ทำไม 'ละครอิงประวัติศาสตร์' ถึงใช้ฉากกรุงเก่าเดินเรื่อง

ทำไม 'ละครอิงประวัติศาสตร์' ถึงใช้ฉากกรุงเก่าเดินเรื่อง

สิ่งเหลือเชื่อที่คนให้ความสนใจค้นหาความจริง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยคนที่สนใจเรื่องราว ประเภทนี้ ถูกเรียกว่า “คนสายมู” 

ไสยศาสตร์ มนต์ดำ ความลึกลับ คาถา อาคม เรื่องเร้นลับชวนให้ค้นหา สิ่งเหลือเชื่อเหล่านี้มนุษย์ต่างให้ความสนใจ ค้นหาความจริงกันตลอดเวลา จากอดีตจวบถึงทุกวันนี้ ผู้ใดที่สนใจเรื่องราว สาระประเภทนี้มักถูกเรียกว่า “คนสายมู” หรือเรียกเต็มๆว่า “พวกมูเตลู” คำนี้มาจากภาพยนต์เรื่องหนึ่งของประเทศอินโดนีเซียที่มีชื่อภาษาไทยว่า “มูเตลู ศึกไสยศาสตร์” ดำเนินเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงสองคนใช้ไสยศาสตร์ มนต์ดำ ต่อสู้กันเพื่อให้ได้ผู้ชายคนเดียวกันมาครอบครอง 

มูเตลู จึงเป็นที่รู้จักกันในแวดวงคนทำงานด้านความเชื่อเหล่านี้เรื่อยมา

สื่อจำนวนไม่น้อยรู้ว่าผู้ชมสนใจเรื่องราว สาระแบบไหนก็พยายามใช้สิ่งที่ผู้ชมชื่นชอบ สร้างความบันเทิงในลักษณะมูขึ้นมาเป็นจำนวนไม่น้อย ด้วยรูปแบบ นิยาย นวนิยาย เรื่องสั้น ข่าว สกู๊ป ละคร ภาพยนตร์ จวบกระทั่งถึงเรียลลิตี้บางรายการที่นำเสนอเรื่องราวที่อิงความลี้ลับ ชวนขนหัวลุก ผ่านสถานการณ์จริง ลงพื้นที่จริงเพื่อ “พิสูจน์ความมู”โดยมีแฟนคลับจำนวนมากมายรอติดตามชม

เพื่อทำให้ความมู น่าเชื่อถือ เรื่องราวต่างๆ จึงถูกถ่ายทอดโดยคน เชื่อมไปถึงสถานที่ต่างๆ และยิ่งเป็นสถานที่ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องเล่ามากมาย สถานที่ยิ่งเก่าแก่ โบร่ำโบราณจะยิ่งสร้างความน่าสนใจ น่าเชื่อถือให้เรื่องเล่ามีความ มู เพิ่มขึ้น

จากปรากฏการณ์ทางสังคม ส่งผลให้สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดกิจกรรมศิลป์สโมสรเสวนา ในประเด็น “อยุธยาที่ไม่มู” ขึ้น เพื่อสร้างความกระจ่างให้เกิดขึ้นต่อการรับรู้สาระความบันเทิงที่เน้นความสนใจของผู้คนเป็นประเด็นหลัก

159645195166

ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ นักโบราณคดีอาวุโส กล่าวว่า อยุธยามีความเก่าแก่ถึง 417 ปี มีประวัติศาสตร์ยาวนานมีเรื่องเล่ามากมาย อยุธยามีความน่าสนใจ เพราะสร้างขึ้นมาด้วยเลือดเนื้อของผู้คนจำนวนมากกว่าจะเป็นรัตนโกสินทร์เฉกเช่นทุกวันนี้ กษัตริย์ผู้นำต้องทำสงครามเพื่อให้อยุธยาเป็นปึกแผ่น ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก คนทั่วไปเมื่อเห็นซากปรักหักพังของเมืองชั้นนอก ชั้นในวัดวาอาม มักโยงไปถึงเรื่องผี ไสยศาสตร์ คาถา เวทย์มนต์ ยิ่งสื่อบางสื่อนำเสนอวิธีคิดแบบนี้เราจะเห็นแต่ความ “มู” ของอยุธยา แต่งานเสวนา“อยุธยาที่ไม่มู” ต้องการนำเสนอเพื่อบอกว่า อยุธยาไม่ได้มีแค่เรื่อง ผี วิญญาณ สิ่งลี้ลับ ไสยศาสตร์ เหนือจริง และไม่ควรนำเรื่องเหล่านั้นมาเป็นส่วนสำคัญหลักในการใช้วิเคราะห์อยุธยา

เขามีโอกาสทำงานด้านการขุดโบราณสถานในหมู่บ้านโปรตุเกส เมื่อปี 2525 ช่วงเวลานั้นมีพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี รัฐบาลโปรตุเกสให้งบประมาณสนับสนุนฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ สิ่งที่นักโบราณคดีต้องทำคือ หาข้อมูลจากชาวบ้านซึ่งต้องฟังชาวบ้านให้มาก ศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ หลักฐานทางกายภาพ ผีอยุธยาถูกขุดพบเป็นจำนวนมาก200 ศพ ความเป็นนักโบราณคดีไม่ใช่แค่ขุดเจอโครงกระดูกแล้วจบลงแค่นั้น แต่เราต้องสืบค้นหาหลักฐานให้ได้ว่าพวกเขาตายด้วยสาเหตุอะไร

“ประวัติศาสตร์อยุธยามีเรื่องผีๆ ผู้คนไม่ได้ตายด้วยสงคราม แต่ตายจากโรคระบาดด้วยการป่วยเป็นไข้ทรพิษหรือฝีดาษ ฝังกันแบบทับๆ แล้วใช้ปูนขาวโรยแล้วเอาศพลงไปอีกเพราะมีศพเป็นจำนวนมาก เมื่อขุดจะเห็นปูนขาว นอกจากนี้ยังพบคนที่ตายด้วยโรคหนองใน ตายด้วยการถูกฆาตกรรม จวบกระทั่งถึงการฆ่าตัวเองตายหรืออัตวิบากกรรม”

ผู้คนส่วนใหญ่อยากรู้อยากเห็นเรื่องผี วิญญาณกันอยู่แล้ว เมื่อมีข่าวว่า อาจารย์ปฏิพัฒน์ และทีมงานนักโบราณคดีขุดพบโครงกระดูกที่หมู่บ้านโปรตุเกส จึงมีคนแห่กันมาดูเป็นจำนวนมากทุกคนตื่นเต้นที่จะได้พบ “ผีอยุธยา” ช่วงนั้นฝนตกหนักน้ำนองในหลุมที่ขุดพบโครงกระดูก คนที่แห่มาดูตักน้ำในหลุมไปอาบไปกิน ด้วยความเชื่อ ศรัทธาและเล่าลือกันว่า “รักษาโรคได้ทุกโรค” มีคนทรงเจ้าเข้าทรงเดินทางมาเพื่อพิสูจน์ว่า คนที่ตายในหลุมตายด้วยโรคอะไร พิสูจน์ด้วยการลงไปนอนในหลุมที่ขุดค้นสักประมาณ 30 นาที จากนั้นคนทรงเจ้าคนเดิมตอบอาจารย์ปฏิพัฒน์ว่า

159645199814

(ภาพ : สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)

"ผีพวกนั้นคุยไม่รู้เรื่อง เพราะคุยกันคนละภาษา” อาจารย์ปฏิพัฒน์ยังบอกอีกว่า ทำงานสายโบราณคดีจะพบกับคนที่คิดนึกเรื่องไสยศาสตร์ ความเชื่อเข้ามาในเส้นทางการทำงานของเขาเสมอๆ ซึ่งจะเอามาเป็นสาระอะไรได้ไม่มากนัก

ราม วัชรประดิษฐ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และแฟนพันธุ์แท้พระเครื่องคนแรกของประเทศไทย บอกว่า มูคือสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ เป็นศาสตร์เร้นลับ แต่ศาสตร์ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี พุทธศิลปะจะต้องมีข้อพิสูจน์ได้ อย่างเช่น ถ้าเราจะบอกว่าพระพุทธรูปนี้ศักดิ์สิทธิ์ เราต้องอธิบายได้ว่า พระพุทธรูปอยู่ในยุคไหน กำเนิดมาจากอะไร สร้างจากมวลสารอะไร          "ผมอยากบอกกับทุกคนว่า คติ ความคิดความเชื่อ มันเป็นความรู้สึก ไม่ผิดที่จะรู้สึก เห็นนั่นเห็นนี่หรือมีสัมผัสที่ 6 แต่เมื่อเห็นแล้วจำเป็นต้องป่าวประกาศให้คนอื่นรู้รึเปล่า? ผมว่าไม่จำเป็น บางคนออกมาป่าวประกาศเรื่องพระยาเกียรติ ตายแล้วกลับชาติมาเกิดเป็นสุนัขเฝ้าวัดในอยุธยา จริงหรือไม่จริง มิอาจรู้ได้ ผมว่าไม่ควรออกมา “ป่าวประกาศ”

การเป็นสื่อต้องมีความรับผิดชอบ ยิ่งปัจจุบันเป็นสื่อโซเซียล ข้อมูลที่เราพูดหรือเผยแพร่ออกไปได้ไกลภายในพริบตา สื่อเรื่องราวได้รวดเร็วมาก ยิ่งพูดเรื่องผี สิ่งลึกลับ เรื่องน่ากลัว พิสูจน์ไม่ได้ ยิ่งทำให้คนสนใจเพราะมันสนุก ยิ่งคนที่เสพสื่อโซเซียลยิ่งเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้เร็วมาก จะนำเสนอสิ่งใดจึงต้องระมัดระวัง” นี่คือคำเตือนที่อาจารย์ฝากย้ำให้สื่อได้คิดทบทวนให้มาก

เมื่อพูดถึงความมู ผู้คนจำนวนมากจะมุ่งไปที่อยุธยา เพราะอยุธยาเป็นสถานที่ลี้ลับ ชวนติดตามค้นหา มีเรื่องเล่าให้นักเล่าได้เล่าขานในรูปแบบต่างๆ สู่ผู้ฟัง ผู้ชมอย่างในละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ที่โด่งดัง เป็นการนำเรื่องราวอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมาเล่า ผ่านนางเอกที่ภพปัจจุบันเป็นเด็กกะโปโล เรียนหนังสือในคณะโบราณคดี เมื่อกระโดดย้อนไปในยุคอยุธยา ก็สามารถดำรงชีวิตใช้สติปัญญาของตัวเองดำรงชีวิตอยู่ในอยุธยาได้อย่างดีเลิศ คนดูมีความรู้สึกร่วมเมื่อนางเอกทำได้ จึงอยากกระโดดข้ามภาพหรือกระชากพระเอกจากภพโน้นมาอยู่กับคนดูบ้าง เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “การโหยหาอดีต”เกิดขึ้นที่เรียกว่า “ Nostalgia” เกิดการตื่นตัวเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านการเสพละคร

อาจารย์ราม บอกอีกว่า ความเชื่อ คติ หรืออะไรที่เป็นเรื่องไสยศาสตร์ สิ่งเร้นลับ สามารถมองให้มีหลักฐานมาสนับสนุนได้ อย่างการไปดูผี เพื่อเชื่อมถึงวิถีความคิดของผู้คนในชุมชนนั้น บางคนพอบรรยากาศพาไป เห็นความมืด นึกเห็นภาพต่างๆ มีสัมผัสที่ 6 ขึ้นมา หากจะดูรายการที่ผู้จัดเน้นความลี้ลับ สัมผัสเหนือจริง คนดูเราต้องพิจารณา ทบทวน วิเคราะห์ สังเคราะห์สิ่งที่เขาเล่าผ่านทางรายการด้วย ดูว่ามีหลักฐานสนับสนุนสิ่งที่เขาต้องการสื่อหรือไม่ การฟังสิ่งที่ผู้จัดรายการเรื่องผีๆ หรือมิติทางความเชื่อ “คนดู” ต้องฟังต้องดูและศึกษาบริบทความคิดของคนทำรายการด้วย ถ้าต้องดู ก็ให้ดูเป็นเรื่องสนุกๆ อย่าจริงจัง เพราะผู้จัดบางรายการแค่ “อ้าปากเล่าเรื่องต่างๆ เราก็เห็นลิ้นไก่” แล้ว 

เหล่านี้ คือ เสียงสะท้อนที่คนระดับนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์มีถึงเหล่าผู้จัดรายการประเภท “มู”