พม.ตอบชัด 'กลุ่มเปราะบาง' ที่ลงทะเบียนหลัง 31 พ.ค. หมดสิทธิ์รับเงินเยียวยา 3,000 บาท

พม.ตอบชัด 'กลุ่มเปราะบาง' ที่ลงทะเบียนหลัง 31 พ.ค. หมดสิทธิ์รับเงินเยียวยา 3,000 บาท

พม.ชี้แจง ผู้ลงทะเบียนกลุ่มเปราะบางหลัง 31 พ.ค. 63 ทั้งสามกลุ่ม คือ "เด็กแรกเกิด" "ผู้สูงอายุ" และ "ผู้พิการ" ไม่มีสิทธิ์รับเงินเยียวยา 3,000 บาท เพราะไม่สามารถรอได้แล้ว

หลังจากมติ ครม.ไฟเขียว อนุมัติการจ่ายเงินเยียวยา "กลุ่มเปราะบาง" ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มเด็กแรกเกิด (0-6 ขวบ) "กลุ่มผู้พิการ" และ "กลุ่มผู้สูงอายุ" ที่ไม่ได้รับการเยียวยาอื่นๆ จากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นเงินเยียวยาเราไม่ทิ้งกัน, เงินเยียวยาเกษตรกร และเงินเยียวยาผู้ประกันตนจากประกันสังคม ก็จะได้รับสิทธิ์รับเงินเยียวยา 1,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน (พฤษภาคม-กรกฎาคม)

แต่คำถามที่ยังคาใจกันอยู่ คือ "จะได้รับเงินเมื่อไร" และ "ใครจะได้รับเงินบ้าง" ซึ่ง นางพัชรี อาระยะกุล รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้แถลงข่าวในประเด็นการจ่ายเงินตามมาตรการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ว่า เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 เกี่ยวกับรายละเอียดในมาตรการดังกล่าวว่า ครอบคลุมการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง จำนวนรวมทั้งสิ้น 6,781,881 ราย ซึ่งประกอบด้วย 3 กลุ่ม ดังนี้

1) เด็กที่ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด (อายุ 0-6 ขวบ)  จำนวน 1,394,756 ราย
2) ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ  จำนวน 4,056,596 ราย
3) คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ  จำนวน 1,330,529 ราย

โดยทั้ง 3 กลุ่ม "ต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยได้รับสิทธิการช่วยเหลือเยียวยา" จากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงแรงงาน (สำนักงานประกันสังคม) โดยส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยและอยู่ในครอบครัวที่ประสบภาวะทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะว่างงานของสมาชิกครอบครัวที่เป็นกำลังแรงงาน

159245936268

"เราจะดูข้อมูลการรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด เบี้ยยังชีพคนพิการ และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ครั้งสุดท้ายที่ท่านรับ เมื่อ 31 พ.ค.63 เท่านั้น นั่นหมายความว่า ท่านที่เคยได้รับทั้ง 3 เบี้ยฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ก็จะได้รับเงินเยียวยานี้ด้วย"

โดย รองปลัด พม. ได้ย้ำถึงการรับสิทธิ์ว่า จะต้องเป็น "1 คน 1 สิทธิ์" คือ จะต้องไม่ได้รับเงินจากกระทรวงการคลัง จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือได้รับเงินประกันสังคมจากกระทรวงแรงงานมาก่อน จึงจะเป็นผู้ได้รับสิทธิ์เงินเยียวยา 3 พันบาทจาก พม. โดยไม่ต้องลงทะเบียนเพิ่มเติม

"ท่านไม่ต้องลงทะเบียนใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเรามีรายชื่อของท่านอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น อย่าไปถูกหลอกว่า ต้องลงทะเบียน เพราะท่านจะเสียเงินเปล่า" นางพัชรีกล่าวเตือน

ส่วนคำถามว่า "จะได้เมื่อไร" นั้น 

ปลัด พม. ชี้แจงว่า เนื่องจากจำนวนคนที่จะได้รับเงินมีจำนวนมาก จึงอาจมีบางท่านที่จะ "ไม่ได้รับเงิน" เพราะเพิ่งลงทะเบียนของการรับเบี้ยยังชีพทั้งสามกลุ่ม ภายหลังจากวันที่ 31 พ.ค. 63

"เหตุผลที่เราไม่สามารถรอได้ ไม่เช่นนั้น คนส่วนใหญ่ก็จะไม่ได้รับเงินเยียวยาเลย จึงเป็นที่มาว่า เราจำเป็นต้องใช้ข้อมูล ณ วันที่ 31 พ.ค. 63 เป็นหลักก่อนในการช่วยเหลือเยียวยาคนกลุ่มนี้" ปลัด พม. กล่าว

 

สำหรับการจ่ายเงินนั้น นางพัชรี ได้อธิบายถึงขั้นตอนว่า จะทำการยืนยันในรายละเอียดอีกครั้งเพราะจะต้องตรวจสอบความซ้ำซ้อนในการรับสิทธิ์ก่อน โดยหากเริ่มจ่ายได้ทันในเดือนมิถุนายน ก็จะเป็นการจ่าย 2 รอบ รวมทั้งหมดจำนวน 3,000 บาทต่อราย แบ่งเป็น การจ่ายงินรอบแรกในเดือนมิถุนายน 2563 จำนวน 2,000 บาท (ของเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน) และ จ่ายรอบที่สองในเดือนกรกฎาคม 2563 จำนวน 1,000 บาท

แต่หากไม่สามารถทำเรื่องจ่ายได้ทันเดือน มิ.ย. 63 ก็จะไปจ่ายทั้งหมด 3,000 บาท ในเดือนกรกฎาคมรวดเดียว

ส่วนช่องทางการจ่ายเงิน แบ่งเป็น 2 ช่องทาง ได้แก่

1) กรมบัญชีกลางโอนเงินช่วยเหลือเยียวยาโดยตรงไปยังบัญชีธนาคารของกลุ่มเป้าหมายที่เคยได้รับเงินอุดหนุนรายเดือนผ่านบัญชีธนาคารอยู่เดิม

2) กรมบัญชีกลางโอนเงินไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะนำจ่ายเป็นเงินสดให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่รับเงินอุดหนุนรายเดือนเป็นเงินสดอยู่เดิม

นางพัชรี กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีหากเกิดปัญหาในการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยา กระทรวง พม. จะดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล เพื่อให้หน่วยงานในพื้นที่สามารถจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาให้ถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างรวดเร็วที่สุด ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามไปยังสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัด หรือศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 บริการฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง