'ประกันสังคม' จ่ายล็อตแรกวันนี้! ว่างงานจากเหตุสุดวิสัย 8 พันราย
"ประกันสังคม" จ่ายล็อตแรกว่างงานจากเหตุสุดวิสัย 8 พันราย จากผู้ผ่านการคัดกรอง 4 แสนราย ทยอยจ่ายผลประโยชน์ทดแทนอย่างต่อเนื่อง ผู้ไม่ได้รับสิทธิสามารถยื่นอุทธรณ์ใน 30 วัน ยืนยัน เตรียมสภาพคล่องพร้อมจ่าย
เมื่อวันที่ 20 เม.ย.63 ม.ร.ว.จตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงความคืบหน้าการจ่ายเงินทดแทนกรณีว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัย อันเกิดจากโรคระบาดติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ.2563 ซึ่งจะให้ประโยชน์ทดแทนกับลูกจ้างผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือแรงงานที่มีนายจ้าง ว่า หลังจากได้ลงนามในกฎกระทรวงและประกาศในราชกิจจานุเบกษา กรณีการได้รับผลประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยดังกล่าว ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563
โดยให้ประกันสังคมจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยแก่ผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ผู้ประกันตนมาทำงาน กักตัว 14 วัน เนื่องจากสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 และกรณีผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้ และไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ไม่ว่านายจ้างจะหยุดประกอบกิจการเอง หรือหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของราชการ ซึ่งทำให้ผู้ประกันตนไม่ได้รับค่าจ้างส่งผลให้มีผู้ประกันตนกลุ่มแรก ได้รับเงินก้อนแรกในวันที่ 20 เมษายน 2563
รมว. กระทรวงแรงงาน ระบุว่า สำหรับคนที่เข้าข่ายได้รับสิทธิมีอยู่ราว 11 ล้านคน แต่บางส่วนยังทำงานอยู่ ซึ่งจำนวนที่แท้จริงจะต้องรอประเมินหลังจากนี้อีก 1-2 สัปดาห์ โดยในวันแรก (20 เมษายน) ได้มีการจ่ายเงินงวดแรก ให้กับผู้ประกันตนที่ผ่านการตรวจสอบสิทธิแล้ 8,000 ราย สำหรับกรณีเงินกองทุนประกันสังคม ยังคงมีเงินที่จะใช้ได้พอสมควร เพราะเป็นการเก็บเงินไว้เพื่อใช้ในอนาคต
“ขณะที่เงินที่จ่ายในกรณีบำนาญ บำเหน็จ จากที่มีผู้ประกันตนส่งเงินมากว่า 30 ปี เพิ่งมีคนได้รับบำนาญเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา ราว 2 แสนล้านบาท เพราะคนทำงานนานกว่าจะเกษียณ ดังนั้น เงินกองทุนยังมีอยู่เยอะ อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือผู้ที่ต้องการรับสิทธิ ช่วยกรุณาติดต่อทางอีเมล์ หรือ อินเทอร์เน็ต เพื่อลดความแออัด” รมว.กระทรวงแรงงาน กล่าว
แรงงานเข้าข่ายได้สิทธิราว 4 แสนราย
ด้าน นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ระบุว่า ขณะนี้มีผู้ประกันตนมาตรา 33 มายื่นขอใช้สิทธิกว่า 8 แสนราย เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าอยู่ในข่ายที่ได้รับสิทธิราว 4 แสนคน และอีก 4 แสนรายอยู่ระหว่างการรับรองจากนายจ้าง คาดว่าหลังจากนี้จะมีผู้ประกันตนทยอยมาขอใช้สิทธิ์เพิ่มขึ้น แต่ต้องกราบเรียนว่า เพื่อให้การดำเนินการอย่างรวดเร็ว ขอความกรุณาให้นายจ้างหรือผู้ประกอบการ รับรองความเป็นลูกจ้างของท่านด้วย เพื่อไม่ให้ล่าช้า และเพื่อให้ข้อมูลตรงกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างผู้ขอใช้สิทธิ
“สำหรับ ในวันนี้มีการโอนเงินให้ผู้ที่ได้รับสิทธิจำนวน 8,000 ราย ซึ่งถือเป็นล็อตแรกหลังจากทำการวินิจฉัย เนื่องจากต้องดูว่าองค์ประกอบครบถ้วนหรือไม่ มีข้อกำหนดตามที่กฎหมายวางไว้หรือไม่ เช่น ต้องเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ต้องไม่ถูกเลิกจ้าง หรือลาออก และไม่ได้รับเงินค่าจ้างจากนายจ้าง หลังจากนี้จะทยอยจ่ายเงินให้แก่ผู้ที่มีคุณสมบัติและหลักฐานครบถ้วนต่อไป ต้องเรียนว่าสำนักงานประกันสังคม ได้ระดมเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ทุกงานเพื่อมาทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพื่อให้สามารถสนองนโยบายของกระทรวงในการขับเคลื่อนและบริการผู้ประกันตนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับเตรียมวางระบบให้มีความสเถียรมากขึ้น” นายทศพล กล่าว
เตรียมสภาพคล่องพร้อมจ่าย
ทั้งนี้ จากการที่มีข้อคำถามที่ว่า เงินกองทุนประกันสังคม เพียงพอในการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยหรือไม่ นายทศพล ระบุว่า สำนักงานประกันสังคมได้เตรียมความพร้อมในการจ่ายเงินสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนทุกคน ในปัจจุบัน เงินกองทุนประกันสังคมในส่วนของกรณีว่างงานมีอยู่จำนวน 1.6 แสนล้านบาท สำนักงานได้เตรียมสภาพคล่องพร้อมจ่ายเงินให้ผู้ประกันตนได้ทันที ที่ตรวจสอบสิทธิเรียบร้อย
“แต่อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีกยังได้มีมติให้กระทรวงแรงงาน เตรียมความพร้อมจัดทำแผนการเงินเพื่อรองรับในกรณีที่มีคนขอรับสิทธิประโยชน์ในกรณีว่างงานเป็นจำนวนมากในกรณีจำเป็น อาจต้องขอรับจัดสรรงบประมาณสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานก็สามารถจัดทำแผนขอรับเงินในส่วนนี้ได้” นายทศพล กล่าว
นายทศพล กล่าวต่อไปว่า สำหรับโดยผู้ประกันตนสามารถยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุกวิสัยได้ 2 ช่องทาง คือ 1. ยื่นขอรับผ่านช่องทางออนไลน์ ทางหน้าเว็บไซต์ www.sso.go.th หัวข้อขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน Online (e-form for sso benefits) โดยผู้ประกันตนต้องกรอกแบบขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย
และ 2. ยื่นขอรับด้วยวิธีปกติ ผู้ประกันตนสามารถเข้าไปดาวน์โหลด แบบขอรับผลประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส.2-01/7) ที่หน้าเว็บไซต์ www.sso.go.th เพื่อพิมพ์แบบออกมากรอกข้อมูลพร้อมสำเนาหน้าบัญชีธนาคาร จัดส่งตามช่องทางต่อไปนี้ ส่งเอกสารทางไปรษณีย์ตอบรับ หรือส่งเอกสารทางโทรสาร (FAX) ของสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานคร/จังหวัด/สาขากำหนด ส่วนนายจ้างต้องกรอกแบบรับรองการปิดกิจการ จากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 โดยผ่านช่องทางออนไลน์ หรือวิธีการติดต่อกับสำนักงานประกันสังคมดังกล่าวข้างต้น
สำหรับกรณีที่มีข้อคำถามว่า ผู้ประกันตนเรียกร้องให้จ่ายเงินบำนาญชราภาพก่อนถึงอายุ 55 ปี ได้หรือไม่ นายทศพล กล่าวว่า ในส่วนนี้ต้องใช้เวลาในการคิดและพิจารณา ซึ่งตนเข้าใจผู้ประกันตนมีความยากลำบากในการใช้ชีวิต และอยากได้ในสิ่งที่ได้สะสมไว้ออกมาเยียวยา โดยขอให้ความมั่นใจว่า เงินทุกบาทที่อยู่ในสำนักงานประกันสังคม จะยังคงอยู่ในระบบของ สปส. และเป็นของผู้ประกันตน ซึ่งจะดูแลผู้ประกันตนที่เข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคม
ไม่ได้รับสิทธิ ยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน
ด้าน นางบุปผา พันธุ์เพ็ง รองโฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวเสริมว่า กรณีที่ลงทะเบียนแล้วไม่ได้รับเงิน เราตรวจสอบในกรณีจากเหตุสุดวิสัย ต้องมีสถานะเป็นผู้ประกันตน ไม่ได้ถูกเลิกจ้าง หรือลาออก และต้องไม่ได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง จะได้เงินทดแทน 62% ซึ่งเมื่อวินิจฉัยไปแล้ว จะมีแจ้งว่าได้รับเงินหรือไม่อยู่ในเงื่อนไข จากที่ยื่นเข้ามา 8 แสนราย นายจ้างรับรองไปแล้วราว 4 แสนราย ซึ่งที่เหลือจะมีขั้นตอนการติดตามนายจ้างเพื่อให้รับรองว่าเป็นลูกจ้างจริง และมีการหยุดงานเมื่อไหร่ถึงเมื่อไหร่ ดังนั้น ที่เหลืออีก 4 แสนราย ยังมีสิทธิ์เพียงแต่นายจ้างยังไม่ได้ยื่นรับรองมา สำหรับ ผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน