สธ.เตือนโควิด-19! สงกรานต์อย่ารดน้ำ-กอดหอมผู้สูงอายุ

สธ.เตือนโควิด-19! สงกรานต์อย่ารดน้ำ-กอดหอมผู้สูงอายุ

กรมอนามัยเตือนช่วงสงกรานต์นี้ อย่ารดน้ำ-กอดหอมผู้สูงอายุ ระบุอัตราติดเชื้อหนุ่มสาวสูง หวั่นนำเชื้อแพร่ให้คนแก่ อัตราป่วยตายสูง

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 6 เมษายน 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19(COVID-19) แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์และวันผู้สูงอายุในปีนี้ คนไกลที่อยู่ห่างบ้านกับผู้สูงอายุขอให้อยู่ที่บ้าน อวยพรพ่อแม่ ผู้สูงอายุและแสดงความกตัญญูทางไกล ส่วนคนใกล้ที่อยู่บ้านเดียวกันไม่แนะนำให้มีการรดน้ำในครอบครัว ไม่กอดหอมผู้สูงอายุ แต่ขอให้แสดงความกตัญญูต่อผู้สูงอายุโดยอาศัยระยะห่างที่พอเหมาะในการทำกิจกรรมในครอบครัว ทั่งนี้ อัตราการเสียชีวิตหลังการติดโควิด-19ในผู้ที่มีอายุมากจะสูงกว่าในคนที่อายุน้อย เป็นข้อมูลที่เหมือนกันทั้งข้อมูลทั่วโลกและประเทศไทย โดยจากข้อมูลผู้เสียชีวิตในประเทศไทย 20 ราย พบว่า เป็นผู้สูงอายุ 9 ราย เกือบ 50% แต่หากดูตัวเลขผู้ที่ติดเชื้อจะพบว่าเป็นคนหนุ่มสาววัยทำงานถึงกว่า 70% ซึ่งเป็นกลุ่มของลูกหลานที่มีโอกาสที่จะนำเชื้อไปติดผู้สูงอายุ


อธิบดีกรมอนามัย กล่าวด้วยว่า สำหรับการดูแลผู้สูงอายุ ต้องงดออกนอกบ้าน ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ก่อนรับประทานอาหาร หลังใช้ห้องน้ำ ไม่ใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก กินร้อนใช้ช้อนกลางส่วนตัว แยกสำรับอาหาร แยกของใช้จำเป็น ผู้สูงอายุควรเว้นระยะห่างจากบุตรหลาน และผู้อื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร และเวลานั้นไม่ใช่เวลากอดหอมใกล้ชิด และใช้ช่องทางอื่นๆในการติดต่อสื่อสารกับบุตรหลาน เช่น โทรศัพท์ ไลน์


ส่วนข้อปฏิบัติของลูกหลาน หากเป็นบุตรหลายที่อยู่ต่างจังหวัด ในช่วงเวลานี้ไม่สะดวกที่จะเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อไปหาพ่อแม่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งแต่ละคนควรที่จะต่างคนต่างอยู่ในที่ตั้งของตัวเองและหาวิธีการสื่อสารกับพ่อแม่ ผู้สูงอายุด้วยวิธีการอื่น หากอยู่ในครอบครัวและบ้านเดียวกัน แต่คนหนุ่มสาวยังต้องไปทำงานนอกบ้าน เมื่อกลับเข้าบ้านควรเว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร กลับถึงบ้านล้างมือให้สะอาด เปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย กรณีเป็นบุตรหลานที่ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ควรเลี่ยงออกจากบ้าน เน้นล้างมือบ่อยๆ


ขณะที่นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ข้อมูลในประเทศไทยจะเห็นว่าส่วนใหญ่ผู้ป่วยโควิด-19จะอยู่ในกลุ่มอายุ 20-39ปี และอายุมากขึ้นจะมีจำนวนผู้ป่วยค่อนๆลดลงไป โดยผู้ป่วยที่มีอายุ60ปีขึ้นไปมีสัดส่วนไม่มากเช่นเดียวกับในวัยเด็ก แต่เมื่อพิจารณาในกลุ่มคนที่ติดเชื้อแล้วเสียชีวิต พบว่า เป็นคนอายุมากกว่า 60ปี 39 % มีโรคประจำตัว 48 % และ39% ไม่มีปัจจัยเสี่ยงใดๆแต่ยังไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นที่ระบุชัดเจน รวมถึงเรื่องการมารักษาในโรงพยาบาลช้าหรือไม่ด้วย เพราะจากการตรวจสอบพบว่าผู้เสียชีวิตกลุ่มนี้มาเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลค่อนข้างเร็ว ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าในกลุ่มผู้ติดเชื้อจะเป็นผู้ที่อายุมากค่อนข้างน้อย แต่ในกลุ่มผู้เสียชีวิตจะเป็นคนมีอายุมากค่อนข้างมาก