ชวนนึกถึงความหลัง ชมของเก่าที่‘บ้านพิพิธภัณฑ์’

ชวนนึกถึงความหลัง ชมของเก่าที่‘บ้านพิพิธภัณฑ์’

หากใครอยากพาญาติผู้ใหญ่ไปหวนนึกถึงความหลังในวัยเด็ก "บ้านพิพิธภัณฑ์" เป็นทางเลือกที่ดีมากกับของเก่ามากมายหลากหมวดหมู่ แต่ตอนนี้ปิดปรับปรุงและเตรียมเปิดแห่งที่สอง คงไม่นานเกินรอ

      “ของดีจำนวนมากถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ ในขณะที่เราไม่สามารถหาชมของจำพวกนี้ เช่น ตู้ โต๊ะ ตั่ง เตียง แบบเรียน ป้ายโฆษณา ขวดน้ำอัดลม กระบอกเสียง ฯลฯ” เอนก นาวิกมูล นักสะสมของเก่า นักเขียนสารคดี ที่มีผลงานหนังสือเรื่องเล่าเก่าๆ และของสะสมกว่า 200 เล่ม เล่าถึง ที่มาของบ้านพิพิธภัณฑ์ในการเก็บรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ในช่วงปีพ.ศ.2490-2500

ปัจจุบันบ้านพิพิธภัณฑ์มีสองแห่ง  แห่งแรกตั้งอยู่ที่ ถ.ศาลาธรรมสพน์ ซอยทวีวัฒนา กทม. กำลังปรับปรุง หลังเดือนกรกฎาคมจะเปิดให้บริการ ส่วนอีกแห่ง เพิ่งสร้างใหม่ ใกล้ตลาดงิ้วราย ซอย 4 บนพื้นที่ 4 ไร่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม กำลังจัดวางข้าวของเก่าๆ ที่มีคุณค่า โดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์ 16 ตู้ จัดแสดงร้านเก่าๆ อาทิ ร้านขายของจิปาถะ ร้านขายยา ร้านกาแฟ ร้านตัดผม ร้านถ่ายรูป ฯลฯ พร้อมๆ กับทำพื้นที่รอบๆ ให้มีสีเขียวโดยการปลูกต้นไม้ และทำนา

159384829051

-1-

สำหรับคนที่รู้จัก เอนก ต่างรู้ดีว่า เขาเป็นนักสะสมของเก่าตัวจริง ที่อยากแบ่งปันเรื่องราวเก่าๆ ให้คนทั้งประเทศได้เห็นได้รู้ที่มาทีไป โดยเขาทำเรื่องเหล่านี้มานานหลายสิบปี ทำด้วยใจรักและความเพียรพยายาม รวมถึงนำความรู้มาบอกเล่าในหนังสือ

“เพราะผมอยากให้มีแหล่งเก็บของเก่าจะทิ้งก็ไม่ได้ เหมือนสร้างวัดเล็กๆ มีคนบริจาคมาด้วยความศรัทธา ผมถามทุกครั้งว่า ทำไมไม่เก็บไว้ดูเอง เพราะของที่พวกเขานำมาบริจาคเป็นของดีๆ ทั้งนั้น พวกเขาบอกเหมือนกันว่า อยากแบ่งปันให้คนอื่นดูบ้าง ถ้าเก็บไว้เองก็ดูคนเดียว ผมก็ซาบซึ้งในน้ำใจ ทั้งๆ ที่ของบางชิ้นใหญ่เกินไป"

สิ่งของเหล่านี้ ก่อนจะจัดหมวดหมู่ ก็ต้องนำมาคัดแยก ทำความสะอาด โดยเอนกและภรรยา รวมถึงทีมงานไม่กี่คน แม้พวกเขาจะเหนื่อยแค่ไหน งานเล็กๆ ก็ยังดำเนินต่อไป

159384816376

"เราก็ช่วยกันทำกับภรรยาและเด็กๆ ถ้าถามว่าเอาทุนมาจากไหน เมื่อก่อนได้ทุนจากการขายสมุดดินสอ แต่เดี๋ยวนี้คนไม่ใช้สมุดแล้ว ก็มีเพื่อนๆ สำนักพิมพ์ เพื่อนผู้ว่าราชการ อธิบดี ช่วยกันทอดผ้าป่า เอาเงินมาบริจาค เคยได้มารวมๆ สามล้านบาท ใช้ไม่นานก็หมด เป็นค่าก่อสร้างต่างๆ ค่าแบกหามสิ่งของอีก”

ในบ้านพิพิธภัณฑ์ มีการแบ่งซอยพื้นที่ออกเป็นร้านต่างๆ  อาทิ ร้านกาแฟ ร้านแรกๆ ที่หลายคนนึกถึง เป็นแหล่งพบปะพูดคุยในบรรยากาศสบายๆ ของคนยุคนั้น หม้อต้มน้ำที่มีฝาเปิดปิดไปมา ใช้ชงชา กาแฟ ถ้าน้ำข้างหนึ่งพร่อง ก็ใช้น้ำอีกข้าง ร้านกาแฟรูปแบบนี้ ยังมีให้เห็นบ้างในยุคนี้ แต่น้อยมาก  และในร้านกาแฟยุคนี้ไม่มีการใช้แก้วก้นจีนรูปอ้วนๆ ใส่ชาเย็น กาแฟเย็นและโอเลี้ยงแล้ว ส่วนแก้วก้นเล็กใช้ใส่ชาร้อน กาแฟร้อน หรือน้ำชา ยังมีให้เห็นบ้าง ส่วนการใช้กระป๋องนมเปล่าๆ ใช้เชือกผูกเป็นหูหิ้วใส่เครื่องดื่มกลับบ้านไม่มีให้เห็นแล้ว

เรื่องเหล่านี้ เป็นความคิดสร้างสรรค์ยุคสมัยหนึ่งในเมืองไทย และถ้าคุณเป็นคนยุคนั้น คุณก็คงรู้จัก น้ำอัดลมรสส้มไบเล่ หรือคิกคาปู้ ฯลฯ

ส่วนร้านถ่ายรูปที่เคยเห็นในบ้านพิพิธภัณฑ์ ถ.ศาลาธรรมสพน์ เอนก บันทึกไว้ว่า 

“เรื่องรูปถ่ายยุคเก่านี้ ขอให้สังเกตว่า คนแต่ก่อนทำงานอย่างประณีตตั้งใจมาก บนตัวรูปหรือบนกระดาษปิดรูปจะพิมพ์ตราร้าน ชื่อร้าน ตลอดจนชื่อผู้ถ่ายหลายแบบ  บางร้านมีตรากด มีกระดาษฝ้าบางๆ ปิดกันรอยขีดข่วนรูป  เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีเสน่ห์ทั้งสิ้น”

-2-

เอนก เองก็เติบโตมาจากครอบครัวที่มีธุรกิจเล็กๆ ร้านขายแบบเรียน เขาจึงชอบสะสมของเก่าตั้งแต่เด็กๆ ประกอบกับชอบเขียนหนังสือ พอเขียนสารคดี ก็อยากรู้จักข้าวของเครื่องใช้เก่าๆ  แต่ไม่มีแสดงในพิพิธภัณฑ์ไทย เขาจึงต้องค้นคว้าและเสาะแสวงหาสิ่งเหล่านี้มาเล่าไว้ในหนังสือ

ตอนที่เขาเขียนเรื่อง แรกมีในสยาม เอนก เล่าว่า ไม่เคยเห็นสิ่งของเครื่องใช้ของชาวบ้านยุคเก่าเลย จึงไม่แปลกที่ไม่เคยเห็นเครื่องราชบรรณาการต่างๆ อาทิ  รูปภาพเก่าๆ สมัยรัชกาลที่ 3-4 เครื่องโทรเลขสมัยรัชกาลที่ 4 แว่นตาสมัยรัชกาลที่ 4 หนังสือสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่มีให้เห็นเลย เพราะคนไทยไม่เก็บ

"เคยค้นคว้าแล้วพบว่ามีบันทึกไว้ในหนังสือตอนหนึ่งไม่กี่บรรทัด เขียนไว้ว่า “มีคนเอาตุ๊กตาดีบุกมาถวายพระราชธิดา ในหลวง รัชกาลที่ 3” ตุ๊กตาหน้าตายังไงก็ไม่รู้ หรือมีคนบอกว่า ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น วัวควายหน้าตายังไงก็ไม่เคยเห็น หนังตะลุงยุคแรกๆ หน้าตาแบบไหน ภาพยนตร์สมัยรัชกาลที่ 5 เคยมีการถ่ายทำเอาไว้ แต่คนไทยไม่เคยเห็น มีพวกฝรั่งเก็บรวบรวมเอาไว้

159384822112

ผมมองว่า รัฐบาลไม่สนใจทำเรื่องเหล่านี้ ผมเคยพูดมานานแล้วว่า เราไม่มีพิพิธภัณฑ์และแหล่งสะสมของเก่า ไม่มีหน่วยงานที่ทำงานด้านนี้โดยตรง พิพิธภัณฑ์เอกชนลงทุนกันเองทั้งนั้น อย่างพิพิธภัณฑ์ของเล่น พิพิธภัณฑ์หินแปลก พิพิธภัณฑ์ที่เราทำก็ไม่เคยมีรัฐบาลมาช่วยเลย

ทั้งๆ ที่บ้านพิพิธภัณฑ์มีส่วนในการแบ่งเบาภาระงานข้าราชการ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาล เทศบาล ต้องเก็บข้าวของเก่าๆ ไว้ให้ประชาชนศึกษาเรียนรู้ เรื่องเหล่านี้มีเพียงกรมศิลปากร กทม.ทำหน้าที่ แต่ยังไม่พอ ผมพยายามพูดมา 33 ปี ผมเรียกร้องว่า รัฐต้องมีหน่วยงานสนับสนุนคนทำพิพิธภัณฑ์จริงจัง

ขณะที่คนส่วนใหญ่ทำบุญกับวัด โรงเรียน โรงพยาบาล และปลูกป่า แล้วทำไมไม่ทำบุญให้พิพิธภัณฑ์อยู่ได้และอยู่รอด ทั้งๆ ที่จำเป็นต่อบ้านเมือง เป็นแหล่งเก็บความรู้”

...........................

หากอยากบริจาคเพื่อช่วยทำบ้านพิพิธภัณฑ์ ติดต่อได้ที่คุณเอนก นาวิกมูล เบอร์ 089 200 2803 หรือดูที่เพจ House of Museums

159384824291