พันธมิตรฯ แม่น้ำโขง จี้รัฐบาลลุ่มน้ำโขงยกเลิกเขื่อนสานะคาม เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทางเลือก
ชี้ เขื่อนสานะคามแห่งที่ 6 บนลุ่มน้ำโขง เกินจำเป็น มีความเสี่ยง
พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง (Save the Mekong) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลลุ่มน้ำโขงและคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ยกเลิกการผลักดันการก่อสร้างเขื่อนสานะคาม ซึ่งจะเป็นโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแห่งที่ 6 บนแม่น้ำโขงตอนล่าง ต่อจากโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ซึ่งถูกผลักดันการก่อสร้างและใกล้จะผ่านกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) ตามข้อกำหนดของ MRC ในเดือนนี้
เขื่อนสานะคาม เป็นโครงการที่จะถูกพัฒนาโดยบริษัท ต้าถัง (ลาว) สานะคาม ไฮโดรพาวเวอร์ (Datang (Lao) Sanakham Hydropower Co. Ltd) มีมูลค่าการก่อสร้างอยู่ที่ประมาณ 2,073 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (6.6 หมื่นล้านบาท)
โดยจะเป็นโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 684 เมกะวัตต์ แบบน้ำไหลผ่าน (run-of-river) ซึ่งจุดสร้างเขื่อนตั้งอยู่ระหว่างแขวงไซยะบุรีและนครหลวงเวียงจันทน์ ที่เมืองสานะคาม ห่างจากชายแดนไทย-ลาว ที่จังหวัดเลยเพียง 2 กิโลเมตร และห่างจากทะเล 1,737 กิโลเมตร
ทางบริษัท กำหนดเวลาก่อสร้างในปีนี้ และจะเสร็จในอีก 8 ปีข้างหน้า และคณะทำงานของ JC ของ MRC จะมีการประชุมเพื่อกำหนดวันเริ่มต้นกระบวนการฯ สำหรับเขื่อนสานะคามอย่างเป็นทางการในวันที่ 16 มิถุนายนนี้ ท่ามกลางเสียคัดค้านของภาคประชาสังคมลุ่มน้ำโขง
ทางกลุ่ม ซึ่งเป็นการรวมตัวของภาคประชาสัมคมของประชาชนจาก 4 ประเทศลุ่มน้ำโขง ระบุว่า เขื่อนสานะคามไม่ควรจะถูกสร้าง เพราะมีมูลค่าการก่อสร้างสูง ไม่มีความจำเป็น และมีความเสี่ยง
หากเฉลี่ยเวลาในก่อสร้างแล้ว เขื่อนจะติดตั้งพลังงานได้เพียง 90 เมกะวัตต์ต่อปีเท่านั้น และเมื่อเทียบกับการติดตั้งพลังงานทางเลือกอื่นในภูมิภาค เช่น การติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนามที่มีกำลังติดตั้งมากถึง 4,400 เมกะวัตต์ จะพบว่า พลังงานทางเลือกดังกล่าวมีกำลังการผลิตติดตั้งมากกว่าเขื่อนสานะคามถึง 6 เท่า
ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีและการลงทุนด้านพลังงานเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่เขื่อนไฟฟ้าขนาดใหญ่อย่างเขื่อนสานะคามกลับมีความเสี่ยงมากขึ้น เงินลงทุนที่สูงและระยะเวลาก่อสร้างยาวนาน และจะกลายเป็นทรัพย์สินที่สร้างภาระ
ประเทศไทยเองซึ่งจะรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อน กำลังมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ล้นเกินโดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเนื่องจากการระบาดของโรคโควิท-19 ทางกลุ่มระบุ โดยกระทรวงพลังงานของไทยระบุว่า ในปี 2563 เจะมีพลังงานสำรองที่อาจสูงมากถึง 40 % หรือประมาณ 18,000 เมกะวัตต์ ซึ่งมากกว่ากำลังการผลิตของเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลักทุกแห่งรวมกัน ขณะที่ในเดือนมีนาคม กัมพูชาได้ประกาศเลื่อนการสร้างเขื่อนซำบอและสตรึงเตร็งออกไปอีก 10 ปี
ความเสี่ยงที่สำคัญอีกประการคือ ระยะทางที่ใกล้กับชายแดนไทย กล่าวคือ เขื่อนสานะคามจะสร้างกั้นแม่น้ำโขงสายห่างจากชายแดนไทยไปเพียง 2 กิโลเมตร แต่กลับไม่มีการพิจารณาเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนอย่างจริงจัง
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการสร้างเขื่อนที่กั้นแม่น้ำโขงในตอนบน ซึ่งจะทำให้การไหลและระดับน้ำไม่สามารถคาดการณ์ได้อันส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของเขื่อนสานะคามและเขื่อนอื่นๆบนแม่น้ำโขงสายหลัก
“เนื้อหาส่วนใหญ่ในรายงานการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมและผลกระทบสะสม เป็นข้อมูลที่ล้าสมัยและมาจากรายงานผลกระทบข้ามพรมแดนของเขื่อนปากลาย เช่น หัวข้อการมีส่วนร่วมของสาธารณะ บทสรุป และข้อเสนอแนะ ซึ่งพบว่า เป็นเนื้อหาเดียวกับรายงานของเขื่อนปากลาย ต่างกันเพียงแค่ชื่อโครงการเท่านั้น
“รายงานผลกระทบข้ามพรมแดนฯ ดังกล่าวยังไม่มีการอ้างอิงรายงานการศึกษาต่างๆเกี่ยวกับผลกระทบของเขื่อนไฟฟ้าต่อแม่น้ำโขงสายหลักที่มีการศึกษาและเผยแพร่มาอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มันจึงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้สำหรับโครงการนี้ที่จะส่งผลกระทบข้ามพรมแดนต่อประชาชนหลายล้านคนที่พึ่งพาแม่น้ำโขง” ทางกลุ่มระบุ
พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง จึงขอเรียกร้องให้ยกเลิกเขื่อนสานะคามและเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลักอื่นที่มีแผนจะสร้าง แทนที่จะมีการนำโครงการนี้เข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือที่บกพร่องนี้
ทางกลุ่มยังขอเรียกรอ้งให้รัฐบาลลุ่มน้ำโขงและ MRC จัดการปัญหาตามข้อกังวลหลักต่อเขื่อนที่สร้างไปแล้ว และตามข้อกังวลหลักต่อกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า
นอกจากนี้ รัฐบาลฯ ควรประเมินทางเลือกด้านพลังงานอย่างรอบด้านและโดยการมีส่วนร่วม จัดลำดับความสำคัญของการเดินหน้าเพื่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในภูมิภาค ที่คำนึงถึงระบบนิเวศของแม่น้ำโขงและความต้องการของชุมชนในภูมิภาค ทางกลุ่มระบุ
“ถึงเวลาแล้วที่ต้องยกเลิกการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงอย่างถาวร และให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและเท่าเทียมกันด้านพลังงานทางเลือกที่เคารพสิทธิของชุมชน ภูมิภาคแม่น้ำโขงมีศักยภาพและความยั่งยืนด้านพลังงานทางเลือกสูงมาก ประกอบกับต้นทุนและการผลิตที่ลดลง เทคโนโลยีด้านการกักเก็บและการส่งผ่านพลังงานที่พัฒนาขึ้น ยิ่งทำให้ต้องตะหนักถึงการเข้าถึงพลังงานและความมั่นคงของประชาชนและเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยไม่ต้องทำลายแม่น้ำและทรัพยากรธรรมชาติ
“มากกว่านั้น มาตรการประหยัดพลังงานและพลังงานทางเลือกยังสามารถเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง รวดเร็ว และมีต้นทุนถูกกว่าเขื่อนไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่รวมศูนย์อำนาจ” กลุ่มพันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขงระบุ
ภาพ/ แก่งคุดคู้ จ. เลย ใต้โครงการเพียงไม่กี่กิโลเมตร/ Save the Mekong