เคล็ดลับ ‘ชีวิต’ ที่ยืนยาวของผู้คนใน ‘Blue Zones’
รวมเคล็ดลับ 'อายุยืน' กว่าร้อยปีของผู้คนที่อาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในแถบ “Blue Zones” ท่ามกลางวิถีและ “ชีวิต” ที่แตกต่างกันไป
‘บลู โซนส์’ (Blue Zones) ได้รับความสนใจและเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางหลัง แดน บุเอ็ตต์เนอร์ (Dan Buettner) นักสำรวจ นักเขียนและช่างภาพเนชั่นแนลจีโอกราฟฟี (National Geography) ได้นำเสนอเรื่องราววิถีการกินและการใช้ชีวิตของผู้คนแถบบลู โซนส์ ลงในนิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิค ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2005 มีที่มาจาก ดร. ไมเคิล พูเลน (Dr. Michel Poulain) นักวิจัยด้านประชากรศาสตร์ ชาวเบลเยี่ยม ที่ได้ศึกษาเรื่องราวของกลุ่มประชากรอายุยืนทั่วโลกในงานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งพาพูเลนมาพบกับ แคว้นซาร์ดิเนีย ประเทศอิตาลี
งานวิจัยชิ้นนั้นระบุว่าชายชาวซาร์ดีเนียมีอายุยืนยาวกว่าหญิง ขณะที่งานวิจัยส่วนใหญ่ทั่วโลกพบว่าผู้หญิงมักมีอายุยืนยาวกว่าผู้ชาย เพื่อตอบข้อสงสัยนั้น พูเลนทำงานร่วมกับ นายแพทย์เกียนนี เพส (Dr. Gianni Pes) นักวิจัยด้านประชากรศาสตร์และนักชีววิทยา ชาวอิตาลี เสาะหาข้อมูลผู้คนที่มีอายุกว่าร้อยปีขึ้นไป แล้วใช้ปากกาสีน้ำเงินทำเครื่องหมายที่ตั้งเหล่านั้นไว้ในแผนที่
‘บลู โซนส์’ จึงกลายเป็นคำจำกัดความที่สื่อสารถึงภูมิภาคที่มีประชากรอายุยืนยาวมากกว่าร้อยปีอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ในโลก ที่สำคัญจากการสำรวจวิจัย พบว่า ประชากรเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข ท่ามกลางวัฒนธรรมการกิน การใช้ชีวิตและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันไป
ปัจจุบันเมืองที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘บลู โซนส์’ มีทั้งหมด 5 เมืองทั่วโลก ได้แก่ แคว้นซาร์ดิเนีย (Sardinia) ประเทศอิตาลี เกาะโอกินาวา (Okinawa) ประเทศญี่ปุ่น เมืองนิคอยา (Nicoya) ประเทศคอสตาริกา เมืองโลมา ลินดา (Loma Linda) รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และเกาะอิคาเรีย (Icaria) ประเทศกรีซ
จากการสำรวจพบว่าประชากรในบลู โซนส์ มักไม่มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง ไม่เป็นโรคหัวใจ โรคมะเร็งและโรคอ้วน แม้ขณะที่อายุมากแล้วยังคงใช้ชีวิตอย่างร่าเริงมีชีวิตชีวาไม่เหี่ยวเฉา
งานวิจัยสามารถสรุปวิถีการกินของผู้คนแถบบลู โซนส์ ได้ดังนี้ การทานอาหารที่มีพืชเป็นส่วนประกอบร้อยละ 95 หรือที่เรียกว่า ‘plant based diet’ โดยเฉพาะพืชตระกูลถั่ว ไม่ทานจนอิ่มมากเกินไป ไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายอย่างหักโหมแต่การออกกำลังผนวกเข้ากับวิถีชีวิต เป็นการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติ เช่น การเดินเลี้ยงแกะมากกว่า 8 กิโลเมตรต่อวัน การเดินเล่นรอบบ้าน เดินแวะเวียนไปทักทายเพื่อนบ้าน การทำสวน การทำอาหาร (การนวดขนมปัง) นอนหลับอย่างเพียงพอ 6-8 ชั่วโมง ดื่มแอลกอฮอล์อย่างพอเหมาะ เช่น ไวน์ขาวหรือไวน์แดง (ผู้ชาย 2 แก้วต่อวัน ผู้หญิง 1 แก้วต่อวัน) และการมีทัศนคติที่ดีต่อการใช้ชีวิต
นอกจากนี้ วิถีชีวิตที่เห็นได้อย่างชัดเจนในพื้นที่บลู โซนส์ คือ ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างคนในครอบครัวและเครือข่ายสังคม ชุมชนมีแหล่งพบปะกันในกลุ่มผู้สูงอายุให้ได้พูดคุยสังสรรค์คลายเหงา
แคว้นซาร์ดิเนีย ประเทศอิตาลี เป็นบลู โซนส์ แห่งแรกที่ถูกสำรวจในปี 2004 เป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับสองในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอิตาลี ห่างจากมิลานประมาณ 750 กิโลเมตร ชาวซาร์ดิเนียนยังคงรักสันโดษ รักษาประเพณีและวิถีชีวิตดั้งเดิมเอาไว้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการเลือกใช้วัตถุดิบท้องถิ่นและทำอาหารด้วยตัวเอง ไวน์ที่หมักจากองุ่นพันธุ์ท้องถิ่นในซาร์ดิเนีย มีสารฟลาโวนอยด์ช่วยบำรุงหลอดเลือดมากกว่าไวน์อื่นๆ สองถึงสามเท่า
พวกเขาดื่มนมแพะที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและอัลไซเมอร์ ทานชีสคุณภาพดี (Pecorino Cheese) ทำจากนมแกะในฟาร์มที่เลี้ยงด้วยหญ้าสด คุณค่าทางอาหารเต็มไปด้วยโอเมก้า 3 และไขมันดีที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย นอกจากนี้ชาวซาร์ดิเนียนยังคงใช้ชีวิตแบบครอบครัวขยายหรือมีบ้านอยู่อาศัยของคนในครอบครัวละแวกใกล้เคียงกัน
การระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา อิตาลีเป็นหนึ่งในอีกหลายประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูง แต่ด้วยที่ตั้งห่างไกลจากแผ่นดินใหญ่ครอบครัวชาวซาร์ดิเนียนยังใช้ชีวิตใกล้ชิดกันได้มากกว่าผู้คนในท้องถิ่นอื่น
มีรายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในซาร์ดิเนียเพียง 1 เคสจากการเดินทางกลับจากต่างประเทศ อาจเรียกได้ว่าโควิดไม่ใช่เรื่องติดขัดสำหรับพวกเขา ชาวซาร์ดิเนียนมีลักษณะทางพันธุกรรมเฉพาะตัวแตกต่างจากคนอิตาลีแถบอื่น การทดสอบพบว่ามียีนส์ดีที่เกิดจากการคัดกรองตามธรรมชาติ เกาะแห่งนี้เคยเผชิญหน้ากับเหตุการณ์โรคระบาด เช่น โรคมาลาเรียมาก่อน ทำให้ร่างกายของผู้คนปรับตัวสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรค รวมทั้งผู้คนบนเกาะเองก็ไม่ได้ติดต่อกับคนนอกเกาะมากนัก
มาเรีย เซอร์โรนย์ (Maria Cirrone) วัย 87 และ จิโอแวนนี แอนเดรีย เมเลส (Giovanni Andre Meles) สามีของเธอวัย 93 ปี เก็บตัวเองอยู่ในบ้านตามมาตรการรักษาระยะห่าง แต่ลูกๆ ของพวกเขาตระเตรียมอาหารและเครื่องใช้ต่างๆ มาให้เป็นประจำ
“แม่ของบอกฉันบ่อยว่าไม่ต้องกังวล เราเคยผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก่อนครั้งนี้ก็เหมือนกัน มันเป็นเรื่องปกติมากสำหรับฉันและคนในครอบครัวที่จะดูแลพ่อแม่ ในอิตาลีโดยเฉพาะซาร์ดิเนียเราให้ความสำคัญกับครอบครัวมาก” ลิลิอานา เมเลส (Liliana Meles) ลูกสาววัย 47 ปี ของพวกเขา กล่าว
ขยับมาใกล้ตัวกันสักหน่อยสำหรับ ‘เอเชีย บลู โซนส์’ อย่างโอกินาวา ประชากรหมู่เกาะโอกินาวามีช่วงอายุขัยเฉลี่ย 65 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุขัยเฉลี่ยยืนยาวที่สุดในญี่ปุ่น เมนูอาหารส่วนใหญ่ของชาวโอกินาวามีส่วนประกอบของมะระ มันหวาน ถั่ว ผัก เต้าหู้และถั่วเน่า เป็นอาหารที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูงแต่แคลอรี่ต่ำ นอกจากนี้ ชาวโอกินาวายังให้ความสำคัญกับเพื่อน มีแนวคิดจับกลุ่มเพื่อน 5 คน เป็นเพื่อนร่วมสาบานเรียกว่า “โมอาย” เป็นสัญญาใจว่าจะคอยเกื้อหนุนกันไปตลอดชีวิต
ถึงตรงนี้หลายคนอาจไม่ได้หวังถึงการมีชีวิตที่ยืนยาว แต่การใช้ชีวิตโดยปราศจากโรคภัยไข้เจ็บน่าจะเป็นสิ่งที่ไม่อยากปฏิเสธ แม้ไม่สามารถควบคุมปัจจัยภายนอกอย่างสภาพอากาศและมลภาวะต่างๆ ได้ แต่สิ่งที่ควบคุมได้ คือ พฤติกรรมและทัศนคติในการใช้ชีวิตที่เริ่มจากตัวเราเอง