ลมหายใจสุดท้าย‘สกาลา’ โรงหนังสแตนด์อโลนแห่งสุดท้ายในกรุงเทพฯ

ลมหายใจสุดท้าย‘สกาลา’  โรงหนังสแตนด์อโลนแห่งสุดท้ายในกรุงเทพฯ

ยุคสมัยเปลี่ยน โรงหนังล้มหายตายจาก ล่าสุด“สกาลา” โรงหนังสแตนด์อโลนแห่งสุดท้ายในกรุงเทพฯ ปิดตัววันที่ 5 กรกฎาคม 2563 ใครคิดถึงวันเก่าๆ ที่เคยเดินเข้าโรงหนัง ลองอ่านเรื่องนี้สิ

หลังวันที่ 5 กรกฎาคม ปีพ.ศ. 2563 สกาลา โรงหนังสแตนด์อโลนแห่งสุดท้ายในกรุงเทพฯ จะปิดตัวลงอย่างเป็นทางการ สำหรับคนที่อยากเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึก ตั้งแต่วันที่ 3-5 กรกฎาคม 2563 ทางโรงภาพยนตร์จะเปิดไฟทุกดวง และหอภาพยนตร์ จะจัดฉายหนังอำลาโรงภาพยนตร์ วันที่ 4-5 กรกฎาคมพ.ศ. 2563

หลังจากนั้นจะเหลือแค่ความทรงจำ...

โรงหนังสแตนด์อโลนแห่งสุดท้าย

ว่ากันว่า โรงหนังสแตนด์อโลนในเมืองไทยเคยมีประมาณ 700 แห่ง ปัจจุบันเหลือไม่กี่แห่ง และไม่ทราบแน่ชัดว่าเหลือจำนวนเท่าไร แต่ที่แน่ๆ คือ สกาลา เป็นโรงหนังสแตนด์อโลนแห่งสุดท้ายในกรุงเทพฯ 

ฟิลลิป แจ็บลอน (Philip Jablon) เจ้าของเพจ The Southeast Asia Movie Theater Project เคยตระเวนเก็บภาพโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนมาเกือบสามร้อยแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บอกไว้ว่า ถ้าพูดถึงความสวยงาม สกาลายังเป็นอันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“โรงใหญ่ สภาพดี สถาปัตยกรรมสวยงามน่าชื่นชม ทุกคนที่มาที่นี่เขาก็คงคิดเหมือนกัน ไม่เคยได้ยินคนบอกว่าไม่ชอบ ทุกคนรักสกาลา ชาวต่างชาติทุกคนที่ผมพามาที่นี่เขาร้อง ว้าว แล้วบอกว่าสวยมาก ชอบมาก มีคนอเมริกันเจอที่นี่แล้วเขาบอกผมว่า นี่เป็นสถานที่ที่เขาชอบมากที่สุดในกรุงเทพฯ ถ้าวันหนึ่งสกาลาถูกทุบทิ้ง พม่าจะมีโรงหนังสแตนด์อโลนที่สวยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (ข้อมูลจากเรือนไทย.วิชาการ.คอม)

โรงหนังที่เคยเป็นจุดนัดพบ เพื่อความบันเทิงในการดูหนัง กำลังจะกลายเป็นตำนาน สิ่งที่เคยเห็น สิ่งที่เคยมี ก็จะไม่มีแล้ว...ตั้งแต่พนักงานเดินตั๋วที่แต่งกายไม่เหมือนโรงหนังทั่วไป ตั๋วหนังที่ปั๊มวันที่ด้วยหมึก ตารางที่นั่งบนแผ่นกระดาษ ฯลฯ 

สกาลา เคยได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2555 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เนื่องจากออกแบบได้งดงามด้วยศิลปะตกแต่ง หรือ อาร์ตเดโค ( Art Deco) ซึ่งเป็นที่นิยมช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ช่วงต่อระหว่างยุคสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ตอนปลายและตอนต้นของสถาปัตยกรรมหลังสมัยใหม่ ซึ่งตอนนั้นเป็นที่นิยมในอเมริกาและยุโรป 

โรงหนังสแตนด์อโลนแห่งนี้ โดดเด่นด้วยโคมฟ้าระย้าทรงหยดนํ้าค้างแข็ง 5 ชั้นขนาดยักษ์จากอิตาลี ด้านในมีเสาคอนกรีตโค้ง ประติมากรรมฝาผนัง ออกแบบโดยสถาปนิกไทยคือ จิระ ศิลป์กนก ก่อสร้างปี พ.ศ. 2511 โดยโรงภาพยนตร์แห่งนี้ตั้งชื่อตามโรงอุปรากร Teatro alla Scala เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี 

ตอนที่ สกาลา ก่อสร้างแล้วเสร็จ เปิดให้บริการเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2512 โดยจดทะเบียนธุรกิจในนาม ‘สยามมหรสพ’ ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของนันทา ตันสัจจา ผู้บริหารสวนนงนุช ตอนเปิดตัวครั้งแรกฉายภาพยนตร์เรื่อง The Undefeated ‘สองสิงห์ตะลุยสิบทิศ’

159348953050

ย้อนรำลึกถึง สกาลา

หากให้ย้อนรำลึกถึง สกาลา จะนึกถึงเรื่องใดมากที่สุด

วณี เทียมศรีรัชนีกร ฝ่ายบัญชีการเงิน บริษัทสยามมหรสพ จำกัด เธอทำงานโรงหนังแห่งนี้ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างจนถึงปัจจุบันกำลังจะปิดตัว (วันที่ 5 กรกฎาคม 2563) ทำงานมาตั้งแต่รุ่นสาวจนเข้าสู่วัย 70 ปี รวมระยะเวลา 52 ปี และปีนี้เธอก็ต้องจากไปพร้อมสกาลาและเพื่อนพนักงานคนอื่นๆ

"ถ้าถามว่าประทับใจสกาลาตอนไหน  คงตอนที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จมาสองครั้ง ได้มีโอกาสเห็นพระองค์ท่าน เราผูกพันกับที่นี่ยิ่งกว่าบ้าน ทำงานตั้งแต่เช้าจรดเย็น  ยังจำได้วันเปิดตัวฉายหนังเรื่องแรกวันที่ 31 ธันวาคม 2512”

แม้จะอยู่กับโรงหนังมานาน แต่เธอกลับไม่ค่อยมีโอกาสดูหนัง เพราะต้องทำงานและถูกตามตัวบ่อย เธอบอกว่า ก็มีบ้างที่แอบเข้าไปดูบางเรื่องในโรงหนัง

“ที่นี่เป็นโรงหนังที่ดีที่สุดในย่านเอเชีย บริหารแบบธุรกิจครอบครัว ไม่มีเกษียณ ป่วยก็รักษา ตายก็เผา ก็เลยมีพนักงานวัยประมาณนี้เหลืออยู่ 6-7 คน เมื่อก่อนบริษัทมีโรงหนัง 23 แห่ง เพราะคุณพิสิษฐ์ พ่อคุณนันทา มีความคิดใหม่ๆ ชอบหนัง กระทั่งขาดทุน ผู้บริหารก็ค่อยๆ เลิกลาถอยออกมา ยังจำได้ว่า เคยมีหนังที่ฉายนานมากเรื่อง ขุนทองแมคเคนน่า ตอนนั้นฉายอยู่ 6 เดือน 20 วัน กลับมาฉายอีก 2 เดือน”      

สกาลา จึงไม่ได้เก่าแก่แค่สถานที่ ยังมีเรื่องราวอีกมากมาย ตั้งแต่พนักงาน เครื่องแบบคนเดินตั๋ว ข้าวของเครื่องใช้ และสถาปัตยกรรมย้อนยุค

“สำหรับคนที่รักสกาลา ตอนนี้ยังมีเวลาย้อนความหลัง เพราะด้านนอกเปิดอยู่ ไม่ต้องรอถึงวันปิดตัว ช่วงวันที่ 4-5 กรกฎาคมจะฉายหนังแค่ 6 รอบ ภายใต้เงื่อนไขการแพร่ระบาดของโควิด ที่นั่งก็ต้องลดลงเหลือ 400 ที่นั่ง เราก็เลยตั้งกฎว่า คนหนึ่งซื้อตั๋วได้สองใบ เนื่องจากที่นั่งและเวลาจำกัด เราก็แบ่งปันให้คนที่รักสกาลาได้มีโอกาสดูหนัง” ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ กล่าว และว่า

“เราเข้าใจดี ถ้าจะบริหารจัดการโรงหนังกว่า 800 ที่นั่งต่อไป มันไม่ใช่เรื่องง่าย ราคาที่ดินแถวสยามสแควร์แพงมาก”

1593490339100

ลาก่อนสกาลา

ชลิดาเองก็ผูกพันกับสกาลาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาภาพยนตร์ที่ธรรมศาสตร์ และเติบโตมากับการดูหนังโรงใหญ่ๆ จนมีโอกาสมาทำงานหอภาพยนตร์

“สมัยเรียน อาจารย์ให้คิดโครงการหนัง คิดไม่ออกว่าจะถ่ายทำอย่างไร ก็เลยนั่งรถเมล์มาสยามดูหนังที่สกาลา เพื่อดูบางช็อตในหนังฮอลลีวู้ด ฉากตกจากตึก หรือฉากอะไรสักอย่าง มาดูหนังกับเพื่อนห้าคน  โรงหนังขนาดใหญ่มีเสน่ห์อย่างหนึ่ง ทำให้เราก้าวจากโลกที่อยู่เข้าไปสู่โลกภาพยนตร์ ก่อนจะมาสู่ยุคมินิเธียเตอร์ตามห้างสรรพสินค้า โรงหนังใหญ่ๆ ทุกโรง”

สกาลา จึงเป็นเสมือนเพื่อนเก่าเพื่อนแก่ เมื่อต้องจากลา ในวันเวลาที่่ต่างผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายฤดูกาล เธอเข้าใจดีว่า ทำไมสกาลาไปต่อไม่ได้ 

“ถ้าจะเก็บสกาลาเอาไว้ ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขอยู่รอดทางธุรกิจอย่างยั่งยืน เราเองก็ไม่รู้ว่าหลังจากจัดงานอำลาแล้ว สกาลาจะเปลี่ยนเป็นอะไร เรามีความทรงจำดีๆ ต่อสกาลา ถ่ายรูปทุกครั้งที่ไปจัดงาน ก็เลยมีภาพสกาลาเยอะมาก เราเคยจัดงานเทศกาลหนังเงียบ หนังเก่าหลายครั้ง เห็นคนเก่าคนแก่กลับมาดูหนัง อย่างน้อยๆ 10 ปีที่ผ่านมา เราก็เคยใช้โรงหนังแห่งนี้ เราเองก็พยายามทำให้โรงหนังอยู่รอดและอยู่ได้”

อย่างไรก็ตาม เธอยอมรับว่า การระบาดของโควิด-19 มีส่วนทำให้คนไม่กลับมาดูหนังในโรงเยอะมาก จนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันไวรัส

“อย่าว่าแต่สกาลา โรงหนังอื่นที่จะไปต่อก็มีความยากลำบากเหมือนกัน เราก็พยายามสนับสนุนเท่าที่มีกำลัง แต่ในแง่ธุรกิจไม่ง่าย”

ส่วนหนังที่นำมาจัดฉายหลายเรื่อง  อย่าง “Cinema Paradiso” เธอเห็นว่า เหมาะกับวาระและโอกาส เป็นเรื่องของความรักความผูกพันของคนกับโรงภาพยนตร์เก่า

“Cinema Paradiso อาจบีบหัวใจสำหรับคนรักโรงหนัง ส่วน Blow-Up หนังคลาสสิกของผู้กำกับชั้นครูชาวอิตาเลียน มิเคลันเจโล อันโตนิโอนี ชนะเลิศรางวัลกรังปรีซ์ รางวัลสูงสุดในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประจำปี 2510 เป็นหนังที่ชื่นชอบ อยากดูจอใหญ่ๆ อีกครั้ง”

159349036286

 ทางด้าน อาทิตย์ อัสสรัตน์ ผู้กำกับหนังสารคดี The Scala กับผลงานในโครงการเฉลิมฉลองประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เอเชีย โดยเทศกาลภาพยนตร์ปูซาน เมื่อปี 2559 เล่าถึงเบื้องหลังคนทำงานในโรงภาพยนตร์สกาลาว่า

 "สมัยผมเป็นเด็กๆ ผมก็ไปดูหนังที่สกาลาเหมือนคนกรุงเทพฯทั่วไป ที่ประทับใจคือ สถาปัตยกรรม เป็นโรงหนังใหญ่แห่งสุดท้ายในกรุงเทพฯ ก็รู้สึกเสียดายที่ต้องปิดกิจการ และอาจถูกทุบทิ้ง ครอบครัวที่บริหารสกาลาก็เป็นญาติห่างๆ กับผม ตอนที่ผมจะทำหนังสารคดีเกี่ยวกับสกาลา ผมก็ไปคุย เพราะไม่เคยมีใครทำเป็นสารคดี ผมโชคดีที่ได้บันทึกภาพสกาลาเอาไว้ในหนัง

แม้สกาลาจะอยู่ในช่วงขาลงเหมือนกิจการทั่วไป แต่ที่ผ่านมาเจ้าของบริษัทเลือกที่จะเลี้ยงดูผู้คน ไม่จ้างพนักงานใหม่  ผมเข้าไปถ่ายหนังอยู่สองสามเดือน ไม่เคยเจอพนักงานเด็กๆ ส่วนใหญ่อายุเกิน 50 ปี ก่อนหน้านี้ที่เขาไม่ปิดกิจการ ไม่ใช่เพราะมีกำไร แต่เขาต้องการเลี้ยงครอบครัวเล็กๆ คนสกาลาเอาไว้  ผมรู้สึกประทับใจกับพนักงาน คนเดินตั๋ว คนขายตั๋ว คนในห้องฉายหนัง คนเก็บกวาดทำความสะอาด พวกเขาเป็นมดงานในโรงภาพยนตร์"

"

(ไปเช็คอินที่สกาลากัน)

-เป็นตำนานโรงหนังสแตนด์อโลนแห่งสุดท้ายในกรุงเทพฯ อายุ 51 ปี

-เพื่อเก็บความทรงจำว่า ครั้งหนึ่งเคยมาดูหนังกับแฟน เพื่อน และครอบครัว

-เป็นโรงหนังที่มีองค์ประกอบศิลปะและสถาปัตยกรรมโดดเด่น

-เป็นโรงหนังย้อนยุค ไม่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการจำหน่ายตั๋ว

-มีมุมให้ถ่ายภาพเยอะ ได้อารมณ์แบบยุโรปๆ