‘วัคซีน’ ต้าน ‘โคโรนาไวรัส’ คืบหน้า ไทยอาจใช้ในคนปลายปีนี้
คาดผลิด “วัคซีน” ต้าน “โคโรนาไวรัส” ได้ใช้เร็วสุดปลายปี 2564 หลัง จุฬาฯ ทดลองในลิงก่อนขยายผลสู่คนปลายปีนี้ กับอาสาสมัครราว 5,000 คน
เรื่องของ วัคซีน รักษา โคโรนาไวรัส หรือโควิด-19 ได้กลายเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกจับตา หลังจากที่ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เผยถึง การพัฒนาวัคซีนในประเทศไทย โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ร่วมมือกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำไปสู่ การริเริ่มพัฒนาวัคซีนต้นแบบขึ้น 6 ส่วน คือ
- จุฬาลงกรณ์ ไบโอเนท เอเชีย และ(สวทช.)
- จุฬาลงกรณ์ และสวทช.
- มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์ และสวทช.
- มหาวิทยาลัยมหิดล(ศิริราช) และสวทช.
- มหาวิทยาลัยมหิดล
- สวทช.
ทั้งหมดที่กำลังพัฒนาวัคซีนดังกล่าวนั้น อยู่ในทิศทางเดียวกับการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก โดยขณะนี้ มีความก้าวหน้าในการวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบ โคโรนาไวรัส 2 ตัว เริ่มทดลองในสัตว์ทดลองอย่าง หนู และลิงแล้ว คือ DNA vaccine และ mRNA vaccine
อย่างไรก็ตาม วัคซีนทั้ง 2 ตัว จะต้องมีขั้นตอนทดสอบในสัตว์ทดลองให้ได้ผลเป็นที่พอใจ ผ่านเงื่อนไขทั้งในแง่ความปลอดภัย และกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สัตว์ทดลองก่อน ถึงจะนำมาเริ่มทดสอบในคน
สำหรับการทดสอบวัคซีนรักษาโคโรนาไวรัสในคนนั้น จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
- ระยะที่ 1 ความปลอดภัย ทดสอบในอาสาสมัคร 30-50 คน
- ระยะที่ 2 การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทดสอบในอาสาสมัคร250-500 คน
- ระยะที่ 3 ให้ผลในการป้องกันโรค ทดสอบในอาสาสมัครมากกว่า 1,000 คน
การทดลองในคนของระดับนานาชาตินั้น มีวัคซีนทั้งหมด 10 ชนิด แยกเป็นในประเทศจีน 5 ชนิด สหรัฐอเมริกา 2 ชนิด อังกฤษ เยอรมัน และออสเตรเลีย ประเทศละ 1 ชนิด ขณะเดียวกันมีวัคซีนในสัตว์ทดลองอีก 114 ชนิด ซึ่งรวมของประเทศไทยด้วย
“การวิจัยนั้น ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ อีก 12-18 เดือนข้างหน้าก็น่าจะมีวัคซีนโควิด-19 ออกมา ในส่วนของประเทศไทยเอง น่าจะเริ่มทดสอบวัคซีนในคนปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564 และจะมีวัคซีนใช้ในปลายปี 2564” นพ.นครประเมิน
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้รายละเอียดถึง การดำเนินการคู่ขนานในการจองโรงงานขนาดเล็กในต่างประเทศ เพื่อผลิตวัคซีนรักษาโคโรนาไวรัส เนื่องจาก mRNA เป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มาก ทั่วโลกน่าจะมีโรงงานประมาณ 7 แห่งเท่านั้น
ประเทศไทยจะผลิตเริ่มต้นประมาณ 1 หมื่นโด๊สเพื่อใช้ในการทดลองในคนที่เป็นอาสาสมัคร หากผลการทดลองในลิงได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งจะฉีดให้คนละ 2 เข็ม ก็จะใช้อาสาสมัคร 5,000 คน แบ่งเป็นการทดลองในคน 3 ระยะ คาดว่าจะเริ่มในช่วงปลายปี 2563 รวมถึง มีการเตรียมความพร้อมโรงงานในประเทศไทยที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศด้วย
“อย่าเสนอว่าประเทศไทยมีวัคซีนแล้วในสิ้นปีนี้ เพราะต้องทดสอบดูความปลอดภัยและประสิทธิภาพก่อน เชื่อว่าหากแต่ละขั้นตอนของการวิจัยผ่านไปได้ด้วยดีเป็นไปตามแผน ประเทศไทยน่าจะมีความพร้อมในการผลิตวัคซีนในอีกประมาณ 1 ปีครึ่ง” ศ.นพ.เกียรติย้ำ