เปิดตัวนวัตกรรมชุดPPEไทยทำเอง "รุ่นเราสู้"

เปิดตัวนวัตกรรมชุดPPEไทยทำเอง "รุ่นเราสู้"

สธ.ร่วมเอกชน เปิดตัวนวัตกรรม “ชุดPPE รุ่นเราสู้” ผลิตเองในประเทศ ใช้ซ้ำได้ 20 ครั้ง ผ่านอย.รับรองแล้ว ผลิตล็อตแรก 44,000 ชุดในเดือนพ.ค.นี้ ให้บุคลากรฯใช้ในระดับความเสี่ยงน้อย-ปานกลาง คาดช่วยประหยัดงบฯราว 1 หมื่นล้านบาท อเมริกาสั่งรอบแรก 500 ชุด

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 8 พฤษภาคม 2563 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) แถลงข่าวการพัฒนาชุด PPE แบบเสื้อคลุมแขนยาวกันน้ำชนิดใช้ซ้ำได้ (Reusable Isolation Gown ) รุ่นเราสู้ว่า มีการคาดการณ์ว่าจนกว่าสถานการณ์โควิด-19จะหยุดการระบาดจะต้องใช้ชุดPPEถึง 20 ล้านชุด ถ้าราคาชุดละ 500 บาท จะใช้งบประมาณถึง 1 หมื่นล้านบาท แต่ในภาวะการระบาดของโรคหากไม่ใช้ก็มีความจเป็นต้องหาซื้อ แต่เมื่อสามารถผลิตได้เองภายในประเทศก็สามารถประกยัดงบให้ประเทศได้จำนวนมากถือเป็นผลพลายได้ แต่ผลสำเร็จที่แท้จริงคือสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยให้กับบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขและประชาชน และชุดรุ่นเราสู้นี้ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในเรื่องมีความปลอดภัยแล้ว


นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า นวัตกรรม ชุด PPE รุ่นเราสู้ เป็นความร่วมมือจากทีม PPE รุ่นเราสู้ ของภาครัฐ และ 13 บริษัทเอกชน เป็นภารกิจของคนไทยที่จะร่วมกันสู้กับบุคลากรทางการแพทย์ในภาวะโควิด 19 ซึ่งเป็นชุด PPE แบบเสื้อคลุมแขนยาวกันน้ำชนิดใช้ซ้ำได้ (Reusable Isolation Gown ) ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยเหมาะสมสำหรับใช้งานทางการแพทย์ในระดับที่ 2 โดยมีการทดสอบใน 3 ส่วน ได้แก่ 1.ความทนแรงดันน้ำได้ 20 เซนติเมตรน้ำ 2.ตะเข็บการเย็บ และใช้ซ้ำได้กี่ครั้ง ซึ่งชุดนี้สามารถซักและใช้ซ้ำได้ไม่น้อยกว่า 20 ครั้ง จะเริ่มทยอยส่งมอบชุด PPE จำนวนกว่า 44,000 ชุด ให้องค์การเภสัชกรรมภายในเดือนพฤษภาคม 2563 เพื่อให้ศูนย์ปฏิบัติการกระจายเวชภัณฑ์ในภาวะโควิด 19 จัดสรรและกระจาย ให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ต่อไป ใช้งบประมาณ 22 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถใช้ทดแทน ชุด PPE ชนิดที่ใช้ครั้งเดียว ได้ถึง 880,000 ชุด/ครั้ง


“ชุดนี้ผ่านมาตรการฐานระดับ 2 ที่มีความปลอดภัยในการใช้งานในบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงน้อยและปานกลาง เช่น การใช้ในกรณีเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่ง และการคัดกรองผู้ป่วย เป็นต้น ซึ่งมีอัตราการใช้ 50 %ของการใช้ชุดPPEทั้งหมด และอีก 50 %เป็นการใช้ในความเสี่ยงสูงและสูงมาก เช่น การดูแลผู้ป่วยในห้องไอซียูเป็นเวลานานๆ ที่ถือเป็นความปลอดภัยในระดับที่ 4 จะต้องผ่านการทดสอบความปลอดภัยเพิ่มอีก 2 เรื่อง คือ การผ่านของไวรัสและเลือด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาต่อยอดเพื่อให้ถึงระดับ 4 คาดว่าภายในเดือนมิ.ย.นี้จะได้ต้นแบบชุดPPEในระดับ 4”นพ.โสภณกล่าว


นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ชุด PPE รุ่นเราสู้ ตัดเย็บเป็นชุด Isolation gown เป็นผ้าชิ้นเดียวไม่มีตะเข็บข้าง การเย็บเป็นลักษณะกุ๊น (Piping Seam) และด้ายที่ใช้เย็บเป็นลักษณะด้ายกันน้ำ ชุดกันน้ำได้ทั้งด้านหน้าและด้านหลังทั้งตัวเสื้อและตะเข็บ ตัดเย็บด้วยผ้าชนิดโพลีเอสเตอร์ (Polyester) 100% เคลือบสารที่มีคุณสมบัติทำให้ผ้ากันน้ำได้ เนื้อผ้าและตะเข็บต้องสามารถใช้ซ้ำ (Reuse) ได้อย่างน้อย 20 ครั้งทั้งนี้ กระบวนการซักชุด PPE จะต้องซักด้วยอุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส พร้อมใส่ผงซักฟอก และ Sodium hypochlorite 0.1% เพื่อฆ่าเชื้อ นาน 15 นาที แล้วอบแห้งด้วยอุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส นาน 60 นาที ที่สำคัญห้ามใส่น้ำยาปรับผ้านุ่มอย่างเด็ดขาด ซึ่งจะทำให้สารเคลือบกันน้ำยังคงคุณสมบัติได้ดี

ด้านนายสุพจน์ ชัยวิไล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยแทฟฟิต้า จำกัด ตัวแทนผู้จำหน่ายผ้าที่ใช้ตัดเย็บ กล่าวว่า ผ้าที่ใช้ในการตัดเย็บชุด PPE รุ่นเราสู้นี้ ผลิตจากเส้นใย ที่รีไซเคิล จากขวดน้ำชนิดขวด PET 100% และได้รับการรับรองมาตรฐานการรีไซเคิลระดับโลก (Global recycle standard) จาก คอนโทรล ยูเนี่ยน โดยชุด PPE รุ่นเราสู้ จำนวน 44,000 ชุด ผลิตมาจากขวดน้ำ PET (Polyethylene terephthalate) ขนาด 600 ซีซี จำนวนประมาณ 638,000 ขวด หรือ ประมาณ 14.5 ขวดต่อ PPE 1 ชุด โดยเป็นการนำเข้าเส้นใยจากประเทศไต้หวัน แต่การทอและกระบวนการอื่นๆทำในประเทศไทยทั้งหมด ซึ่งมูลค้าเส้นใยที่นำเข้ามาเกิน 15 %ของมูลค่าเสื้อทั้งหมดเท่านั้น แสดงว่ามีมูลค่าในประเทศถึง 85 %


นายสมคิด รัตนประภาพร นายกสมาคมอุตสาหกรรมเส้นใยประดิษฐ์ไทย กล่าวว่า เส้นใยที่รีไซเคิล (Recycle) นี้ ประเทศไทยเองสามารถผลิตเองได้แล้วมีผู้ผลิตหลายราย เช่น บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) กลุ่มบริษัทเทยินจำกัด บริษัทโทเรเท็กซ์ไทล์(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) แต่ยังมีปัญหาเรื่องการแยกขยะ จัดเก็บให้มีคุณภาพ ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้นำในอาเซียนที่สามารถผลิตเส้นใยที่มีคุณภาพระดับโลกและมีความหลากหลาย ทั้งผ้าโพลีเอสเตอร์ (Polyester) ผ้าเรยอน (Rayon) อะครีลิค (Acrylic)ไนล่อน (Nylon) จึงเห็นว่าถ้าประเทศไทยมีการคัดแยกขวด PET ใส่น้ำในการแยกขยะอย่างจริงจัง จะเป็นช่วยลดขยะ และสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง รวมทั้งการนำมาผลิตเป็นชุดPPE เพื่อบุคลากรทางการแพทย์ใส่ป้องเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี


นายพงษ์ศักดิ์ อัสกุล กรรรมการบริหารสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ของสมาคมฯมีความตั้งใจให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเส้นใยทางการแพทย์ของอาเซียน ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศที่แสดงความต้องการให้ประเทศไทยผลิตให้ เช่นสหรัฐอเมริกา ยุโรป ออสเตรีย เป็นต้น ล่าสุด สหรัฐฯ สั่งเข้ามา 500 ชุด อย่างไรก็ตาม การจะเป็นฮับด้านนี้ของอาเซียนได้นั้นอยากให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนอุปกรณ์ทดสอบประสิทธิภาพ เพื่อดูประสิทธิภาพอย่างครบวงจรให้มีภายในประเทศ


อนึ่ง ตรวจสอบที่ผลิตชุดPPE รุ่นเราสู้ ที่ได้รับการอนุญาตจากอย.สามารถตรวจสอบได้ทางเว็บไซต์อย. www.fda.moph.go.th เลือกตรวจสอบผลิตภัณฑ์ หรือตรวจสอบได้จากฉลากของผลิตภัณฑ์รุ่นเราสู้