'โรงหนัง' อินเดีย รอด-ไม่รอด กลางกระแส 'โควิด'
'บอลลีวู้ด' อินเดียกลางกระแส "โควิด" จะไปต่ออย่างไร เมื่อเสน่ห์ของ "โรงหนัง" ความบันเทิงราคาถูก อาจพ่ายแพ้ให้กับบริการสตรีมมิ่ง เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
คนอินเดียชอบการชมภาพยนตร์มาก ส่งผลให้ดาราภาพยนตร์ได้รับความรักความชื่นชอบจากแฟนๆ อย่างหนัก ถึงขนาดยกให้มีสถานะกึ่งเทพกันเลยทีเดียว อย่างเช่นคนขับสามล้อในนครมุมไบนาม ‘สันทีป บัคเช’ ที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของดาราดังอย่าง ‘สัญชัย ดัตต์’ ถึงขนาดสักภาพใบหน้าดาราในดวงใจไว้บนแขน ใครเห็นก็ได้แต่อึ้งไปตามๆ กัน แต่ตอนนี้มนต์เสน่ห์ของจอเงินแดนภารตะอาจพ่ายแพ้ให้กับบริการสตรีมมิงและความกลัวโรคโควิด-19
“เมื่อใดก็ตามที่สถานการณ์ดีขึ้นและโรงหนังเปิดแล้ว ผมจะฉลองด้วยการดูหนังวันเดียว 3 เรื่องรวดเลยครับ” สันทีปเผยถึงความอัดอั้น หลังจากตัวเองก็ติดไวรัสเพิ่งหายป่วย แต่คนอื่นๆ อาจไม่เป็นแบบเดียวกับเขา
โรงภาพยนตร์อินเดียปิดมานานหลายเดือนแล้วเพราะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) และยังไม่มีทีท่าว่าจะกลับมาให้บริการใหม่ได้ในเร็วๆ นี้ บรรดาผู้ผลิตภาพยนตร์บอลลีวู้ดที่หัวเสียกับสภาพการณ์แบบนี้จึงหันไปพึ่งบริการสตรีมมิงอย่างอะเมซอน เน็ตฟลิกซ์ และดิสนีย์พลัสฮอตสตาร์ ปล่อยงานบนโลกออนไลน์แทน
ภาพยนตร์เรื่อง Gulabo Sitabo นำแสดงโดยเจ้าตำนานบอลลีวู้ด ‘อมิตาป ปัจจัน’ ฉายรอบพรีเมียร์บนอะเมซอนไพรม์เมื่อเดือนก่อน ภาพยนตร์ภาษาฮินดีเรื่องอื่นๆ ก็เจริญรอยตาม รวมถึงภาพยนตร์ภาษาเตลูกู ทมิฬ และภาษามลยาฬัม สร้างความไม่พอใจให้กับเจ้าของโรงหนัง
ไอเอ็นโอเอ็กซ์ เลเชอร์ จำกัด ผู้บริหารโรงหนังใหญ่อันดับสองของประเทศ เตือนผู้ผลิตว่าอาจเจอ ‘มาตรการแก้แค้น’
“ดาราหนังไม่ได้เกิดมาจากจอแก้ว จอเงินต่างหากล่ะที่สร้างพวกเขาให้โด่งดังขึ้นมา” สิทธัต เจน กรรมการผู้อำนวยการไอเอ็นโอเอ็กซ์ กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี แต่ก็ตั้งข้อสังเกตว่าการแข่งขันอาจมีเรื่องเงินมาเกี่ยวข้องด้วย
“ไม่มีตัวแบบธุรกิจใดในโลกสามารถแข่งกับของฟรีได้และเน็ตฟลิกซ์ก็เหมือนกับของฟรี” ผู้บริหารโรงภาพยนตร์ตัดพ้อ
ชูจิต ซีร์คาร์ ผู้กำกับ ‘GulaboSitabo’ เผยว่า การปล่อยหนังลงโลกดิจิทัลเป็นการตัดสินใจอันหนักหน่วง แต่เพราะการเงินติดขัดเขาจึงต้องตัดสินใจแบบนี้
“ช่างเทคนิคอีกหลายคนต้องพึ่งพาผม มนต์เสน่ห์แห่งโรงหนังแทนที่ด้วยการดูโทรทัศน์ ไอแพด แล็ปท็อป ไม่ได้หรอก แต่ผมจำเป็นต้องไปต่อ”
- ความบันเทิงราคาถูก
อินเดียมีอุตสาหกรรมภาพยนตร์ใหญ่ที่สุดในโลก ปี 2561 ฉายภาพยนตร์เกือบ 1,800 เรื่อง ดาราได้รับการยกย่องเหมือนเป็นเทพเจ้า แฟนๆ สร้างวัดให้และไปแสวงบุญที่บ้านเกิดดาราด้วย
ไม่เพียงเท่านั้นการไปชมภาพยนตร์ในโรงยังคงได้รับความนิยมอย่างมหาศาล แถมราคาก็ไม่แพง แค่ 75 รูปีหรือราว 30 บาท ก็ซื้อความบันเทิงยาวนาน 3 ชั่วโมงในโรงภาพยนตร์ติดแอร์ได้
โรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ที่หรูหราอีกระดับบางแห่งมีอาหารอย่างข้าวหมกมาเสิร์ฟให้ถึงเบาะ และมีผ้าห่มให้ซุกหากแอร์หนาวเกินไป
แต่เนื่องจากประชากรอินเดียกว่าครึ่งอายุต่ำกว่า 30 ปี หลายคนเสพความบันเทิงบนโทรศัพท์มือถืออย่างเน็ตฟลิกซ์มาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ระบาด
ฮอตสตาร์ของดิสนีย์ ผู้นำตลาดที่โวว่าปี 2561 มีผู้ใช้งานสม่ำเสมอเดือนละ 300 ล้านคน ให้บริการเนื้อหาบางรายการฟรี บางรายการต้องบอกรับเป็นสมาชิก ยิ่งการปิดเมืองสกัดไวรัสยิ่งเร่งให้คนหันมาใช้บริการมากขึ้น
ไนเจล ดีซูซา ครูในมุมไบ วัย 27 ปีก็เป็นหนึ่งในนั้น หลายปีแล้วที่เขาชอบออกไปดูหนังโรง แต่เมื่ออินเดียต้องล็อกดาวน์เมื่อปลายเดือน มี.ค. เขาก็ดาวน์โหลดภาพยนตร์มาชม และเป็นสมาชิกทั้งอะเมซอนไพรม์และเน็ตฟลิกซ์ โดยอะเมซอนไพร์มรุกใช้กลยุทธ์ราคาแค่ 129 รูปีต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งดีซูซาก็ติดเบ็ด
“มันถูกมากๆ เลยครับ แถมเรายังไม่ต้องเสียค่าเดินทางและค่าป๊อปคอร์นด้วย” ยิ่งไปกว่านั้นครูหนุ่มรายนี้ยังพบว่า เขาสามารถดูหนังมากแค่ไหนก็ได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องไวรัส
- มาตรการต้านไวรัส
วิชัย สุพรามานิยม ผู้อำนวยการฝ่ายเนื้อหาอินเดียของอเมซอนไพรม์ ยืนยันว่า ไม่ได้ตั้งใจเขี่ยโรงภาพยนตร์ให้พ้นไปจากธุรกิจ
“โรงภาพยนตร์มีบทบาทสำคัญในการจัดจำหน่าย และเราไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง แต่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ และความชอบของลูกค้าตลอดมาว่าจะดูอะไร เปลี่ยนแปลงไปถึงไหน”
ขณะเดียวกันโรงภาพยนตร์ก็เตรียมความพร้อมหากล็อกดาวน์สิ้นสุด ซึ่งจะต้องมีกฎระเบียบเข้มงวดที่บั่นทอนผลกำไรโรงภาพยนตร์ลงไปอีก
ที่นั่งบางที่ต้องเว้นว่าง ต้องฆ่าเชื้อทั้งโรงทุกๆ รอบ เผลอๆ เมนูอาหารเลิศหรูและผ้าห่มอาจต้องงดด้วย แต่ก็ใช่ว่าทุกสิ่งจะเลวร้ายไปเสียทั้งหมด
“ประสบการณ์ดูหนังโรงมันฝังลึกลงในสายเลือดของพวกเราเสียแล้ว ไม่มีทางหายไปได้” กิริช โจฮาร์ นักวิเคราะห์การค้าภาพยนตร์ในมุมไบให้ความเห็น
สำหรับแฟนพันธุ์แท้อย่างบัคเช ความสุขจากการชมภาพยนตร์ในโรงยากจะต้านทานได้ แม้ตอนรักษาโควิด-19 ในศูนย์พยาบาล ชายวัย 41 ปีรายนี้ก็ต้องดูภาพยนตร์บอลลีวู้ดทุกวัน เขาเจอแอพยูทูบบนมือถือ และใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้ ส่งสัญญาณว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดที่มีต่อพฤติกรรมการชมภาพยนตร์อาจส่งผลนานเกินคาด เพราะขนาดแฟนพันธุ์แท้ดูหนังโรงก็ยังต้องเสพความบันเทิงจากมือถืออยู่ทุกวันมิได้ขาด