ETO Watch ส่งจดหมายถึง UN เรียกร้องชุมชนมีส่วนร่วมโครงการพัฒนา
เครือข่ายติดตามการลงทุนไทยและความรับผิดชอบข้ามพรมแดน (ETO Watch) เสนอการจัดทำ ความตกลงหรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับพันธกรณีข้ามพรมแดน เพื่อสร้างพันธกรณีต่อธุรกิจข้ามพรมแดน
เครือข่ายติดตามการลงทุนไทยและความรับผิดชอบข้ามพรมแดน (ETO Watch) ได้ส่งจดหมายเปิดผนึงถึงคณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNWG) และองค์กรที่เกี่ยวข้องในอาทิตย์นี้ ในระหว่างที่มีการประชุมสหประชาชาติผ่านอินเทอร์เน็ตเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน: ปัญหาท้าทายใหม่ แนวทางการดำเนินงานใหม่ เอเชียและแปซิฟิก ในวันที่ 9-11 มิ.ย. เพื่ออภิปรายถึงปัญหาท้าทายและโอกาสในการสนับสนุนให้เกิดธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่รับผิดชอบในภูมิภาค
โดยเครือข่ายฯ กล่าวว่า ในนามของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ETO Watch ขอส่งจดหมายนี้ถึงคณะทำงาน UNWG ว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน และผู้จัดงาน เพื่อเรียกร้องการมีส่วนร่วมมากขึ้นของชุมชนชายขอบที่เสี่ยงภัย และขอกระตุ้นให้มีความใส่ใจเป็นพิเศษต่อพันธกรณีข้ามพรมแดนของนักลงทุน รวมทั้งนักลงทุนไทยในต่างแดน และการปฏิบัติตามหลักพันธกรณีของพวกเขา
เครือข่ายฯ กล่าวว่า เคยได้ยื่นเรื่องร้องเรียนหลายประการ ในนามของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการลงทุนของไทยในต่างแดน รวมทั้งกรณีของโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โครงการสร้างถนนเชื่อมจากทวาย เหมืองถ่านหินบานชองในเมียนมา เขื่อนไซยะบุรีในสปป.ลาว และการปลูกอ้อยในกัมพูชา และเครือข่ายฯ เองก็เคยได้เข้าร่วมประชุมในเวทีธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติหลายครั้ง และสะท้อนความเห็นของชุมชนที่ได้รับผลกระทบทั้งจากเมียนมา กัมพูชา และสปป.ลาว เกี่ยวกับการดำเนินงานด้านธุรกิจของนักลงทุนไทยในต่างแดน
และที่สำคัญ เครือข่ายฯ ได้เรียกร้องการมีส่วนร่วมมากขึ้นของชุมชนชายขอบเพื่อให้เข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการชดเชยและการเยียวยาอย่างเป็นธรรมและยุติธรรม
เครือข่ายฯ ยังเข้าร่วมจัดทำร่างแผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของไทย (NAP) และให้ความเห็นอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะในหัวข้อปัญหาเร่งด่วนที่ 4 ว่าด้วยการลงทุนข้ามพรมแดนและหน่วยงานข้ามชาติ ทั้งนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (แผน NAP) โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ระยะที่ 1 ช่วงระหว่างปี 2562-2565 เพื่อดูแลแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ อันเป็นประเด็นที่ซับซ้อน
แผน NAP จึงมุ่งเน้น 4 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านแรงงาน (2) ด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (3) ด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และ (4) ด้านการลงทุนระหว่างประเทศ และบรรษัทข้ามชาติ เป็นหลัก
อย่างไรก็ดี ETO Watch เห็นว่า ความคืบหน้าในการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการนี้เป็นไปอย่างเชื่องช้า และไม่มีระบบตรวจสอบการดำเนินงานตามแผนอย่างเป็นองค์รวมและมีส่วนร่วม
ส.รัตนมณี พลกล้า ตัวแทนคณะทำงานฯ กล่าวว่า แผนปฏิบัติการดังกล่าว ยังเป็นลักษณะการสมัครใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและธุรกิจจึงยังไม่แน่ใจจะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะที่ผ่านมา ภาคธุรกิจยังใช้กระบวน SLAPPด้วยการฟ้องร้องคดีกับชุมชนและนักปกป้องสิทธิมากกว่า 20 คดี ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่
เครือข่ายฯ ยังเห็นว่าการคุ้มครองสิทธิกับการทำธุรกิจที่ผ่านมา ไม่ได้คำนึงถึงการปกป้องสิทธิของประชาชนที่แท้จริง สุดท้าย กระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ยังเป็นกุญแจสำคัญที่จะผลักดันให้แผนปฏิบัติการว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนให้เกิดการคุ้มครองและเคารพต่อสิทธิมนุษยชนได้แท้จริง
ETO Watch จึงขอเรียกร้องให้มีการปฏิบัติตามแผนนี้อย่างเข้มแข็ง และให้กำหนดระบบตรวจสอบอย่างจริงจัง เพื่อติดตามว่านักลงทุนได้ปฏิบัติตามหลักการด้านสิทธิมนุษยชนและการตรวจสอบอย่างเหมาะสมหรือไม่ โดยกำหนดให้มีการมีส่วนร่วมและระบบตรวจสอบซึ่งองค์กรภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ และชุมชนที่ได้รับผลกระทบมีบทบาทด้วย
และ ETO Watch ขอเรียกร้องให้มีการสนับสนุนการฟ้องคดีแบบกลุ่มและการฟ้องคดีข้ามพรมแดน เพื่อเป็นกลไกที่จะเข้าถึงการเยียวยาอย่างเป็นผล โดยศาลควรปฏิบัติตามความเห็นทั่วไปฉบับที่ 24 ของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ซึ่งกำหนดให้รัฐภาคีต้องขจัดอุปสรรคต่อการเข้าถึงการเยียวยาใด ๆ ทั้งในทางสาระบัญญัติ ขั้นตอนปฏิบัติ และในเชิงปฏิบัติ
หน่วยงานธุรกิจและนักลงทุนมีหน้าที่ให้การชดเชยต่อชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และสนับสนุนให้ชุมชนได้รับค่าชดเชยและการเยียวยาที่จำเป็น ตลอดทั้งกระบวนการเยียวยา
ETO Watch ขอเรียกร้องบริษัทให้สนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และการปรึกษาหารือกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการมากขึ้น นักลงทุนควรทำการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน ก่อนจะตัดสินใจดำเนินโครงการใด ๆ
นอกจากนั้น ภาคธุรกิจต้องจัดทำกลไกรับข้อร้องทุกข์ในระดับบริษัท เพื่อให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ สามารถแสดงข้อกังวล และเพื่อสนับสนุนให้พวกเขามีส่วนร่วมในกลไกรับข้อร้องทุกข์จากภายนอกหรือที่ได้รับการผลักดันจากชุมชน
ประการสุดท้าย จำเป็นต้องมีการจัดทำ ความตกลงหรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับพันธกรณีข้ามพรมแดน ซึ่งเป็นประเด็นที่ขาดหายไปในหลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน
ETO Watch ขอเรียกร้องให้มีการยอมรับมาตรฐานที่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายมากขึ้น รวมทั้งการปฏิบัติตามพันธกรณีข้ามพรมแดนของภาคธุรกิจ โดยควรมีข้อกำหนดให้ต้องตรวจสอบตามพันธกรณีข้ามพรมแดน รวมทั้งความรับผิดเมื่อเกิดการละเมิดจากการตรวจสอบที่เหมาะสม
“เราหวังว่าจะได้ร่วมมือกับรัฐบาลไทยและรัฐบาลอื่น ๆ รวมทั้งหน่วยงานแห่งสหประชาชาติ เพื่อประกันให้พันธกรณีข้ามพรมแดนเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจและสิทธิมนุษยชนตลอดทั้งภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” เครือข่ายฯ ระบุ
(ภาพ/ ETO Watch)