หัตถกรรมไทย...ใกล้สิ้นสูญ?
ศิลปหัตถกรรมไทยคือมรดกทางวัฒนธรรมชิ้นสำคัญ วันนี้ขาดคนสานต่อรอวันสิ้นสูญ "SACICT" ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศจัดเวทีระดมความคิดครูช่างหลากหลายสาขา พร้อมจัดนิทรรศการ "หัตถกรรมชั้นครูที่ใกล้สูญหาย"
ศิลปหัตถกรรมไทย นอกจากจะแสดงเอกลักษณ์และประณีตศิลป์ในเชิงช่างแล้ว ยังเปี่ยมไปด้วยคุณค่าเหนือกาลเวลา ทว่าทุกวันนี้ หัตถศิลป์ในรูปแบบต่างๆ กำลังค่อยๆ สูญหายไป ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย การขาดผู้สืบทอดองค์ความรู้ และที่สำคัญคือ การที่สังคมไม่เห็นคุณค่า
จะทำอย่างไรให้มรดกภูมิปัญญาเหล่านี้ไม่ถูกจำกัดอยู่แค่ในพิพิธภัณฑ์หรือเรื่องเล่าความทรงจำ...ต่อไปนี้คือความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งที่รักในงานศิลป์แห่งแผ่นดิน
- ลมหายใจที่เหลืออยู่
หากถามคนทั่วไปว่า หัตถกรรมไทยมีกี่ประเภท คำตอบที่ได้มักไม่เกิน 10 ทั้งที่ความจริงแล้วมีมากกว่า 40 แขนงเลยทีเดียว น่าเศร้าใจที่การขาดความรู้ความสนใจในศิลปหัตถกรรมไทยเช่นนี้กำลังจะกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย
“หนังใหญ่เป็นการแสดงโบราณสมัยอยุธยา อาจจะเป็นต้นกำเนิดในการเล่นโขน ปัจจุบันเป็นการแสดงที่เกือบจะสูญไปแล้วเพราะไม่มีการเล่นในชีวิตประจำวัน มีแต่การเล่นเพื่อโชว์ นี่คือปัจจัยสำคัญ” วีระ มีเหมือน ครูศิลป์ของแผ่นดิน งานช่างหนังใหญ่ อายุ 77 ปี กล่าวในงานเสวนา ‘งานช่างไทยที่ใกล้สูญหาย...จะฟื้นฟู หรือรอสิ้นสูญ’ โดย ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา
"เวลาครูจะมอบให้ ลูกศิษย์ก็ต้องรักจริงๆ ถ้าเอาหนังมาแสดงสาธิต ไม่มีปี่พาทย์ ศิลปะมันก็สูญ ไม่สามารถยืนเดินด้วยตัวเองได้" ครูช่างหนังใหญ่ แสดงความกังวล ก่อนจะเล่าถึงศิลปะแขนงนี้ว่า
"หนังใหญ่มีหนังกลางวัน หนังกลางคืน มีหนังมงคล หนังอวมงคล หนังมงคลเป็นหนังกลางวันจะมีการปิดทอง แต่หนังกลางคืนจะไม่ปิดทอง วิธีการอย่างเดียวกัน ถ้าเป็นหนังงานอวมงคล จะเป็นหนังตัวเล็ก จอเล็กกว่า 8 เมตร หนังใหญ่ จอ 16 เมตร เล่นได้ทั้งสองด้าน ถ้าเป็นหนังเฝ้าใน หมายความว่าท้องพระโรงฝ่ายใน จอทำจากหนังวัวหนังควาย นิยมใช้หนังตัวเมียมีอายุ เพราะหนังจะบางแล้วสวย หนังหลวงใช้สองคนเชิด ตามฐานานุรูป ถ้าเป็นหนังวังหนังวัดก็เป็นหนังกลาง”
อีกหนึ่งงานศิลปหัตถกรรมที่เริ่มหาคนสืบทอดยากขึ้นเรื่อยๆ ‘อังกะลุง’ เครื่องดนตรีที่มาจากอินโดนีเซีย พีรศิษย์ บัวทั่ง ครูช่างศิลปหัตถกรรม งานช่างอังกะลุง วัย 76 ปี บอกว่าดั้งเดิมมีขนาดใหญ่สูงเท่าคน ใช้วางแล้วใช้มือไกวให้เกิดเสียง ในยุคแรกจะมี 5 เสียงตามแบบอินโดนีเซีย
“สมัยรัชกาลที่ 5 หัดกันเฉพาะลูกท่านหลานเธอ มาสมัยหลวงประดิษฐ์ไพเราะเอามาไว้ที่ศิลปากร คุณพ่อผมเป็นข้าราชการอยู่ที่นั่นก็เอาไปบรรเลงที่สถานีวิทยุศาลาแดง คุณพ่อบอกว่าน่าจะมี 2 Octave อังกะลุงจากชวามีแค่ Octaveเดียว ปี พ.ศ. 2499 คุณพ่อลาออกแล้วมาเหลาเองทำเอง มี 3 กระบอก ทำขนาดที่พอเขย่าไหวให้ลูกศิษย์ ตอนนั้นผมอายุ 11-12 ขวบ พี่ๆ เอาผ้าขาวม้าผูกอังกะลุงโยงกับหลังคาบ้าน คุณพ่อมาเห็นก็ใส่ตะขอเพิ่มเอาอังกะลุงไปแขวน เกิดอังกะลุงแขวนตั้งแต่สมัยนั้น พัฒนามาเป็นอังกะลุงราว จะทำกี่เสียงก็ได้ กี่ตัวก็ได้ พัฒนามาเรื่อยๆ จากแรกๆ ใช้มือกระแทก ต่อมาเปลี่ยนมาเป็นสปริง ใช้ไฟฟ้า ทำหลายรูปแบบ ให้มันทันสมัย เล่นง่าย บรรเลงง่าย แต่ไม่ค่อยมีคนซื้อ”
เมื่อไม่เป็นที่ต้องการของตลาด อีกทั้งการจะส่งต่อองค์ความรู้ก็แสนยาก อังกะลุงจึงกลายเป็นเครื่องดนตรีที่ใกล้สูญหาย
“หาคนสืบทอดยากเหมือนกันนะ เพราะว่าต้องมีหูสัมผัสกับเสียงดนตรีที่ค่อนข้างแน่ชัด ถึงแม้เราจะใช้เครื่องเทียบเสียง สารพัดแบบ เช่น เสียงโลหะ เสียงไฟฟ้า เสียงไม้ไผ่ ไม้ชิงชัง ที่เป็นระนาด แต่ก็ต้องอาศัยหูตัวเองด้วย ถ้าหูตัวเองใช้ไม่ได้ไม่เที่ยงตรง เพราะว่าเสียงของดนตรีที่มาจากไม้ไผ่ไม่ได้มาจากผืนระนาดแบนๆ อังกะลุงเป็นกระบอก เสียงจะอยู่ในกระบอก เพราะฉะนั้นหูเราต้องชัดเจน”
- สืบสานมรดกศิลป์
ปัญหาของศิลปินที่จะธำรงไว้ซึ่งผลงานนอกจากปัจจัยความต้องการทางด้านตลาดแล้ว ทรัพยากรบุคคล ดูจะเป็นทางออกที่มั่นคงมากกว่า ในการสืบทอดภูมิปัญญาเหล่านี้ให้คงอยู่
“ผมใช้เวลาว่างช่วงวันหยุดหรือวันเสาร์อาทิตย์ไปทำงานด้านศิลปวัฒนธรรม วันนี้นำมาแสดง 3 ส่วน หนึ่ง ผ้าปะลังงิง จริงๆ สูญหายไปแล้วแต่มีการรื้อฟื้นขึ้นมา สอง เป็นผ้ายกที่เคยมีเคยใช้ของคนสงขลาในอดีต ลักษณะการแต่งกายของคนอายุ 60-80 ปี สาม ผ้าไหมมัดหมี่โบราณ จากปัตตานี สงขลา เป็นผ้าจวนตานี
ส่วนผ้าผืนนี้พบที่บ้านบัวขาว บ้านมุสลิมโบราณ นำมาแกะพันธุกรรมผ้า เพื่อให้เกิดการรื้อฟื้น เป็นผ้ายกไหมลายราชวัตร สงขลา เวลาคนไปสงขลามักจะบอกว่าหาผ้าลายราชวัตร เราก็เกิดความคิดว่าแล้วมันแตกต่างจากที่อื่นยังไง ในเมื่อทาง เขมร สุรินทร์ ปัตตานี ก็ทอเหมือนกัน ก็เลยนำผ้าผืนนี้ไปวิเคราะห์หาความแตกต่าง เนื่องจากผ้าที่อื่นลายราชวัตรจะทอด้วยการเกี่ยวตะกอเพื่อให้เกิดลวดลาย แต่ว่าผืนนี้เป็นเทคนิคการทอยก ทั้งหมด 38 ตะกอ เพื่อให้เกิดลวดลาย” ปัญญา พูลสิน กล่าวถึงความสนใจเรื่องผ้าของตนเองอันนำมาซึ่งการสืบทอดมรดกหัตถศิลป์ชิ้นนี้
เช่นเดียวกับ ปกรณ์ หนูยี่ คีตศิลปินชำนาญงาน กรมศิลปากร ที่หลงใหลในเครื่องดนตรีไทย และตั้งใจที่จะสานต่อ
“ผมหลงเสน่ห์เครื่องดนตรีไทย ผมเรียนปริญญาตรี-โท-เอก ด้านดนตรี ที่บ้านเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับวัฒนธรรมดนตรี มีความสนใจพวกเครื่องดนตรีเก่า มีความรู้เชิงช่างสามารถซ่อมเครื่องดนตรีได้ด้วย เครื่องดนตรีไทย คนเล่นน้อย กลองแขกภาคใต้ ที่ขึ้นกับหวายไม่มีแล้ว กลองใบนี้ผมได้มาจากบ้านเก่าอิสลามพ่อแม่ตายหมดเลยให้ผมมาเก็บรักษาไว้เพื่อฟื้นฟู มีโทน รำมะนาประดับกระจกเหลี่ยม ส่วนกลองคู่นี้มีโลหะหลอมเป็นรูปมือจับ กลองแขกมลายู คนไทยเอาบางตัวมาใส่ในวงปี่พาทย์ ภาคกลางก็เล่นไปเรื่อยแต่ของภาคใต้ไม่มีแล้ว วงสามสายแขก ต้นฉบับวงสามสายไทยก็หายไปแล้ว มีเหลืออยู่ที่กลันตันเล็กน้อย"
นอกจากนี้เขายังพูดถึงกลองอีกหลายชนิดที่แทบจะหาชมไม่ได้อีกแล้ว เหลือเพียงของเก่าเก็บในพิพิธภัณฑ์กับองค์ความรู้ที่ต้องการการต่อยอด
- ต่อยอดภูมิปัญญาสู่อนาคต
ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ความเจริญในทุกด้านทำให้คนต้องปรับตัว สิ่งสำคัญคือจะสานต่ออดีตไปสู่อนาคตได้อย่างไร คำตอบเหมือนจะอยู่ที่ความร่วมมือระหว่างคนต่างวัยและต่างรุ่นนั่นเอง
“เราทำเรื่องหุ่นกระบอกไทยมากว่า 21 ปี มีการพัฒนาอยู่เรื่อยๆ โชคดีได้ ครูชื้น สกุลแก้ว ศิลปินแห่งชาติจับมือสอน ผมเลยถือว่าเป็นลูกศิษย์คนสุดท้ายของอาจารย์ เป็นผู้ทำด้วยแล้วเป็นผู้เชิดด้วย เราได้สร้างโรงละครเพื่อให้หุ่นกระบอกได้แสดง เรามีหุ่นทั้งหมด 300 กว่าตัว ทั้งแบบดั้งเดิมและแบบร่วมสมัย สมัยก่อนมีฉากๆ เดียว มีดนตรีไทยประกอบ เราก็ปรับให้เป็นเดอะมิวสิคัล ใช้ Mapping แอนิเมชั่น โฮโลแกรม นำเทคนิคต่างๆ เข้ามาให้คนปัจจุบันหรือเด็กๆ สมัยใหม่ดูได้ด้วย เราต้องอนุรักษ์และพัฒนาคู่กันไปครับ” นิเวส แววสมณะ ครูช่างศิลปหัตถกรรม งานช่างหุ่นกระบอกไทย กล่าวถึงการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยเพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่
หุ่นกระบอก เป็นมหรสพการการแสดงพื้นบ้านตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เดิมใช้หัวเผือกหัวมันมาแกะ ต่อมาก็ใช้ไม้ กระดาษ ไฟเบอร์กลาส เรซิ่น แต่ยังคงลงรักประดับทองคำเปลวเหมือนเดิม
“ในหุ่นกระบอกหนึ่งตัวรวบรวมความเป็นช่างหลายแขนง ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม การแกะ การปักลาย การวาดภาพ เครื่องทอง ถ้าเราเห็นโขนหนึ่งตัวประกอบด้วยอะไรบ้าง หุ่นกระบอกก็ประมาณนั้น ที่สำคัญมีเรื่องกลไกต่างๆ เพิ่มเข้ามาด้วย หุ่นกระบอกสมัยก่อนไม่สามารถเคลื่อนไหวอะไรได้ เป็นมือแปๆ ไม่สามารถจีบนิ้วได้ ปัจจุบันเราทำให้หุ่นจีบนิ้วได้ ร้องไห้ กระพริบตา ลืมตา อ้าปาก ได้
เดือนหน้าเราจะมีการแสดงหุ่นกระบอกไทยร่วมสมัยซ่อนกลิ่นเดอะมิวสิคัลพอพเพ็ทโชว์ เป็นหุ่นกระบอกผีเรื่องแรกในเมืองไทย ติดตามได้ทางเฟซบุ๊คบ้านตุ๊กกะตุ่นหุ่นกระบอกไทย มีออนแอร์ด้วยครับ” นิเวส กล่าวเชิญชวน
ในส่วนของผ้ายกไหมลายราชวัตร จ.สงขลา ตอนนี้ก็รื้อฟื้ันจนได้แบบและลวดลายที่เหมือนเดิมแล้ว
“ที่สงขลามีการทอผ้ายกแล้ว เราก็จะฟื้นฟูลายทั่วๆ ไป สัญญาว่าจะกลับมาสอนคน เวลาที่มีคนพร้อมที่จะเรียนที่จะต่อยอดบรรพบุรุษ เป็นโครงการต่อๆ ไป นอกจากเรื่องผ้าแล้วผมยังสนใจเรื่อง กริช อาวุธโบราณด้วย ผมมีเฟซบุ๊คส่วนตัว panya phoonsin ไว้พูดคุยกับคนที่สนใจ ส่วนพิพิธภัณฑ์จะทำเฉพาะเสาร์อาทิตย์หรือจองมาล่วงหน้าเท่านั้น เพราะวันธรรมดาผมทำงานครับ” ปัญญา บอกกล่าวถึงความคืบหน้าในการต่อยอดผ้าโบราณ
ขณะที่ ปกรณ์ บอกว่า ความชอบเรื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องดีดอย่าง 'จะเข้' กำลังจะเป็นรูปเป็นร่างจับต้องได้ในเร็วๆ นี้
“ที่บ้านผมมีเครื่องดนตรีเป็นพันชิ้น ที่เยอะมากๆ เป็นจะเข้ มีเกือบร้อยตัว กำลังจะทำหนังสือครอบคลุมองค์ความรู้ของจะเข้ทั้งหมด จะเข้ในประเทศไทยทั้งหมดมีกี่รูปแบบมีกี่ทรง จะเข้ยุคแรกชาวบ้านสร้าง ต่างคนต่างทำ ก็เลยไม่เหมือนกัน พอมายุคที่พัฒนาโดยผู้มีอำนาจ เช่น กษัตริย์ ราชวงศ์ต่างๆ จะเข้เริ่มเป็นแพทเทิร์น พอเข้ายุคสามยุคอุตสาหกรรม เอาจะเข้ที่มีแพทเทิร์นมาผลิตซ้ำ ผมหลงเสน่ห์จะเข้ก็เลยเก็บ เราสามารถบอกเล่าเรื่องราว เรามีเครือข่าย ใครเจอเครื่องดนตรีส่งมาที่ผม ผมเจอภาพถ่ายก็ส่งไปให้ มีเพจดุริยปกรณ์ เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ของที่ผมได้อะไรมาก็ทยอยลง”
ในส่วนของผู้จัดงาน พรพล เอกอรรถพล ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวถึงแนวทางในการสืบสานงานหัตถกรรมไทยให้คงอยู่ต่อไป นอกจากจะต้องทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจและเห็นคุณค่าของงานที่ใกล้จะสูญหายเหล่านี้แล้ว ยังต้องส่งเสริมสนับสนุนให้งานหัตถกรรมเหล่านี้สร้างรายได้อย่างแท้จริง
"เพราะถ้าคนรุ่นใหม่จะมาทำงานหัตถกรรมแล้วรู้สึกว่ารายได้น้อย มันก็จะเดินหน้าต่อไปไม่ได้"
สำหรับผู้สนใจนอกจากเวทีเสวนาดังกล่าว ยังมีการจัดแสดงมรดกหัตถศิลป์ล้ำค่าในนิทรรศการ ‘หัตถกรรมชั้นครูที่ใกล้สูญหาย’ โดยมีชิ้นงานสำคัญ ได้แก่ ตู้พระธรรมอายุ 230 ปี สมัยรัชกาลที่ 1 สมบัติของวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์, กริชโบราณอายุ 200 ปี, ผ้าอายุ 130-150 ปี, งานหัตถกรรมสมัยสุโขทัย อยุธยา กว่า 700 ปี ล้วนแล้วแต่เป็นมรดกล้ำค่าหาชมได้ยากท้้งสิ้น
"เรารวบรวมมาให้ชม โอกาสที่จะมีใครจัดงานแบบนี้มีน้อยมาก อยากให้คนไทยได้มาเห็นคุณค่า มางานนี้งานเดียวได้เห็นผลงานชั้นครูที่ใกล้สูญหาย 300-400 ชิ้นโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย อนาคตข้างหน้าเราอาจจะไม่ได้เห็นก็ได้ ถ้าเราไม่สามารถสร้างคุณค่าต่อเนื่องได้" (นิทรรศการจัดแสดงตั้งแต่วันนี้- 20 ก.ย.63 ณ ห้องแพรวา ชั้น 2 ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ บางไทร)
ศิลปหัตกรรมไทยมีความสวยงามทรงคุณค่า หากได้รับการสืบทอดและปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย ย่อมสามารถต่อลมหายใจไปได้อีกยาวนาน