‘วันคุ้มครองโลก’ กับ 5 วาระ ‘ธรรมชาติ’ ที่แสนเปราะบาง
ย้อนมอง 5 วาระ “ธรรมชาติ” ใน “วันคุ้มครองโลก” ที่อยู่ใกล้ตัวเรา และเปราะบางกว่าที่คิด
วันที่ 22 เมษายน ของทุกปี เป็น วันคุ้มครองโลก หรือ Earth Day วันที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างความตระหนักใน ธรรมชาติ โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษหลังที่ประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภาวะโลกร้อนเริ่มส่งผลกระทบกับโลก และตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เรื่องนี่ยิ่งสำคัญเพิ่มมากขึ้น
เหมือนอย่างที่ เกรต้า ทุนเบิร์ก เคยพูดบนเวทีการประชุมแก้ไขปัญหาโลกร้อน COP24 ของ UN ที่โปแลนด์
“คุณบอกว่าคุณรักลูกหลานเหนือสิ่งอื่นใด แต่คุณกำลังพรากอนาคตไปจากพวกเขา” นี่คือวาทะที่ทำให้โลกจดจำเธอ และส่งแรงกระเพื่อมให้ทุกคนบนโลกหันมาแสดง “ความรับผิดชอบ” และ “ความเปลี่ยนแปลง” จากสิ่งที่เราได้กระทำต่อโลกมาทั้งหมด
เมื่อโลกใบนี้เป็นโลกใบเดียวที่ทุกคนใช้จ่ายร่วมกัน สิ่งที่เกิดขึ้นกับโลก ไม่ว่าจะเป็นธารน้ำแข็งที่ละลายเร็วขึ้นจนน่าตกใจ หรือเหตุการณ์ไฟป่าแอมะซอน และแอฟริกาใต้ รวมทั้งไมโครพลาสติกในท้องปลาทูที่ถูกพูดถึงในประเทศไทยล้วนเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกันแทบทั้งสิ้น
กรุงเทพธุรกิจ ชวนอ่าน 5 ประเด็นสิ่งแวดล้อมในวันคุ้มครองโลกที่กำลังกลายเป็นความเรื้อรัง และส่งผลกระทบกับธรรมชาติอันแสนเปราะบางของประเทศไทยในขณะนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
22 เมษายน 'วันคุ้มครองโลก' วันที่เราได้ส่งเสียงเพื่อ 'ธรรมชาติ'
รู้จัก ‘เกย์ลอร์ด เนลสัน’ ผู้จุดประเด็น ‘วันคุ้มครองโลก’ 22 เมษายน
ลีโอนาร์โด เรียกร้องรัฐบาลทั่วโลกปิดตลาดค้าสัตว์ป่า
- มาเรียม ปลาทู และพลาสติก
“ในทางเดินอาหารท่ีมีขยะพลาสติกนั้น ไม่สามารถรักษาได้ จึงลุกลามไปจนช็อก และทำให้เสียชีวิตในที่สุด” ผลชันสูตรที่พบพลาสติกในทางเดินอาหารของมาเรียม หรือกระทั่งผลวิจัยการพบพลาสติกจิ๋วในตัวปลาทูนั้นเป็นเหมือนผลกระทบของขยะพลาสติกที่สะเทือนสังคมไทยที่สุดอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อโลกของเรามีพลาสติกที่ในแต่ละปีถูกผลิตขึ้นไม่ต่ำกว่า 300 ล้านตัน
พลาสติกเหล่านี้ ประกอบไปด้วย ถ้วยกาแฟ 1.6 หมื่นล้านใบ ขวดพลาสติก 4.5 หมื่นล้านใบ และถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งอีก 4 ล้านล้านใบ ทำให้มีขยะพลาสติกราว 8-10 ล้านตันถูกทิ้งลงมหาสมุทร
ขณะที่ รายงานจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ปีพ.ศ. 2562 ประเทศไทยมีขยะพลาสติกอยู่ราว 2 ล้านตัน มีการนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เพียง 5 แสนตันเท่านั้น ในทางกลับกันปริมาณขยะในไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปี 2561 มีกว่า 27.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.64 เปอร์เซ็นต์ จากปี 2560 ปัจจัยจากการมีประชากรเพิ่มขึ้น ชุมชนเมืองขยายตัว รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยว และการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น เฉพาะในกรุงเทพฯ มีปริมาณ 4.85 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 17 ของขยะมูลฝอยทั้งประเทศ
สำทับด้วยชุดข้อมูลที่ว่า ขยะมูลฝอยอีกจำนวนมากที่ยังไม่มีการเก็บรวบรวม โดยบริเวณที่พบขยะตกค้างพบมากที่สุดคือ ชายหาด ปะการัง และป่าชายเลนในพื้นที่ 24 จังหวัดชายทะเล โดยส่วนใหญ่ของขยะที่พบเป็น “ถุงพลาสติก”
นี่คือสิ่งที่กำลังฆาตกรรม และสร้างความพินาศให้กับแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติอย่างทะเล แต่พลาสติกคงไม่ใช่ผู้ร้ายเท่าพฤติกรรมการใช้แล้วทิ้งที่ซึมอยู่ในวิถีชีวิตจนกลายเป็นวัฒนธรรมประจำวันของเรามากกว่า
ปริมาณขยะกว่า 1 กิโลกรัมที่คนไทยสร้างขึ้นในแต่ละวัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี หรือในสถานการณ์ โควิด-19 ปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นกว่า 6,300 ตันต่อวันจากฟู้ดเดลิเวอรี่ นั้น ก็เป็นอีกหลักฐานที่ยืนยันความจริงข้อนี้ได้เป็นอย่างดี
คำถามที่ต้องย้อนถามจริงๆ ใน วันคุ้มครองโลก อย่างนี้ก็คือ ใครกันแน่ที่เป็นผู้ร้าย
- จากไร่ข้าวโพดป่าน่านถึงความตายอันเงียบเชียบของป่าพรุควนเคร็ง
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ที่ “ป่าน่าน” กลายเป็นป่าชื่อดังอีกผืนหนึ่งของประเทศไทยจากการถูกถากหายไปจากแผนที่กว่า 1.8 ล้านไร่ จนกลายเป็น “รอยแผลเป็น” และจุดกระแสอนุรักษ์ป่าให้สังคมตื่นตัวกันอยู่พักใหญ่ถึงวันนี้การไม่ได้ปรากฏบนพื้นที่สื่อ ก็ไม่ได้แปลว่า แผลเป็นของป่าน่านในธรรมชาตินั้นจะเลือนหายไปตามกาลเวลา
ความสูญเสียพื้นที่ป่า ปีละ 2.5 แสนไร่ ที่สร้างผลกระทบให้กับป่ากว่า 4.5 ล้านไร่กลายเป็นโจทย์ “คณิตศาสตร์ง่ายๆ” ที่ถูกพร่ำบอกมาปีแล้วปีเล่า พอๆ กับปัจจัยแวดล้อมอย่าง การจัดการพื้นที่ทำกิน วิถีการทำมาหากินที่ถูกต้อง รวมทั้งข้อกฎหมายบางประการเพื่อนำไปสู่การจัดสรรพื้นที่ใช้สอยอย่างเพียงพอ เป็นเป้าหมายหลักของภารกิจ
จนนำไปสู่การทดลองปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินเชิงพื้นที่ หรือน่านแซนด์บ๊อกซ์หรือ นซบ. (NAN Sandbox) ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2561 โดยมีสมการ 72-18-10 เป็นสูตรในการแก้ปัญหา
เม็ดเงินที่จะมาช่วยในเรื่องของการหยุดการตัดป่า ชะลอไร่อุตสาหกรรม เตรียมพืชทางเลือก ฟื้นฟูสภาพดิน แหล่งน้ำ และป่าเสื่อมโทรม ชดเชยรายได้ให้กับเกษตรกรในช่วงเปลี่ยนผ่านรวมถึงการระดมความรู้จากศาสตร์ทุกแขนงเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมให้กับธรรมชาติ ล้วนเป็นโจทย์ที่พูดง่าย แต่ทำยากอย่างยิ่ง
ถ้าแก้เรื่องนี้ไม่ได้ก็อย่าหวังว่า ป่าต้นน้ำหลักกว่าร้อยละ 40 ของแม่เจ้าพระยาจะยั่งยืน
การแผ้วถางป่าร้ายพอๆ กับไฟป่า โดยเฉพาะป่าพรุควนเคร็ง พื้นที่ชุ่มน้ำแหล่งสำคัญอีกแหล่งของภาคใต้ที่ประเทศไทยได้สูญเสียไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์สะเด็ดน้ำออกมาจากป่าพรุ ลงสู่คลองซอย และคลองแนวกันพื้นที่ป่าที่ถูกขุดขึ้นโดยทางราชการ ประกอบกับฝนทิ้งช่วงทำให้น้ำขาดไปจากป่าพรุอย่างสิ้นเชิง เมื่อถูกแนวไฟที่เกิดขึ้นตลอดกว่า 1 เดือนที่ผ่านมานั้น ข้อมูลของสถานีควบคุมไฟป่าพรุควนเคร็งได้รวบรวมพื้นที่ความเสียหายที่เกิดขึ้น พบว่า มีมากกว่า 15,000 ไร่แล้ว โดยมีปัจจัยสำคัญคือ พื้นที่แห้งแล้ง และถูกลักลอบจุดไฟอย่างต่อเนื่อง
ทำให้วันนี้ พื้นที่ชุมน้ำที่เคยเป็นแหล่งกักเก็บน้ำฝนดักตะกอนและแร่ธาตุ การกรองตะกอนและแร่ธาตุจากแหล่งน้ำธรรมชาติถิ่นอาศัยของพรรณไม้ และสัตว์ป่ากว่า 400 ชนิด มีสภาพไม่ต่างจากคนป่วยรอวันตาย หากไม่มีใครลงมือทำอะไร
- กัดเซาะชายฝั่ง วันที่แผ่นดินกำลังจมทะเล
การรุกคืบของทะเลซึ่งส่งผลต่อระบบนิเวศชายฝั่งที่ถูกทำลายนั้นเป็นอีกปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุกคืบทั่วทุกพื้นที่ชายฝั่งของไทยมาโดยตลอด นับตั้งแต่การถูกทะเลกลืนแผ่นดินของชุมชนขุนสมุทรจีน จ.สมุทรปราการที่ทำให้ประเด็นกัดเซาะชายฝั่ง และผลกระทบจากโลกร้อนถูกพูดถึงกันในวงกว้างของสังคม แต่จนถึงวันนี้ ดูเหมือนเรื่องจะเงียบหายไปตามกาลเวลา ทั้งที่ปัญหายังคงอยู่ นี่คือเรื่องราวของชายฝั่งในวันคุ้มครองโลก
ข้อมูลเชิงวิชาการระบุว่าชายฝั่งทะเลไทยนั้นมีความยาวมากกว่า 3,100 ตารางกิโลเมตร โดยสถานการ์กัดเซาะชายฝั่งในปี 2560 นั้น มีชายฝั่งถูกกัดเซาะไปแล้วกว่า 145 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างแก้ปัญหาถึง 558 กิโลเมตร มีเพียง1,700 กิโลเมตรไม่กัดเซาะ ส่วนที่เหลือ722 กิโลเมตรเป็นพื้นที่ก่อสร้างรุกล้ำแนวชายฝั่ง
โดยนักวิชาการด้านชายฝั่งทะเลไทยหลายคนต่างออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า แม้สถานการณ์ปัญหากัดเซาะของไทยดูเหมือนจะลดลง แต่การใช้โครงสร้างแข็งเพื่อป้องกันพื้นที่กัดเซาะเพิ่มเติมที่ปูพรมทำกันทั่วประเทศตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้นไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่เพียงประทังหรือชะลอเท่านั้น ปัญหาไม่ได้หมดไปแล้ว ก็ไม่ได้ระบบนิเวศหาดทรายกลับคืนมาด้วย
ที่สำคัญ บริบทแต่ละพื้นที่ทำให้เกิดผลดีผลเสียหลังการมาของโครงสร้างดังกล่าวต่างกัน หากทำโดยไม่ศึกษาบริบทแวดล้อมเหล่านี้ให้รอบด้านจะยิ่งเกิดผลเสียในระยะยาวมากกว่า ทั้งงบประมาณ และผลกระทบต่อระบบนิเวศของท้องถิ่น
ส่วนแนวทางที่น่าจะเป็นนั้นก็คือ ควรรักษาธรรมชาติ และฟื้นฟูระบบนิเวศเชื่อมโยงกับระบบหาด เช่น ปะการัง หญ้าทะเล ป่าชายหาด ป่าชายเลน
- ฝุ่นละออง และหมอกควัน
องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ตั้งมาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ย 1 ปีไว้ที่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และเฉลี่ย 24 ชั่วโมงไว้ที่ 25 มคก./ลบ.ม. แต่กรมควบคุมมลพิษของไทย กำหนดเพดานฝุ่นละอองเฉลี่ย 1 ปี ที่ 25 มคก./ลบ.ม. และเฉลี่ย 24 ชั่วโมงที่ 50 มคก./ลบ.ม.
WHO กำหนดค่ามาตรฐานฝุ่นละออง ในธรรมชาติ เพื่อเป็นข้อแนะนำให้หลายประเทศปฎิบัติตาม โดยคำนึงถึงต้นทุนสุขภาพที่แต่ละชาติต้องจ่าย โดยเฉพาะการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชาชน
ขณะที่สังคมไทยตื่นตัวเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็กเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา บีบีซีไทยรายงานว่ารัฐบาลไทยลงนามในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals) โดยมีหัวข้อที่ 3 คือ มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี หรือ Good Health and Well-Being ด้วยหัวข้อย่อย 3.3 ระบุถึงการลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อ 1 ใน 3 ผ่านการป้องกันและการรักษาโรค ภายในปี 2573
แต่ไทยไม่ได้ลงนามในเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นคนในแต่ละปีจากตัวเลขการเก็บข้อมูลของกรีนพีชเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อไม่นานมานี้ มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยยูทาห์ในสหรัฐฯ รายงานว่า มลพิษทางอากาศทำให้ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์เสี่ยงแท้งลูกพอๆ กับการสูบบุหรี่โดยกรุงเทพฯ และปริมณฑลยังเผชิญกับปัญหาฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือที่รู้จักกันว่า ฝุ่น PM2.5 ซึ่งเกิดจากสาเหตุหลายอย่าง อาทิ การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ และการก่อสร้าง ซึ่งเป็น 2 สาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่ รวมทั้งการเผาเพื่อการเกษตรในต่างจังหวัด
แน่นอนว่า เรื่องของฝุ่นควันที่หยิบมาเล่าในวันคุ้มครองโลกนี้ จะกลายเป็นอีกปัญหาขาประจำที่มาเคาะประตูบ้านเราในทุกช่วงฤดูกาล
- เมื่อแม่น้ำโขงกำลังจะตายเพราะเขื่อน
แม่น้ำโขง ถือเป็น แม่น้ำแห่งอุษาคเนย์ ที่ไหลผ่านตั้งแต่ประเทศจีนตอนใต้ ประเทศเมียนมา ส.ป.ป.ลาว ประเทศกัมพูชา และประเทศเวียดนาม โดยมีเมืองหลวงของ 2 ประเทศคือ นครเวียงจันทน์และนครพนมเปน ได้ใช้แม่น้ำสายนี้มาแต่โบราณกาล และที่รู้กันอยู่ทั่วไปในตอนนี้ คือ ประเทศจีนตอนใต้ ประเทศกัมพูชา และส.ป.ป.ลาว กำลังสร้างเขื่อนหลายเขื่อนด้วยกัน
เขื่อนต่างๆ เหล่านี้ ต่างก็มีวัตถุประสงค์ในการสร้างแตกต่างกันออกไป แต่อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของเขื่อนอาจสร้างความวิตกให้กับประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง ที่กล่าวกันว่า แม่น้ำโขงกำลังจะตายนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องพูดกันเล่น ๆ ตามประสาชาวบ้าน แต่มีการทำการวิจัยอย่างจริงจัง โดย สถาบันเพื่อมรดกธรรมชาติ (Natural Heritage Institute) ซึ่งเป็นสถาบันที่คอยสอดส่อง ความเป็นอยู่ของบรรดาแม่น้ำทั่วโลก
สิ่งที่ปรากฎในรายงานวิจัยก็คือ เขื่อนทำให้ตะกอนของแม่น้ำโขงในธรรมชาติซึ่งจะไหลบ่าไปสู่ผืนนาข้าวของทั้งประเทศเวียดนาม และประเทศกัมพูชานั้นถูกกั้นโดยเขื่อน ทำให้ตะกอนเหล่านั้นไม่สามารถไหลมาท้ายน้ำได้ ซึ่งหมายความว่า แม่น้ำกำลังจะตื้นเขินลงในที่ต่างๆ ที่ได้มีการสร้างเขื่อนไว้ ยิ่งไปกว่านั้นในเรื่องของสภาวะทางนิเวศน์ จะถูกกระทบกระเทือนอย่างหนัก เช่น พันธุ์ปลาที่จะต้องว่ายขึ้นไปวางใข่เหนือน้ำ เพื่อไปทำการเผยขยายพันธุ์จะเจอปัญหาเช่นเดียวกัน
หรือปรากฎการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงในระดับต่ำสุด เป็นระยะทางกว่า 4,500 กิโลเมตร ตั้งแต่จีนจรดชายฝั่งเวียดนาม อีกทั้งยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณน้ำใน “โตนเลสาบ” ทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีปลาอาศัยอยู่หลายร้อยสายพันธุ์ และแต่ละปีมีผลผลิตปลาจากทะเลสาบแห่งนี้ราว 300,000 ตันแต่ความอุดมสมบูรณ์ของโตนเลสาบกำลังถูกคุกคามจากปัญหาน้ำน้อย การประมงเกินขีดจำกัด มลพิษ และการสร้างเขื่อน
ความแปรปรวนของสภาพภูมิศาสตร์ของแม่น้ำโขงนั้นเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของผลกระทบของธรรมชาติที่กำลังสะเทือนไปทั่วภูมิภาค
ทั้งหมด ล้วนเป็นความเปราะบางที่เกิดขึ้นกับธรรมชาติ และส่งผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อมมายังตัวเราทั้งสิ้น สุขสันต์ วันคุ้มครองโลก