่าแนวคิดหลักคืออะไร ประเด็นสำคัญคืออะไร แล้วช่วยกันที่จะทำตามนั้น ตัวอย่าง การที่รัฐสั่งปิดบางสถานที่ ไม่ให้ไปนั่งทานอาหาร แต่คนไทยก็ไปสุมหัวกันอยู่ ตั้งวงก๊งเหล้ากันอยู่นอกพื้นที่ ถ้าชุมชน สังคมไม่ช่วยกัน วันหนึ่งรัฐอาจจะมีความจำเป็นเดินไปถึงการล็อค ดาวน์( LOCK DOWN) บังคับไม่ให้ออกจากบ้านเลย เพราะฉะนั้น ประชาชนคนไทยเลือกได้จะร่วมมือให้เกิดสถานการณ์แบบไหน ช่วงเวลาทองนี้ ถ้าคนไทยทุกคนร่วมมือ ประเทศไทยก็จะเป็นแบบญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ ผู้ป่วยทยอยเพิ่มไม่มาก ระบบสาธารณสุขดูแลได้เพียงพอ
158495083265

“ถ้าทุกคนไม่ร่วมมือ ไม่หยุดอยู่กับบ้าน ไม่ทำตามคำแนะนำ แค่ 1-2 สัปดาห์ ไทยจะไปแบบอิตาลี คือคนป่วย เสียชีวิตสูงมาก และเร็วมาก เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับคนไทยว่าจะเลือกแบบไหน ถ้าคนไทยร่วมมือกัน ก็จะเห็นยอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อย แล้วจะค่อยๆ เบนเข็มมาอยู่ในระดับที่ทยอยเจอผู้ป่วย อย่างในญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้”นายแพทย์ศุภกิจกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการไม่มากอยู่ประมาณ 10,000 เตียงทั่วประเทศ ห้องไอซียูสำหรับผู้ป่วยหนัก 2,000-3,000เตียง ถือว่าค่อนข้างมีความพร้อมในการรับกับผู้ป่วย แต่ประสิทธิภาพก็ขึ้นอยู่กับการมาของผู้ป่วยว่ามามาก มาเร็วแค่ไหน ถ้าค่อยๆ มาก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าถาโถมมาแบบอิตาลีก็เอาไม่อยู่

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า กรณีคนที่เดินทางจากกรุงเทพฯกลับต่างจังหวัด ความเสี่ยงจะเกิดขึ้นตั้งแต่ขึ้นยานพาหนะ จะต้องป้องกัน ระมัดระวังตัวเองขณะที่นั่งไปในรถที่มีระบบปิด อากาศถ่ายเทน้อย และนั่งเป็นระยะเวลายาวนานหลาย และสิ่งที่เป็นห่วงมากกว่าคือพี่น้องที่เดินทางกลับด้วยรถตู้ หรือเดินทางไปกันแบบส่วนตัวแล้วนั่งกันแออัดมากๆ ใช้เวลายาวนานอยู่ในรถ ก็ขอความกรุณาช่วยกันระมัดระวัง เมื่อไปถึงพื้นที่ปลายทางแล้ว ขอความร่วมมือช่วยกันรายงานตัวและขอให้กักตัวอยู่ที่บ้าน เพื่อหยุดการแพร่เชื้อ เพื่อไม่เห็นจำนวนผู้ป่วยของประเทศไทยพุ่งสูงตามอย่างที่ยุโรป หรืออเมริกาเป็นอยู่ในปัจจุบัน 

จากสถิติคนเสียชีวิตทั่วโลกชัดเจนว่าเกิดกับคนที่สูงอายุมากๆ อายุเกิน 70-80 ปีขึ้นไป โอกาสที่จะเสียชีวิตสูงมาก ในขณะที่คนหนุ่มสาวหรือเด็กอัตราเสียชีวิตต่ำมาก แต่อิทธิฤทธิ์การแพร่เชื้อไม่ได้ต่างกัน ช่วงนี้ถ้าไม่จำเป็น คนหนุ่มสาวที่ไปทำงาน เมื่อกลับบ้าน ขอให้แยก หรืออยู่ห่างจากผู้สูงอายุก่อน หรือถ้าต้องไปสัมผัสใกล้ชิด ต้องใส่หน้ากาก ล้างมือ ต้องมั่นใจว่าตัวเองไม่มีเชื้อจริงๆ แล้วค่อยสัมผัส 

“การที่คนจากกรุงเทพฯแห่กลับภูมิลำเนาจะอันตราย หากติดเชื้อแล้วไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อ กลับไปถึงบ้านคลุกคลีตีโมง กับปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ ที่เป็นผู้สูงอายุ และเป็นผู้ที่อยู่กับบ้านไม่ได้ออกไปมีพฤติกรรมเสี่ยงใดๆ แต่ลูกหลานจากกรุงเทพฯกลับเป็นคนนำเชื้อไปติดถึงในบ้าน เมื่อติดแล้วโอกาสที่ผู้สูงอายุเหล่านั้นจะเสียชีวิตมีสูงมาก อย่างในอเมริกา อังกฤษ อิตาลี ที่มีการเสียชีวิตเพราะมีสัดส่วนผู้สูงอายุที่สูงมาก”นายแพทย์ศุภกิจเตือน
     อนึ่ง  สิ่งที่คนไทยต้อง “ปฏิบัติเคร่งครัด”  สำหรับคนกรุงเทพฯ  -หยุดอยู่บ้าน -หยุดไปต่างจังหวัด-รักษาระยะห่าง(Social Distancing) ทักทาย พูดคุย เว้นระยะ 1-2 เมตร เลี่ยงกอดจูบ สัมผัสกัน ลดออกจากบ้าน ไม่สังสรรค์ ไม่จัดงานเลี้ยง ประชุมโดยมีคนร่วมน้อยกว่า 50 คน และมีระบบคัดกรองป้องกันผู้เข้าร่วมที่เข้มข้น 

    คนจากกรุงเทพฯกลับต่างจังหวัด  -รายงานตัวกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ (เช่น อสม.ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน รพ.อำเภอ รพ.จังหวัด)
-กักตัวเอง 14 วัน -ไม่รับประทานอาหาร ไม่ใช้ภาชนะร่วมกับผู้อื่น-ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น -ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่นาน 20 วินาที หรือแอลกอฮอล์ 70 % ลูบมือจนแห้ง-หลีกเลี่ยงการพูดคุย ใกลิชิดกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรัง -หากมีไข้และอาการทางเดินหายใจ ให้สวมหน้ากากอนามัย และรีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที