ปลูก หรือ ฟื้นฟูป่า? I Green Pulse
หลังสถานการณ์ไฟป่าในปีนี้ที่นอกจากจะสร้างปัญหามลพิษทางอากาศ ฝุ่นควันขนาดเล็ก PM 2.5 อย่างรุนแรงแล้ว ยังสร้างเสียหายให้กับพื้นที่ป่าเป็นวงกว้าง
โดยจากการสำรวจของกรมป่าไม้ พบพื้นที่ที่ถูกไหม้โดยไฟป่าตั้งแต่ระดับที่เล็กน้อย ปานกลาง และรุนแรงถึงกว่า 17.38 ล้านไร่ ทั้งในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ โดยนับเป็นจำนวนเกือบครึ่งของพื้นที่ที่ถูกเผาไหม้ทั้งหมดของประเทศที่มีถึงราว 36 ล้านไร่ (18.7ล้านไร่เป็นพื้นที่เกษตรนอกเขตป่า)
โดยพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเกือบทั้งหมด คือราว 6.14ล้านไร่ (จาก 9.68ล้านไร่) อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ และในจำนวนพื้นที่เหล่านี้ เมื่อทำการสำรวจทางพื้นดินเพื่อตรวจซ้ำภาพถ่ายดาวเทียม พบว่า อย่างน้อย 49,000 ไร่ในขณะนี้ถูกระบุว่าเป็นพื้นที่ที่ถูกเผาไหม้รุนแรง ซึ่งในทางวิชาการของกรมป่าไม้จำเป็นต้องมีการ “ฟื้นฟู”
คำถามที่ตามมาจากภาคประชาชนคือ มีความจำเป็นต้องฟื้นฟูป่าหลังไฟป่ามากน้อยแค่ไหนอย่างไร และในพื้นที่ใดบ้าง สะท้อนถึงความโปร่งใสในการดำเนินการที่ยังเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ไฟป่าและความรุนแรง
ผู้อำนวยการส่วนควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ ดุลย์ฤทธิ์ ฤทัยอรุณรัตน์ อธิบายว่า ไฟป่าในประเทศไทย 80-90% เป็นไฟที่เกิดขึ้นในป่าผลัดใบ หรือในป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ซึ่งใบที่ผลัดมักสะสมเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ไฟป่าที่เกิดขึ้นถือเป็นไฟผิวดิน เมื่อเทียบกับที่อื่นๆ อาทิ ไฟป่าออสเตรเลียที่เป็นไฟเรือนยอด จึงนับว่าไม่รุนแรง และอาจมีประโยชน์กับป่าประเภทนี้ในแง่ของการเติบโตของไม้ที่มีลักษณะทั่วไปที่มีเปลือกหนา
แต่ป่าประเภทนี้ เป็นป่าที่มีการใช้ประโยชน์จากประชาชนในพื้นที่เช่นกัน จึงทำให้มีความเสี่ยงจากไฟป่าที่เกิดจากเจตนาใช้ประโยชน์ดังกล่าวสูง และเมื่อความต้องการใช้ประโยชน์ขยายไปถึงเรื่องการใช้ที่ดิน การเผาป่าเพื่อครอบครองที่ดิน มักจะเกิดขึ้นในป่าที่มีระดับความสูงที่สูงขึ้นไปด้วย ซึ่งมักเป็นป่าต้นน้ำ อาทิ ป่าดิบเขา หรือป่าดิบแล้งที่มีหน้าดินสมบูรณ์ และเมื่อไฟป่าเกิดขึ้นในป่าประเภทนี้ จะมีความรุนแรงกว่าไฟในป่าผลัดใบและมีความจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู แม้จะมีจำนวนไม่ถึง 1% โดยในปีนี้ ตัวเลขอยู่ที่ 49,000 ไร่นั่นเอง
จากข้อมูลของสำนักวิจัยและพัฒนา กรมป่าไม้ พบว่า ป่าที่ถูกเผาโดยไฟป่าที่มีระดับรุนแรงมาก สภาพไม้พื้นล่าง ไม้พุ่ม และไม้ยืนต้นจะถูกเผาไหม้ถึง 80-100% ของพื้นที่ ในขณะที่ไฟป่าระดับปานกลาง ไม้ยืนต้นก็ยังถูกเผากว่า 50% และในทางวิชาการ จำเป็นต้องมีการช่วยฟื้นฟูเพื่อให้ป่าคืนสภาพได้เร็วขึ้น
แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ กรมป่าไม้จึงเน้นการฟื้นฟูป่าจากไฟป่าเฉพาะพื้นที่ที่พบว่าถูกเผาไหม้อย่างรุนแรง
ผู้อำนวยการส่วนฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ สุจิน เรืองถาวรฤทธิ์ กล่าวว่า ในแต่ละปี ทางกรมป่าไม้จะตั้งงบประมาณในการฟื้นฟูป่าในพื้นที่เหล่านี้ นอกเหนือจากงานปลูกป่าในพื้นที่ตามพันธกิจอื่น อาทิ คทช. โดยงบในแต่ละปี จะถูกตั้งย้อนหลัง 2 ปี หมายความว่า งบประมาณสำหรับการฟื้นฟูป่าที่ถูกไหม้รุนแรงในปีนี้จะได้รับในปี 2565 โดยได้รับเพียงราวไร่ละ 10,900 บาท สำหรับการปลูกต้นไม้ในปีแรกและการดูแลต่อไปอีก 9 ปี จนป่าเร่ิมฟื้นตัวมีความสภาพป่าพอที่จะส่งมอบให้สำนักฯ ไฟป่าดูแลรับผิดชอบต่อไป
ทั้งนี้ ในการเข้าไปฟื้นฟูป่าดังกล่าว จำเป็นต้องผ่านกระบวนการประชุมในระดับพื้นที่ และต้องได้รับความตกลงจากประชาชนในพื้นที่ตามกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทำให้การฟื้นฟูป่าในพื้นที่ไฟไหม้ไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว และทำให้งานฟื้นฟูป่ามีข้อจำกัดเพียงในพื้นที่ที่ไฟไหม้ในระดับที่รุนแรงเท่านั้น
“จริงๆ พื้นที่ที่เสียหายระดับปานกลาง มันก็ควรต้องได้รับการช่วยฟื้นฟูเหมือนกัน อย่างถ้าเราปล่อยตามธรรมชาติก็อาจใช้เวลาเป็น 20 หรือ 30 ปี แต่ถ้าเราช่วยปลูกเสริมบ้าง ก็อาจลดเวลาที่ป่าจะฟื้นตัวได้ในเวลาเพียง 10 ปี เป็นต้น” ผู้อำนวยการส่วนวนวัฒนวิจัย สุทัศน์ เล้าสกุล กล่าว
ด้วยเหตุดังกล่าว พื้นที่ราว 6 ล้านไร่ที่ถูกระบุว่ามีความเสียหายปานกลางถึงเล็กน้อยในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ จะให้มีการฟื้นฟูตามธรรมชาติเป็นหลัก โฆษกกรมป่าไม้ นันทนา บุณยานันต์ กล่าว
ความร่วมมือ
นอกจากการแก้ไขฟื้นฟูความเสียหายในพื้นที่ที่เกิดขึ้นจากไฟป่า หน่วยงานมักประสบกับปัญหาที่ทับซ้อนคือความต้องการครอบครองที่ดินของประชาชนหลังการเผา การฟื้นฟูป่า เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยรักษาที่ดินในป่าให้ยังคงเป็นป่าไม้ของรัฐ ซึ่งมีความท้าทาย โดยเฉพาะประเด็นความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ นอกเหนือจากข้อจำกัดด้านงบประมาณดังกล่าว
ในปีนี้ อธิบดีกรมป่าไม้ได้มีแนวทางการทำงานที่ต้องการให้มีส่วนร่วมกับประชาชนมากขึ้น จึงสั่งการให้มีการฟื้นฟูป่าผ่านโครงการ ประชาอาสา โดยไม่ต้องรองบประมาณปกติ และให้ทางส่วนควบคุมไฟป่าขอความร่วมมือจากเครือข่ายที่คอยเฝ้าระวังไฟป่ากว่า 600 เครือข่ายเป็นแกนหลักในการดำเนินการ
“มักกลับมาแก้ที่ปัญหา คือ ไฟป่า เกือบ 100% เกิดจากคน ในระยะยาว เราต้องมาแก้ที่คน ทำยังไงให้อยู่กับป่าได้โดยไม่สร้างความเสียหาย ส้รางป่าสร้างรายได้ อยู่กับป่าได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไป” ผอ.ดุลย์ฤทธิ์กล่าว
บัณรส บัวคลี่ ผู้ประสานงาน สภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า ภาคประชาชนเห็นด้วยในหลักการที่ป่าที่ได้รับความเสียหายสูง อาจจำเป็นที่จะต้องได้รับการฟื้นฟู
อย่างไรก็ตาม คำถามที่มักจะเกิดกับการดำเนินการด้านนี้คือ ความโปร่งใสในการทำงาน ตั้งแต่เรื่องเทคนิคและเทคโนโลยีในการสำรวจข้อมูลที่ช่วยในการระบุพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นที่จะต้องทำให้มีความชัดเจนและโปร่งใส
“ที่ว่าจะปลูก มันที่ไหนบ้างล่ะ เพราะป่าที่ว่าถูกเผา ป่าเต็งรังที่ฟื้นตัวได้ก็เยอะหรือพื้นที่ไร่ของชาวบ้านก็มี ทางราชการที่ดูแลเรื่องนี้ต้องทำให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดคำถามและเกิดปัญหาความขัดแย้งตามมา” บัณรสกล่าว