กะเทาะเปลือก ‘สื่อไทย’ ในสถานการณ์ ‘โควิด-19’
ความซับซ้อนในการนำเสนอความจริงของ “สื่อไทย” ในยุควิกฤต “โควิด-19” กับการแข่งขันเพื่อให้ได้ข่าวคุณภาพสู่สังคม
จากการเก็บข้อมูลการค้นหาบน Google ของเว็บไซต์ Information is Beautiful พบว่า ‘โควิด-19’ ถูกค้นหาจากทั่วโลกถึง 2.1 พันล้านครั้ง มากกว่าโรคติดต่ออันตรายที่คล้ายกันอย่าง SARS ที่ 66.5 ล้านครั้ง และ MERS อยู่ที่ 33.1 ล้านครั้ง รวมถึงโรคติดต่อ HIV 69.5 ล้านครั้ง ข้อมูลดังกล่าวนำไปสู่การรายงานข่าวของสื่อที่เป็นจักรวาลการระบาดของโควิด-19 ทั้งการอัพเดตจำนวนผู้ติดเชื้อ ให้ข้อมูลเรื่องอาการของโรค การรักษา ตลอดจนผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งหมด ตามความสนใจของประชาชนผู้ที่เป็นทั้งผู้รับสารและผู้ส่งสารในคราวเดียวกัน
ขณะเดียวกันนั้น การรายงานของสื่อก็มักจะถูกตั้งคำถามและติติงถึงการทำงานในสถานการณ์บ้านเมืองต่างๆ ซึ่งในโอกาสครบรอบก้าวที่ 23 ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มีเวทีเสวนาเล็กๆ พูดคุยกันในหลากมุมมองหลายข้อคิดเห็นจากกระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการด้านสื่อ ผู้คุ้มครองผู้บริโภค และสื่อมวลชน ต่อประเด็น ‘บทบาทและจริยธรรมสื่อในภาวะวิกฤตโรคระบาด’
- การสื่อสารในยุคโควิด
มงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เล่าว่า ก่อนหน้าการจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) การแถลงข่าวโดยนักการเมืองไม่มีความเป็นเอกภาพ ทั้งยังสร้างความลำบากให้กับผู้สื่อข่าวที่พยายามจะถ่ายทอดความจริงอย่างมาก เนื่องจากต้นทางของข้อเท็จจริงที่ขุ่นมัว การจะจับประเด็นของปัญหาไปบอกเล่าเก้าสิบให้กับประชาชนได้เตรียมพร้อมรับมือจึงเป็นเรื่องยาก ดังนั้นการแถลงข่าวบนพื้นฐานของข้อมูลที่มาจากแพทย์อย่างเป็นเอกภาพ จึงสำคัญไม่แพ้การนำเสนอข้อเท็จจริงที่ไม่บิดเบือน
จากกรณีถ้ำหลวง จะเห็นได้ว่าการเสนอข่าวมีทั้งระบบจัดการในภาวะฉุกเฉินและระบบบัญชาการเหตุการณ์ที่ถูกนำมาใช้อย่างถูกต้อง เช่นกันกับครั้งนี้การให้ข่าวจาก ศบค. หรือจากทำเนียบรัฐบาลทุกวัน ทำให้ทุกช่องทางการสื่อสารมีแหล่งข่าวน่าเชื่อถือจากแหล่งเดียวกัน
“สร้างความแตกต่างใช้กับสื่อมืออาชีพ โดยเฉพาะในโลกที่มีความซับซ้อนทางข้อมูลข่าวสาร และการเปลี่ยนแปลงของโรคใหม่ๆ แม้คนทั้งโลกจะสามารถรายงานข่าวได้ แต่การทำงานเป็นทีม ที่ไม่เฉพาะทีมข่าวอย่างเดียว แต่รวมไปถึงนักวิชาการ โปรแกรมเมอร์ต่างๆ จะเป็นทิศทางสำหรับสื่อมืออาชีพในอนาคต”
ขณะเดียวกัน นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ผู้ที่เริ่มทำงานมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ มองว่า การสื่อสารในสถานการณ์โรคระบาด จะต้องเพิ่มคำว่า ‘ความเสี่ยง’ เข้าไปด้วย ดังนั้นในสถานการณ์นี้จึงเป็น ‘การสื่อสารความเสี่ยง’ ที่ต้องมีข้อเท็จจริงที่ไม่บิดเบือน เป็นหัวใจหลักในการสื่อสาร
“การที่ทุกคนในสังคมเผชิญกับโควิด-19 ก็เหมือนลงเรือลำเดียวกัน ไม่มีใครในสังคมนี้รอด ถ้าทุกคนไม่รอด การที่เราจะปลอดภัยได้ก็ต้องทำให้สังคมทั้งสังคมปลอดภัยก่อน นี่เป็นหลักการเบื้องต้นของการรับมือโรคติดต่ออันตราย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติอย่างมาก หากทุกคนยึดหลักคิดนี้ไว้ในใจเสมอ รวมถึงคนที่ทำหน้าที่สื่อสารมวลชนด้วย”
บทบาทของสื่อเมื่อต้องทำงานกับโรคติดต่อ มีหลักการง่ายๆ คือ การประเมินความเสี่ยง ซึ่งเป็นส่วนที่สื่อมักให้ความสำคัญเสมอ แต่ที่ไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญในการนำเสนอก็คือ การจัดการความเสี่ยง เพราะตราบใดที่รู้วิธีการจัดการกับความเสี่ยง ความสามารถในการทำให้ความเสี่ยงสูงกลับไปมีความเสี่ยงต่ำก็เป็นไปได้ไม่ยาก นี่คือหลักการทั่วไปของสื่อสารความเสี่ยง ที่คุณหมอให้ความสำคัญ พร้อมย้ำว่าในการสื่อสารภาวะฉุกเฉินนั้นยังต้องอาศัย 3 อย่าง คือ 'Be first' รายงานในข้อเท็จจริง, 'Be right' พูดในสิ่งที่ถูกต้อง อัพเดตข้อมูลใหม่ๆ อยู่เสมอ และ 'Be Credible' ต้องมีความน่าเชื่อถือ ไม่บิดเบือนข้อมูลข่าวสาร
“เมื่อเกิดการระบาดของโรคใหม่ สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นอย่างแรกคือ การสร้างภาพความน่ากลัวของโรคใหม่ ตั้งแต่สมัยโรคซาร์ส ไข้หวัดใหญ่ จนโควิด-19 การใช้คำที่ในการพาดหัวข่าวหรือการสร้างความรังเกียจต่อผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วยอย่างไม่มีพื้นฐานที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงการระบาดหนักๆ ทำให้หลายคนเกิดอาการแพนิค กลัวแบบไม่มีเหตุไม่มีผล”
สำหรับประเด็นโควิด-19 ในปัจจุบัน นายแพทย์ธนรักษ์มองว่า แม้ตอนนี้จะไม่เจอคนไข้เพิ่มมานาน ทว่าประเทศไทยก็มีโอกาสจะกลับมาพบผู้ป่วยอีก ดังนั้นสิ่งที่ควรจะทำก็คือการเตรียมพร้อมรับมืออยู่เสมอ ซึ่งต้องทำอย่างสมดุล เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพระยะยาว และอาจทำให้ใครบางคนสูญเสียความสามารถที่จะมีชีวิตหรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคตได้
- ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว
“ช่วงก่อนที่จะมี ศบค. ข้อมูลข่าวสารเริ่มไหลไปในทางเดียวกันมากขึ้น แต่สื่อจะถูกวิจารณ์ในแง่ของจริยธรรมที่นำเสนอเกินความจริง ซึ่งจะมาพร้อมกับการตีตราและเกลียดชัง หรือการเลือกปฏิบัติผ่านการพาดหัวข่าวบ้าง เช่น เรื่องที่ประชาชนประท้วงที่หน้ากระทรวงการคลัง มีการพาดหัวข่าวในทำนองประชดประชันว่า เมื่อไปทำเช่นนั้นแล้วได้ผล ก็ทำให้สื่อถูกวิจารณ์ในการพาดหัวข่าว หรือการรายงานผู้ติดเชื้อที่มีความแตกต่างทางศาสนา และการใช้ชื่อกลุ่มเฉพาะ” สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ และหนึ่งในกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พูดถึงการนำเสนอข่าวของสื่อที่มักถูกวิจารณ์ในทางลบ
การสื่อสารช่วงที่ผ่านมาของสื่อไทยกับโควิด-19 ว่า ถ้าอิงจากหลักคิดขององค์การยูเนสโก เรื่องของเสรีภาพสื่อในยุคโควิด-19 ต้องยึดหลักวารสารศาสตร์แห่งความจริง เพราะหัวใจที่สำคัญของการนำเสนอข่าวก็คือ ‘ความจริง’ รวมถึงนำเสนอข่าวที่ปราศจากอคติ ความลำเอียง และความกลัว ดังนั้น ภาพรวมของจริยธรรมสื่อในยุคโรคระบาดคือ การรายงานข้อเท็จจริงได้อย่างถูกต้อง
“ยูเนสโกก็บอกว่าองค์กรอย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ แถลงการณ์ทันทีหลังเกิดเหตุโรคระบาดว่าจะร่วมกันรับมือเรื่องนี้โดยมีมาตรการต่างๆ ออกมา เช่น ดันข้อมูลที่เป็นทางการจากองค์การอนามัยโลกให้ขึ้นในหน้าฟีด และขึ้นป้ายเตือนว่าอันไหนเป็นข่าวลวงข่าวลือ”
ด้านฝั่งนักวิชาการ รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ช่วงโควิด-19 สำนักข่าวเองตื่นตัวมากพอสมควรและพยายามติดตามสถานการณ์อยู่ตลอด นอกเหนือจากการหยิบจับดราม่ามาเป็นประเด็น ยังมีเรื่องของการตามล่าหาความจริงที่จำเป็นต้องนำเสนอ เช่น หน้ากากอนามัยหายไปไหน ทำไมทุกอย่างถึงมาจากการบริจาคเป็นส่วนใหญ่ แน่นอนว่ามีการใช้ดราม่าเพื่อให้เกิดกระแสสังคม แต่ต้องควบคู่ไปกับการเสนอองค์ความรู้ด้วย
“ประเด็นดราม่าได้ยอด Engagement เยอะก็จริง แต่มาไวไปไว ดราม่าอาจทำให้ผลงานข่าวเป็นที่รับรู้ แต่บางครั้งก็ถูกนำมาใช้ในการสร้างความตระหนัก แต่ถ้าสื่อถอยออกมาสักนิดแล้วทำในเชิงข้อมูล ให้ความรู้ คนจะมองว่าข่าวนั้นมีคุณภาพจริงๆ”
“ในสนามข่าว องค์กรข่าวไมใช่องค์กรการกุศล จะต้องมีเงินจากการอุดหนุนหล่อเลี้ยงคนข่าว เราจะเห็นถึงการแข่งขันกันด้วยข้อมูล ดึงศักยภาพของการเสนอข่าวบนแพลตฟอร์มออนไลน์มาใช้มากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นนักข่าวอย่างเดียวไม่พอต้องมีผู้ช่วย แต่ท้ายสุดคนที่จะเลือกประเด็นและเช็คข้อมูลก็ต้องเป็นนักข่าวอยู่ดี”
- เรียนรู้จากความผิดพลาด
สำหรับข้อบกพร่องจากการรายงานข่าว ไม่ว่าจะเป็นการพาดหัวข่าว และความพยายามสร้างประเด็นดราม่า อีกด้านกลายเป็นบทเรียนในการทำงานของสื่อ ซึ่งปรากฏการณ์หนึ่งที่ทำให้สังคมเรียนรู้และเริ่มชัดเจน คือ กรณีของแมทธิว ดีน ที่ออกมาเปิดเผยว่าเป็นผู้ติดเชื้อ ซึ่งเป็นคนไข้คนรายแรกๆ ที่ออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะ โดยหลักจรรยาบรรณสื่อจะไม่รายงานชื่อผู้ป่วย แต่ในกรณีนี้ผู้ป่วยเป็นบุคคลสาธารณะและยินดีเปิดเผยด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ทำให้สังคมได้เรียนรู้อาการและการรักษาไปพร้อมๆ กัน นี่เป็นปรากฏการณ์ที่สื่อก็มีส่วนร่วม ลดการแตกแยก และตื่นกลัวจากการขาดข้อมูล
“ช่วงแรกที่สถานการณ์กำลังอลหม่านกันอยู่ สื่อปล่อยรายชื่อคนไทยที่กลับมาจากประเทศเสี่ยง สร้างความสับสนให้หลายฝ่าย ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวสัมพันธ์กับการสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) ล้ำเส้นสิทธิส่วนบุคคลและสร้างความตื่นตระหนกให้กับสังคม แต่จะโทษสื่ออย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องกลับมาเรียกร้องประชาชนทุกคนที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ด้วย ให้แสดงความคิดเห็นกันบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง และไม่ใช่อารมณ์เหนือเหตุผล” สุภิญญา พูดถึงอีกหนึ่งบทเรียนจากความผิดพลาดของสื่อที่เธอพบเจอ
ทั้งนี้ยังเสนออีกว่า ในยุคที่เทคโนโลยีเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น สื่ออาจจะต้องเพิ่มทักษะการเป็นผู้ตรวจสอบความจริง ที่มีความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยี ขณะเดียวกันก็ต้องมีความเป็นนักวิทยาศาสตร์ในตัว ส่วนคุณหมอเองก็ต้องฝึกทักษะการเป็นนักสื่อสารควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้สื่อมีสิทธิ์ตั้งคำถามและไม่เห็นด้วยกับ หมอ นักวิทยาศาสตร์ หรือรัฐบาล เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้ผู้ไร้สิทธิ์ไร้เสียงในสังคม
และต้องไม่ลืมจรรยาบรรณในการไม่ละเมิดสิทธิแหล่งข่าวและข้อมูลส่วนบุคคล ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างถ้วนถี่ พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงกันอย่างสร้างสรรค์ โดยพยายามที่จะลดความขัดแย้งและความเกลียดชังในสังคม ซึ่งถ้าสื่อทำสิ่งเหล่านี้ได้ก็จะเป็นบทบาทเชิงรุก แต่เมื่อผิดพลาดก็ไม่ต้องอายที่จะขอโทษ เพราะสังคมอาจไม่ต้องการอะไรไปมากกว่าการที่สื่อยอมรับความผิดพลาดและแก้ไข
“นี่คือสิ่งที่เราผ่านมาแล้ว ทุกวันนี้เราก้าวไกลกว่าแค่การเว้นระยะห่าง หรือสวมหน้ากาก เพราะหลังจากการเปลี่ยนแปลงและสิ่งที่ตามมา เราได้เรียนรู้จนเกิดศักยภาพที่เรียกว่า ภูมิคุ้มกัน ซึ่งจากการสื่อสารและเรียนรู้ร่วมกันผ่านการรายงานของสื่อทั้งหลาย คนไทยก็น่าจะมีภูมิคุ้มกัน ถ้ามีระลอกสองก็คงจะไม่รุนแรงนัก” นายกสมาคมนักข่าวฯ ทิ้งท้าย
วิกฤตครั้งนี้เป็นเรื่องใหม่ของสังคมโลก ซึ่งปัจจัยที่นำเรามาสู่วันที่สามารถออกไปไหนมาไหนได้อย่างปลอดภัยระดับหนึ่งนั้น นอกจากความสามารถของฮีโร่ชุดขาว การจัดการของภาครัฐ ยังรวมไปถึงการร่วมมือร่วมใจในการนำเสนอข้อเท็จจริงของสื่อและการรับฟังข้อเท็จจริงอย่างมีวิจารณญาณของผู้รับสารด้วย