'เกณฑ์ทหาร' คืออะไร ข้อกำหนด และข้อยกเว้น การคัดเลือก 'ทหาร' มีอะไรบ้าง

'เกณฑ์ทหาร' คืออะไร ข้อกำหนด และข้อยกเว้น การคัดเลือก 'ทหาร' มีอะไรบ้าง

"เกณฑ์ทหาร" เป็นหน้าที่ของชายไทยที่ต้องผ่าน "การตรวจเลือกทหาร" เมื่อได้รับจดหมาย หรือหมายเรียกไปที่บ้าน มีอะไรที่เราต้องรู้บ้าง เพื่อจะสมัครคัดเลือก หรือรับการผ่อนผัน

ตามกฎหมาย พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 กำหนดให้ชายไทยต้องเข้ารับราชการทหารทุกคน ปกติการเกณฑ์ทหารจะกระทำกันในช่วงเดือน เมษายน ของทุกปี ปีละครั้ง ซึ่งการเกณฑ์ทหาร 63 นี้ถูกเลื่อนมาในวันที่ 23 กรกฎาคม - 9 สิงหาคม 63 เนื่องจากติดสถานการณ์โควิด-19 และต้องเข้ารับราชการเป็นทหารเกณฑ์จำนวน 2 ปี

แต่มีข้อยกเว้น และผ่อนผันสำหรับผู้ที่เรียนวิชารักษาดินแดน (ร.ด.) หรือผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับต่างๆ ซึ่งกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร และกฎกระทรวง ซึ่งสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์กระทรวงกลาโหม

ขั้นตอนเกี่ยวกับการรับราชการทหาร

1. การขึ้นทะเบียนทหาร ชายไทยอายุ 17 ปีบริบูรณ์ (ย่าง 18 ปี) จะต้องแสดงตนขึ้นทะเบียนทหารภายในปี พ.ศ. นั้น
2. การรับหมายเรียก (การรับหมายเกณฑ์) ทหารกองเกินทุกคนเมื่อมีอายุย่างเข้า 21 ปี (20 ปีบริบูรณ์) ใน พ.ศ.ใดต้องไปแสดงตน เพื่อรับหมายเรียกที่อำเภอท้องที่ที่เป็นภูมิลำเนาทหารของตน ภายใน พ.ศ.นั้น
3. การเข้ารับการตรวจเลือก (การเข้าเกณฑ์ทหาร) ทหารกองเกินเมื่อได้รับหมายเรียกแล้วจะต้องไปเกณฑ์ทหารตามวัน เวลาและสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมายเรียก
4. การเข้ารับการเรียกพลของทหารกองหนุน ทหารที่ปลดจากกองประจำการโดยรับราชการในกองประจำการจนครบตามที่กฎหมายกำหนด หรือทหารกองเกินซึ่งสำเร็จการฝึกวิชาทหารตามกฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร และได้ขึ้นทะเบียนกองประจำการแล้วปลดเป็นทหารกองหนุน เมื่อมีหมายเรียกพล (เพื่อตรวจสอบ เพื่อฝึกวิชาทหาร หรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อม) จะต้องไปรายงานตัวเพื่อเข้ารับการฝึก หรือทบทวนวิชาทหารให้มีความรู้ความสามารถพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ทบ.แจงเริ่ม 'เกณฑ์ทหาร' วันแรก ดีเดย์ 23 ก.ค.63 ย้ำเข้มมาตรการป้องกัน COVID-19

159559026728

ขั้นตอนการเกณฑ์ทหาร

หนังสือหมายเรียก สด. 35 จะระบุวัน และเวลาจัดการคัดเลือกเกณฑ์ทหารไว้ สำหรับผู้ที่ได้รับหนังสือเรียกในปี พ.ศ. นั้นมีหน้าที่จะต้องเดินทางไปสถานที่ที่กำหนด และปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้

1. เดินทางไปยังสถานที่ตรวจเลือกทหารกองเกิน ในเวลา 07.00 น.
2. ประธานตรวจคัดเลือก จะชี้แจงรายละเอียดที่จำเป็นเกี่ยวกับการตรวจเลือกทหาร
3. สัสดีจะชี้แจงขั้นตอน รวมถึงสิทธิต่างๆ ของผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นทหารกองประจำการ
4. กรรมการเรียกชื่อเข้ารับการตรวจเลือก
5. แพทย์ตรวจร่างกาย
6. หากได้รับการคัดเลือก ด้วยการจับได้ใบแดง หรือสมัครเป็นทหารเอง สัสดีจะส่งตัวต่อให้นายอำเภอ หรือผู้อำนวยการเขต หรือปลัดอำเภอ ออกหมายนัดรับราชการทหารตามผลัดที่จับสลากได้

ข้อยกเว้นการเกณฑ์ทหาร

บุคคลที่ได้รับการยกเว้น มีรายละเอียดดังนี้

  • บุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรับราชการทหารกองประจำการ
  • บุคคลที่มีร่างกายพิการ ทุพพลภาพ
  • พระภิกษุที่มีสมณศักดิ์ชั้นเปรียญ นักบวชนิกายมหายาน
  • บุคคลที่ได้รับการยกเว้น เมื่อลงบัญชีทหารกองเกินแล้วไม่เรียกมาตรวจเลือกรับราชการทหารในยามปกติ
  • สามเณร ภิกษุ นักบวชพุทธศาสนานิกายมหายาน ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ
  • นักบวชศาสนาอื่นที่ผู้ว่าราชการจังหวัดออกใบสำคัญให้ไว้
  • บุคคลที่ผ่านการเรียนนักศึกษาวิชาทหาร (เรียน รด.) ครบตามหลักสูตรที่กำหนด
  • นักเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร กระทรวงกลาโหม
  • ครู ในความควบคุมของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดออกใบสำคัญไว้ให้
  • นักศึกษาของศูนย์กลางอบรมการศึกษาผู้ใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการ
  • นักศึกษาของศูนย์ฝึกการบินพลเรือนของกระทรวงคมนาคม

159559033260

การขอผ่อนผันเกณฑ์ทหาร

กรณียังอยู่ระหว่างศึกษาสามารถดำเนินการขอผ่อนผันตามจำนวนปีที่ศึกษาจนกว่าจะจบการศึกษา โดยใช้เอกสารยื่นต่อสัสดีตามภูมิลำเนา ดังนี้

  • สด. 9 และ สด. 35
  • หนังสือรับรองการศึกษา หากเป็นภาษาต่างประเทศต้องขอฉบับแปลเป็นภาษาไทย
  • หากศึกษาอยู่ต่างประเทศ ต้องขอหนังสือรับรองของสถานทูต หรือ สถานกงสุลไทยในประเทศที่กำลังศึกษาอยู่

กรณีติดราชการ

แบ่งออกเป็น

  • ผู้ที่เดินทางไปปฏิบัติราชการต่างประเทศ ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาแบบปัจจุบันทันด่วน
  • ข้าราชการ หรือผู้ที่ปฏิบัติงานในสถานที่ราชการ ระหว่างที่มีสงคราม ในการดูแลควบคุมของกระทรวงกลาโหม
  • บุคคลที่กำลังปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยทหารในราชการสนาม

159559036154

กรณีเจ็บป่วย หรือเหตุสุดวิสัย

ต้องให้บุคคลที่บรรลุนิติภาวะ ดำเนินการแจ้งกับสัสดี หรือคณะกรรมการคัดเลือกในวันคัดเลือกเกณฑ์ทหาร หากไม่ยื่นแจ้ง ถือว่ามีความผิด

โทษของการไม่มาเกณฑ์ทหาร

ผู้ที่ไม่ผ่านขั้นตอนการเกณฑ์ทหาร หรือขอผ่อนผันในครบตามขั้นตอน นอกจากจะมีผลต่อการสมัครงานในอนาคตแล้ว ยังได้รับโทษปรับและจำคุกได้อีก มีตั้งแต่โทษที่เกี่ยวข้องกับการทำเอกสารที่เจ้าหน้าที่ออกให้ชำรุดเสียหาย จนถึงโทษที่เกี่ยวข้องกับการไม่มารายงานตัว อายุความของโทษหนีทหาร มีอายุความ 10 ปี