ผลกระทบไฟป่า | Green Pulse
แม้จะมีบางงานวิจัยศึกษาถึงประโยชน์ของไฟป่าที่มีต่อการเจริญเติบโตของพืชและสังคมพืชบางชนิด แต่หากไร้การจัดการที่ดีแล้ว มักจะก่อให้เกิดความสูญเสียต่อระบบนิเวศน์ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งไฟป่าที่ไม่ได้เกิดขึ้นตามวัฏจักรของธรรมชาติ
ข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ระบุว่า ไฟป่าในปัจจุบัน กลายเป็นสาเหตุสาคัญประการหนึ่งของการลดลงของพื้นที่ป่าอย่างรวดเร็ว
โดยในการชี้แจงถึงสภาพปัญหาในมาตรการแก้ไขปัญหาไฟป่าปี 2563 พบว่า ปัจจุบัน ระดับของการเกิดไฟป่าในประเทศไทย กลายเป็นปัจจัยที่รบกวนสมดุลของระบบนิเวศอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อ สังคมพืช ดิน น้ำ สัตว์ป่า และสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในป่า
นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดวิกฤตมลพิษหมอกควันที่มีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพอนามัย ตลอดจนชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน อุตสาหกรรมการบิน และการท่องเที่ยวของประเทศ
โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ซึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านจากฤดูหนาวไปสู่ฤดูร้อนช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายนของทุกปี มีกจะเป็นช่วงที่มีความกดอากาศสูงแผ่ปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เกิดชั้นอุณหภูมิผกผัน ปิดกั้นหรือกักเก็บอนุภาคต่างๆ ที่ฟุ้งกระจายจากพื้นโลก ส่งผลให้ปริมาณฝุ่นละอองไม่สามารถลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้น กลายเป็นวิกฤติหมอกควัน ซึ่งเมื่อรวมกับควันของการเผาในที่โล่ง การเผาเศษวัชพืชจากภาคเกษตรกรรม และหมอกควันไฟป่าข้ามพรมแดนจากประเทศข้างเคียงแล้ว ทำให้ปัญหายิ่งวิกฤติมากขึ้น
ทั้งนี้ จากข้อมูลสถิติของการเกิดไฟป่าในประเทศไทย ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560-2562 พบว่า ไฟป่าที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์แทบทั้งสิ้น โดยกรมฯ พบว่า สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเก็บหาของป่า มีค่าเฉลี่ยร้อยละ 68.90
ผลจากการเผาป่า พบว่า มีพื้นที่ป่าที่ถูกไฟไหม้ทั่วประเทศในปี 2562 เพียงปีเดียว มีมากถึง 151,681.9 ไร่ โดยเจ้าหน้าที่ต้องระดมกำลังกันดับไฟป่าถึง 7,318 ครั้ง
ภาพ/ แมวดาวได้รับบาดเจ็บ/คลีนิคสัตว์ป่า เชียงใหม่
ผลกระทบ
แม้ไฟป่า จะสามารถสร้างปัญหาทางสิ่งแวดล้อมและสังคมได้สูง แต่ความรู้และความเข้าใจเรื่องไฟป่า โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะต่อระบบนิเวศน์กลับพบว่ายังมีน้อยมาก ทั้งนี้ แหล่งข่าวในกรมฯ กล่าวว่า เรื่องไฟป่าและผลกระทบในประเทศไทยยังมีการศึกษาค่อนข้างน้อย
งานศึกษาที่มีบางชิ้น พอจะบอกเราได้ว่า ไฟป่า ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์อย่างไร
โดยงานศึกษาผลกระทบของไฟป่าต่อสัตว์ป่าบางชนิดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานีกว่า 20 ปีที่ผ่านมา โดยอดีตหัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ กรมอุทยานฯ ธีรภัทร ประยูรสิทธิ พบว่า ไฟป่า อาจส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่ามากกว่าเอื้อประโยชน์
โดยเขาและทีมพบสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งที่สำรวจได้ทั้งหมด 600 ชนิด 95 วงศ์ โดยแบ่งเป็น สัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบก 36 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 84 ชนิด สัตว์ปีก 385 ชนิด และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 95 ชนิด
ในจำนวน 600 ชนิดนี้ คณะผู้วิจัยระบุว่า มีสัตว์ป่าที่มีถิ่นอาศัยในป่าผลัดใบตลอดเวลาหรือบางช่วงของฤดูกาล รวม 479 ชนิด (79.83%) ซึ่งป่าผลัดใบจะมีไฟไหม้ป่าทุกปีในช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน
ในจำนวนนี้ พบว่ามีสัตว์ป่าถึง 361 ชนิด (60.17%) ที่ไม่ได้รับประโยชน์จากไฟป่าที่เกิดขึ้นมากนัก และมีเพียง 51 ชนิด (8.5%) ที่ได้รับประโยชน์จากไฟป่าที่เกิดขึ้น
ในขณะที่ในภาพรวมทั้งหมด มีสัตว์ป่าเพียง 24.33% หรือ 146 ชนิดที่ไม่ได้รับความเสียหายจากไฟป่าที่เกิดขึ้น แต่มีสัตว์ป่าถึง 243 ชนิด หรือ 40.50% เริ่มได้รับความเสียหายหรือเสียหายน้อย, 89 ชนิด (14.83%) ได้รับความเสียหายปานกลาง และมี 9 ชนิด (1.5%) ได้รับความเสียหายมาก
“แสดงให้เห็นว่าสัตว์ป่าส่วนใหญ่จะไม่ได้รับประโยชน์มากนักจากไฟป่าที่เกิดขึ้น ไฟป่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ป่าอย่างมาก” ธีระภัทรระบุ
ข้อมูลงานวิจัยของธีรภัทรสอดคล้องกับเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าในเวลาปัจจุบัน โดยจากการรายงานของมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ที่ติดตามสถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่เมื่อต้นปีที่แล้ว พบว่า ไฟป่าได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์กึ่งอัลไพน์ที่มีสังคมพืชที่มีเอกลักษณ์และพบได้เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย
หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว มงคล สาฟูวงศ์ บอกกับมูลนิธิฯ ว่า ไฟป่าที่เกิดขึ้นค่อนข้างรุนแรง เพราะไม่ได้เกิดไฟป่ามานานแล้ว จึงมีเชื้อเพลิงสะสมค่อนข้างเยอะ ทำให้เกิดความเสียหายมาก
มงคลอธิบายถึงสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ว่า พันธุ์ไม้เชียงดาวส่วนใหญ่ เป็นลักษณะไม้ล้มลุก บางชนิดพอโดนไฟไหม้อาจหมดไปได้ เพราะขยายพันธุ์โดยมีการออกฝักแล้วร่วงตกลงมาบนพื้น ซึ่งพอเข้าหน้าฝนที่มีความชื้นเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้เมล็ดงอกขึ้นมา แต่ถ้ามีการเผาหน้าดิน เมล็ดพวกนี้อาจจะได้รับความเสียหายค่อนข้างเยอะ หรือ การขยายพันธุ์โดยเง้าที่อยู่ใต้ดินลึกลงไปไม่มาก ความร้อนอาจไปทำลายจนไม่สามารถออกมาเป็นต้นได้อีก
มงคลกล่าวว่า พรรณไม้กึ่งอัลไพน์เหล่านี้มีความอ่อนไหวและมีจำนวนไม่มาก ถ้าถูกรบกวนก็อาจสูญหายไปจากธรรมชาติได้ เพราะพรรณไม้กึ่งอัลไพน์ เป็นพืชที่ไม่ได้ออกแบบมาให้ทนไฟ แม้อาจมีเหลือรอดบ้างที่อยู่ตามหน้าผา บริเวณที่ไฟไปไม่ถึง คงต้องใช้เวลาให้พืชที่เหลืออยู่กระจายขึ้นมาใหม่
“การฟื้นฟูสภาพป่าและพืชพรรณที่เสียหายอาจจะใช้ระยะเวลา 2-3 ปีขึ้นไป” มงคลกล่าว
มงคลยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อมีไฟไหม้เกิดขึ้น จะมีพืชกลุ่มหญ้าคา ซึ่งเป็นพื้นที่มีเง้าใต้ดิน เเทงยอดขึ้นมาหนาแน่น เจริญเติบโตเร็วเมื่อฝนมา เกิดเป็นภาวะที่หญ้าคาปกคลุมพื้นที่ ทำให้พรรณไม้กึ่งอัลไพน์ ชูยอดขึ้นมารับแสงค่อนข้างน้อย มีโอกาสในการเจริญเติบโตต่ำ
สำหรับผลกระทบต่อสัตว์ป่า หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว ได้ประเมินไว้ว่า สัตว์ป่าอาจจะโดนไฟคลอกตายในขณะเกิดเพลิงไหม้ หรือสัตว์พวกนกต่างๆที่หากินตามทุ่งหญ้า ก็อาจจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากไฟไหม้รัง เป็นต้น
นอกจากนี้ ไฟป่ายังทำให้เกิดควันที่ทำให้สัตว์ป่าสำลักจนตาย หรืออาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวของสัตว์ป่าได้
และที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือ การที่แหล่งอาหารถูกทำลาย อาจถึงขั้นวิกฤติคือแหล่งหากินถูกทำลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากสัตว์ป่าได้รับบาดเจ็บหรือมีสุขภาพไม่ดี อาจทำให้ขาดอาหารจนป่วยตายในที่สุด มงคลกล่าว
ในปีนี้ ไฟป่าได้ไหม้พื้นที่ป่าหลายๆแห่ง รวมทั้งที่เชียงดาวเอง ทำให้หลายๆ ฝ่ายมีความกังวลต่อผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และสัตว์ป่าในพื้นที่ และยิ่งทำให้องค์ความรู้ด้านไฟป่านับวันยิ่งมีความสำคัญเพื่อหาคำตอบและแนวทางจัดการไฟป่าที่ดีขึ้นต่อไป
แหล่งข่าวกล่าวว่า กรมฯ เองได้พยายามศึกษาเก็บข้อมูลด้านนี้ อาทิ เหตุการณ์ไฟไหม้ป่าที่ภูกระดึง จังหวัดเลย แม้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและผลการศึกษาอาจแตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่
ในมาตรการการแก้ไขปัญหาไฟป่า ปี 2563 กรมฯ ได้สรุปภาพรวมผลกระทบอันเนื่องมาจากไฟป่าและหมอกควันไว้ว่า มันจะส่งผลกระทบต่อสังคมพืช โดยไฟป่าจะทำลายลูกไม้ กล้าไม้เล็ก ๆ และไม้พื้นล่าง ทำให้เกิดการขาดช่วงของการสืบพันธุ์ทดแทนตามธรรมชาติ นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของป่า, ผลกระทบต่อโครงสร้างดิน, ผลกระทบต่อความสามารถในการดูดซับน้ำของป่า รวมทั้งผลกระทบต่อสัตว์ป่าและสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในป่า โดยจะทำลายชีวิต ตลอดจนแหล่งน้ำแหล่งอาหาร และแหล่งที่อยู่อาศัย ทำให้ประชากรและความหลากหลายของสัตว์ป่าและสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในป่าลดลง