“เทใจดอทคอม” ส่งต่อน้ำใจสู้โควิด
สถานการณ์โควิด-19 มีหลายกลุ่มรวมพลังเพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งการสมทบทุน จัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ และช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ผ่านองค์กรตัวกลางในการรับบริจาค “เทใจดอทคอม” อย่างเช่น โครงการระดมทุนซื้อชุด PPE หน้ากาก N95 และประกันกลุ่ม
เทใจดอทคอม มีจุดเริ่มต้นเมื่อ 8 ปีก่อน โดยผู้ก่อตั้ง 4 องค์กร ได้แก่ สถาบัน Change Fusion มูลนิธิบูรณะชนบทในพระบรมราชูปถัมภ์ ทำเรื่องนวัตกรรมเพื่อสังคม , Open Dream ทำเรื่องการใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาทางสังคม , มูลนิธิเพื่อคนไทย สนับสนุนเรื่องการสร้างพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) และ Thai Young Philanthropist Network (TYPN) เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องสังคม ระดมทุนสำเร็จแล้วกว่า 337 โครงการ ล่าสุดยอดรวมบริจาค 107 ล้านบาท
เอด้า จิรไพศาลกุล กรรมการผู้จัดการ เทใจดอทคอม วัย 36 ปี หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง “เทใจดอทคอม” จาก TYPN มีหลักคิดว่า คนๆ เดียวหรือคนกลุ่มเล็กๆ จะเปลี่ยนประเทศได้ ต้องเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่ไม่ดูดายกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวและเลือกลงมือทำ และต้องมีคนแบบนั้นเยอะพอถึงจะขับเคลื่อนประเทศไปได้ จึงได้รวมกลุ่มกับเพื่อนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ก่อตั้ง “เทใจ” เป็นพื้นที่เปิดให้คนที่มีโครงการเพื่อสังคม สามารถระดมทุนจากคนทั่วไปได้ โดยผู้รับบริจาคแต่ละโครงการ ต้องบอกเล่าให้ผู้ต้องการบริจาคทราบได้ว่า โครงการทำอะไร เพื่อใคร แก้ปัญหาอะไรบ้าง กิจกรรมทำอะไร และใช้เงินเท่าไหร่ จากนั้นต้องอัพเดทว่าเอาเงินไปทำอะไร เป็นพื้นที่ตรงกลางสร้างระบบนิเวศน์ใหม่ในการแก้ไขปัญหาที่เริ่มจากภาคประชาชน ช่วยประชาชนด้วยกัน
“กระบวนการทำงานคือ ผู้บริจาคจะบริจาคผ่านมูลนิธิบูรณะชนบทในพระบรมราชูปถัมภ์ และจัดสรรให้ในแต่ละโครงการ มีระยะเวลาในการเปิดรับแตกต่างกัน ตั้งแต่ระดมทุนต่อเนื่อง เช่น โครงการที่ทำร่วมกับ มูลนิธิกระจกเงา ระดมทุนซื้อผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้ผู้สูงอายุติดเตียง และ ระดมทุนแบบมีระยะเวลากำหนด เช่น การระดมทุนเพื่อซ่อมโรงเรียน จ.นครศรีธรรมราช เนื่องจากโดนพายุ จึงต้องมีไทม์ไลน์ชัดเจนว่าต้องซ่อมให้เสร็จก่อนช่วงไหน เพราะอะไร”เอด้ากล่าว
โครงการที่ช่วยเหลือสถานการณ์โควิด-19 แบ่งเป็น 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1. การประคองและเพิ่มศักยภาพระบบสาธารณสุขเพื่อลดการเสียชีวิต (easing and increasing healthcare capacity) ให้แพทย์มีอุปกรณ์เพียงพอ มีความพร้อมรองรับกองทัพผู้ป่วยหากเพิ่มขึ้น จึงเกิดโครงการ “กองทุนเทใจสู้โควิด19” เปิดระดมทุนในการซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น หน้ากาก N95 ชุด PPE และอุปกรณ์อื่นๆ โครงการ “Food for Heroes” หนึ่งกล่องหนึ่งกำลังใจ ช่วยแพทย์พยาบาลไทยสู้ภัย Covid-19 ส่งอาหารให้แพทย์พยาบาลไทย เริ่มนำร่อง 7 โรงพยาบาลทั่วกรุงเทพฯ และ “Thammask for Med” หน้ากากสะท้อนน้ำ เพื่อบุคลากรทางการแพทย์
มีโครงการที่ดำเนินการระดมทุนสำเร็จไปแล้ว ได้แก่ โครงการซื้อหน้ากากอนามัย ให้โรงพยาบาล โครงการเทใจให้มดงานสู้โควิด ส่งมอบชุดป้องกันเชื้อโรค PPE ให้กับ 7 โรงพยาบาล และมอบกรมธรรม์ 11 โรงพยาบาล และ โครงการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันการแพร่เชื้อ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลสตรีตั้งครรภ์
2. นวัตกรรมเพื่อกักโรค แยกโรค และรักษาโรค (Innovation on testing, tracing and curing COVID-19) ได้แก่ โครงการ Aerosol Shield อุปกรณ์ป้องกันการแพร่เชื้อสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ โครงการตู้ตรวจเชื้อ Covid-19 เพื่อพี่หมอภาคอีสาน และ โครงการกองทุนเพื่อวิจัย และสร้างชุดตรวจและอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อสู้กับโควิด19 จากทีมวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะเดียวกัน โครงการที่ระดมทุนสำเร็จในด้านนี้ ได้แก่ โครงการ ผลิตโล่ป้องกัน Covid-19 เพื่อการตรวจเชื้ออย่างปลอดภัย
3. การช่วยเหลือประชากรกลุ่มเปราะบางเพิ่มระยะห่างป้องกันโรคระบาด (Supporting and facilitating vulnerable populations to practice social distancing) ทำอย่างไรให้กลุ่มเปราะบาง ที่ไม่มีความพร้อมและต้นทุนสามมารถผ่านวิกฤตได้ โดยมี 4 โครงการหลัก คือ
โครงการ “หน้ากากผ้าสำหรับเด็กขาดโอกาสที่ชายขอบ” ใน 5 อำเภอ คือ อ.แม่สอด อ.พบพระ อ.แม่ระมาด อ.ท่าสองยาง และ อ.อุ้มผาง จ. ตาก
โครงการ เทใจให้ผู้สูงวัย ผ่านโควิดไปด้วยกัน ช่วยครอบครัวผู้สูงอายุกลุ่มเปราะบางที่ตกงานและขาดรายได้ 200 ครอบครัวใน จ.เชียงใหม่ ให้สามารถรักษาระยะห่างป้องกันโรคระบาด (social distancing) ด้วยการมอบถุงยังชีพ ที่ประกอบด้วย อาหาร ยาและหน้ากากผ้า ที่จำเป็นในช่วงหนึ่งเดือนนี้
โครงการ “คลองเตยดีจัง ปันกันอิ่ม” ระดมทุนบริจาค 30 บาท = อาหาร 1 มื้อ ให้กับคนในชุมชนคลองเตยที่กำลังเดือดร้อน ไม่มีเงิน และตกงาน ได้ผ่านพ้นวิกฤตไวรัสโควิด-19
โครงการ COVID THAILAND AID ช่วยเหลือคนกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบต่อโควิด19 โดยแจก 1.) ชุดยังชีพ ให้ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ครอบครัวรายได้น้อย และผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือ 2.) อาหารให้คนไร้บ้าน 3.) กองทุนฉุกเฉินสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ที่อยู่แนวหน้ารับมือโรคนี้โดยตรง
" แพลตฟอร์มเทใจ สามารถเข้ามามีส่วนช่วยในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีเครื่องมือที่มีส่วนร่วมในการช่วยให้หมอและกลุ่มคนอื่นๆได้ ซึ่งหนึ่งในปัจจัยพาสังคมรอดพ้นจากวิกฤติโควิดได้ คือ คนในสังคมตื่นตัวออกมาร่วมมือช่วยเหลือกันจะทำให้เราไปต่อได้" เอด้า กล่าวทิ้งท้าย